โยธาสั่งยกเครื่องใหม่ผังเมืองรวม 9 จังหวัดรวด รับการขยายตัวของเมือง-ศก.ภูมิภาค (5 ม.ค. 56)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 5 มกราคม 2556 
โยธาสั่งยกเครื่องใหม่ผังเมืองรวม 9 จังหวัดรวด รับการขยายตัวของเมือง-ศก.ภูมิภาค

กรมโยธาฯรื้อผังเมืองใหม่ 9 จังหวัดรวด "กาฬสินธุ์-ชลบุรี-ชัยนาท-ตาก-ปัตตานี-ศรีสะเกษ-สงขลา-สตูล-สุราษฎร์ธานี" หลังท้องถิ่นขอทบทวนใหม่ ให้รับกับการขยายตัวของเมือง และการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค เตรียมความพร้อมรองรับเปิดเออีซีในปี"58

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นโยบายกระทรวงมหาดไทยให้กรมเร่งรัดจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดครอบคลุมทั่ว ประเทศให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันมี 8 จังหวัดที่ประกาศเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้แล้วเมื่อปี 2555 ได้แก่ ผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต สิงห์บุรี สระบุรี เชียงใหม่ นครนายก ยโสธร ปราจีนบุรี และราชบุรี ส่วนที่เหลือจะทยอยประกาศบังคับใช้ต่อไป

รื้อใหม่ผังเมืองรวม 9 จังหวัด

"มี 9 จังหวัดที่ขอทบทวนเพราะร่างผังเมืองรวมที่ยกร่างไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ปัจจุบัน หากมีผลบังคับใช้จะทำให้กฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 บังคับใช้ทันทีจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ได้ จึงขอถอนมาปรับปรุงใหม่ ซึ่งที่ประชุมบอร์ดผังเมืองใหญ่ได้อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา"

โดย 9 จังหวัดที่ขอทบทวน ได้แก่ 1.ผังเมืองรวมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เอื้ออำนวยต่อภาคอุตสาหกรรม และยังขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนเอกชน ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (east-west corridor) จึงขอเพิ่มพื้นที่ที่สามารถประกอบกิจการด้านโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรและโรง ไฟฟ้าชีวมวล เพื่อส่งเสริมรายได้ประชาชนในพื้นที่ พร้อมให้มีการจัดสรรที่ดินในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เว้นแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะสร้างที่อยู่อาศัย เช่น เป็นทางน้ำไหลผ่าน หรือพื้นที่เสี่ยงภัยจะเกิดน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม รวมถึงให้สร้างอาคารสูงเกิน 12 เมตรได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ชุมชนมากขึ้น

ชลบุรีขีดพื้นที่รับน้ำเพิ่ม

2.ผังเมืองรวมจังหวัดชลบุรี ให้เพิ่มมาตรการด้านผังเมืองในการรักษาสภาพแวดล้อมและป้องกันปัญหาอุทกภัย เช่น กำหนดให้มีพื้นที่โล่ง แหล่งน้ำ แนวน้ำท่วมหลากเพื่อรองรับการจ้างงานและที่อยู่อาศัยจากการย้ายฐานของผู้ ประกอบการหรือประชาชนตลอดจนแรงงานเข้ามาในจังหวัดมากขึ้น หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ทำให้ชลบุรีในอนาคตเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

นอกจาก นี้ ขอให้การวางผังการใช้ที่ดินให้สอดคล้องและเหมาะสมกับศักยภาพของชุมชนที่ยก ระดับเป็นเทศบาล จะมีการพัฒนาเป็นเมืองค่อนข้างสูง และให้เพิ่มพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง อ.เกาะจันทร์ ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ 99 ลูกบาศก์เมตร เป็นพื้นที่รับน้ำไว้ในผังด้วย

