ชี้ตะกั่วในสีทาบ้านอันตราย พบเด็กเล็กกว่า 50% เสี่ยง (15 ต.ค. 55)
มูลนิธิบูรณะนิเวศ 15 ตุลาคม 2555
ชี้ตะกั่วในสีทาบ้านอันตราย พบเด็กเล็กกว่า 50% เสี่ยง เสนอมาตรฐานบังคับ ผู้ผลิตไม่ค้านแต่รัฐควรคุมนำเข้า
แพทย์ วิศวกร องค์กรสิ่งแวดล้อม-ผู้บริโภค ชี้อันตรายจากสีทาบ้าน เผยกว่า 47% ที่ยังวางขายมีตะกั่วสูงกว่ามาตรฐาน พบเด็กเล็กกว่า 50% เสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่ว เสนอให้มีมาตรฐานเชิงบังคับ ด้านนายกสมาคมผู้ผลิตสียืนยันไม่คัดค้าน แต่ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมการนำเข้าก่อนการห้ามผู้ผลิตในประเทศ
15 ตุลาคม 2555 (กรุงเทพฯ) – เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “ตะกั่วในสีทาอาคาร: ภัยที่ป้องกันได้” ขึ้น ณ ห้องประชุมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน รวมถึงสมาคมผู้ผลิตสีแห่งประเทศไทย
โดยในเวทีดังกล่าว รศ. นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดเผยถึงผลการวิจัยโดยคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี 2553 ซึ่งตรวจพบว่า เด็กมากกว่าร้อยละ 50 ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร เสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่ว โดยแหล่งกำเนิดที่พบมากที่สุดคือสีทาอาคารที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว
"เด็กที่อยู่ในอาคารที่ทาสีน้ำมันควรถูกตรวจคัดกรองเลือดทุกคน เพราะความเสี่ยง 50 เปอร์เซ็นต์นั้นหมายความว่าไม่ต้องรอแล้ว ถ้าบ้าน โรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็กของคุณทาสีน้ำมัน และถ้าอยู่เป็นเวลานาน เจาะเลือดได้เลย มิฉะนั้นเด็กที่ได้รับสารตะกั่วจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที" รศ. นพ. อดิศักดิ์ กล่าวก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เด็กเล็กคือกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดต่ออันตรายของสารตะกั่วจากสีทาบ้าน เนื่องจากสมองเด็กเล็กอ่อนไหวต่อผลกระทบจากสารตะกั่ว และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่วเป็นหนึ่งในโรคจากสภาพแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในโลก และระบุว่าไม่มีปริมาณการได้รับสารตะกั่ว ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
จากนั้นเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานบังคับปริมาณสารตะกั่วที่ใช้ผสมในสีทาอาคาร จึงยังมีสีปนเปื้อนสารตะกั่ววางจำหน่ายอยู่อย่างแพร่หลาย
"ผลการสุ่มตัวอย่างโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศเมื่อปี 2552 พบสีน้ำมันร้อยละ 47 ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานของไทย (600 ppm) มาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทยในเวลานี้เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ดังนั้นจึงทำให้ผลการสำรวจของทางมูลนิธิพบว่ายังมีสีทาอาคารอีกหลายยี่ห้อที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนในระดับสูง โดยมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในตลาดระดับกลางและระดับล่าง
นอกจากสีที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ยังมีสีปนเปื้อนสารตะกั่วที่ติดอยู่บนพื้นผิวอาคาร ซึ่งยังคงเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย ช่างก่อสร้าง และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมรอบอาคาร เนื่องจากตะกั่วเป็นสารพิษที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม"
ด้านชาญณรงค์ ไวยพจน์ ประธานอนุกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
"นอกจากผู้ผลิตสีจะต้องผลิตสีที่มีคุณภาพแล้ว ต้องให้ความรู้เรื่องการเก็บสีล้างสีเก่าของช่าง เพราะถ้าล้างไม่ดี ตะกั่วจะฟุ้งกระจายสู่สิ่งแวดล้อม"
ขณะที่สุทธิยา จันทวรางกูร ตัวแทนคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่ามีความยินดีที่ในประเทศไทยเริ่มมีการขับเคลื่อนให้เพิกถอนสารตะกั่วจากสีทาอาคาร และยินดีสนับสนุน
"ตะกั่วเป็นสารเคมีเป็นพิษที่หากใช้อย่างแพร่หลายจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ โดยเฉพาะเด็ก และยังเกิดผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม เราสนับสนุนพฤติกรรมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน" ตัวแทนคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ กล่าว ก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ล่าสุด คณะผู้แทนสหภาพยุโรปสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศเอเชียเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วในสีทาอาคารที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีสำนักงานประสานงานและบริหารอยู่ที่สวีเดนและสหรัฐอเมริกา โดยร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อการจัดการสารพิษที่ตกค้างยาวนาน (International POPs Elimination Network: IPEN) ภายใต้งบสนับสนุนทั้งหมดใน 9 ประเทศเป็นจำนวน 1.4 ล้านยูโร มีระยะเวลาดำเนินงานรวม 3 ปี
ด้านนายกสมาคมผู้ผลิตสี เพชรรัตน์ เอกแสงกุล ได้กล่าวยืนยันว่า "สมาชิกของสมาคมฯ ไม่คัดค้านการเลิกใช้สารเคมีที่มีตะกั่วผสมในสีทาบ้าน แต่ภาครัฐควรจะมีมาตรการป้องกันการนำเข้าสีที่มีสารตะกั่วอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนการห้ามผู้ผลิตในประเทศ"