ล้มสัญญา "ทวาย" พม่าเสนอตั้ง บ.ร่วมทุนใหม่ ถือสัญญาแทน "อิตาเลียนไทย" (4 ม.ค. 56)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 มกราคม 2556
ล้มสัญญา "ทวาย" พม่าเสนอตั้ง บ.ร่วมทุนใหม่ ถือสัญญาแทน "อิตาเลียนไทย"
พม่ารื้อสัญญาทวาย เสนอตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ถือสัญญาแทน "อิตาเลียนไทย" เพราะทำงานช้า-มีปัญหาระดมทุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาร์ต้องการปรับเปลี่ยน Framework Agree ment โครงการพัฒนานิคมอุตสาห กรรมและท่าเรือน้ำลึก โดยเปลี่ยนคู่สัญญาจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นบริษัทโฮลดิงคอมพานีใหม่
“เวลานี้พม่าเขาอยากให้เขียน Framework หรือข้อตกลงใหม่ ที่เดิมเขาทำกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เขาอยากแก้ตรงนั้น เพื่อหาตัวผู้ลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือโฮลดิงคอมพานี เพราะเขาเห็นว่าอิตาเลียนไทยฯ ทำงานช้า เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนได้ เขาก็อยากแก้ไขสัญญาตรงนี้ และเป็นที่สิทธิรัฐบาลพม่าทำได้”
ก่อนหน้านี้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ร่วมลงนาม Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า
นายอาคม ระบุว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ถือสัญญาแทนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทนี้ แต่ให้เป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไทยและเอกชน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สร้างกลไกที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น
นายอาคม กล่าวว่า เพื่อให้โครงการทวายเป็นไปได้ และจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาสร้างโรงงานในนิคมและใช้ท่าเรือ รัฐบาลเมียนมาร์ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือน้ำลึก และมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมระหว่างชายแดนไทยไปยังนิคมอุตสาหกรรมทวาย หากให้เอกชนลงทุนและเก็บค่าบริการเอง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก เอกชนก็จะไม่มาใช้บริการ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสาขาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระยะเริ่มต้นของทวาย คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตประเทศเมียนมาร์ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งเมียนมาร์จะลงทุนประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท ส่วนอิตาเลียนไทยฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าต้องหานักลงทุนมาช่วย
ส่วนรูปแบบการลงทุนกำหนดไว้ 2 รูปแบบที่เป็นไปได้ คือ 1.ตั้งโฮลดิงถือหุ้นในบริษัทย่อยด้านถนน ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีข้อดีเพราะจะนำรายได้จากบริษัทย่อยที่มีกำไรมาสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีกำไร และ 2.ตั้งบริษัทแยกดำเนินการในแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จโดยเร็ว