ชัยนาท-ตากร่วมแจม

3.ผัง เมืองรวมจังหวัดชัยนาท ให้เหตุผลว่าปัจจุบันมีการสร้างที่พักอาศัยและชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะ "อ.หนองมะโมง-เนินขาม" แต่ในร่างผังเมืองรวมยังกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน จึงขอให้สร้างที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น อีกทั้งให้เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้าจากเดิมที่กำหนดไว้น้อยมาก

4.ผัง เมืองรวมจังหวัดตาก ขอยกร่างข้อกำหนดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคต ในด้านตะวันตกของจังหวัดที่มีกิจกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการค้า ชายแดนในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด

อีกทั้งเป็นที่ตั้งศูนย์การบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด 5,600 ไร่ ใน ต.แม่ปะ และท่าสายลวดที่เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน และเสนอให้ อ.แม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ รวมถึงนโยบายระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออกและตะวันตก ซึ่งจะเชื่อมกับเมืองเมียวดีของประเทศเมียนมาร์ และเป็นประตูการค้าด้านตะวันตกเชื่อมโยงอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา รวมทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ด้วย

ศรีสะเกษผุดเมืองใหม่

5.ผังเมืองรวมจังหวัด ปัตตานี ขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เนื่องจากในร่างผังเมืองรวมยังกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) เช่น อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ ขอให้พัฒนาได้มากขึ้นจากเดิม

6.ผังเมืองรวมจังหวัดศรีสะเกษ ในร่างผังเมืองรวมที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ไม่ได้เตรียมพื้นที่รองรับโครงการเมืองใหม่ช่องสะงำ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนที่รองรับการค้ากับประชาคมอาเซียนตามยุทธศาสตร์การค้า ของจังหวัด รวมถึงพื้นที่สำหรับโรงงานแปรรูปยางเพื่อผลิตย่างแท่ง STR 20 ใน อ.ขุนหาญ

ยกเครื่องสงขลา-สตูลใหม่

7.ผังเมืองรวม จังหวัดสงขลา หลังปัญหาเกิดอุทกภัยซ้ำซากและรุนแรงขึ้นเป็นประจำทุกปี ประกอบกับจังหวัดมีการพัฒนาเมืองที่รวดเร็วมากเพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดน รองรับเออีซี แต่ในร่างผังเมืองรวมไม่ได้มีการรองรับปัญหาดังกล่าว จึงขอให้เพิ่มมาตรการวางผังเมือง เช่น กำหนดเขตการสร้างที่อยู่อาศัยไม่กีดขวางทางน้ำไหล แนวป้องกันน้ำท่วม กำหนดเขตที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้น

8.ผังเมืองรวมจังหวัดสตูล จะขอให้พิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่เพื่อรองรับเออีซี รวมถึงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย หรือสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สนามบินเชิงพาณิชย์จังหวัดสตูล อีกทั้งให้กำหนดเขตพื้นที่ป่าหนองปลักพระยาและเขาพระยาบังสา เป็นพื้นที่ห้ามล่าสัตว์หรือพื้นที่
สีขาวลายเขียว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้)

สุราษฎร์ฯบ้านจัดสรรผุดเพียบ

9.ผัง เมืองรวมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันพื้นที่เปลี่ยนไปมากทางจังหวัดจึงขอปรับปรุงร่างผังเมือง เช่น มีการสร้างถนนใหม่หลายสายแต่ในร่างผังเมืองไม่มีกำหนดไว้ มีการเตรียมก่อสร้างสนามบินที่ อ.ดอนสัก และเกาะพะงัน มีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า โชว์รูมรถยนต์ มหาวิทยาลัย และบ้านจัดสรรหลายแห่ง โดยเฉพาะแนวถนนสาย 417

แหล่งข่าวกล่าวว่า บอร์ดอนุมัติแล้วขั้นตอนต่อไปจะรวมเหตุผลความจำเป็นที่จะขอถอนร่างเพื่อนำมา ปรับปรุงใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาอีกพอสมควรอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป