ดีเอสไอสอบภูเขาขยะอยุธยา (16 ต.ค. 55)

โพสต์ทูเดย์ 16 ตุลาคม 2555
ดีเอสไอสอบภูเขาขยะอยุธยา

ดีเอสไอตรวจภูเขาขยะอยุธยาสูงกว่า 20 เมตรหลังชาวบ้านร้องเรียนหวั่นก่อมลพิษ นายกเทศมนตรีรับมีปัฐหางบจัดการขยะไม่พอ

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.พงษ์อินทร์  อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงสำรวจพื้นที่บ่อขยะขนาด 32 ไร่ในต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้บริหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ ได้แก่ อบต.บ้านป้อม  รับผิดชอบพื้นที่  และเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นเจ้าของและดำเนินการจัดการบ่อขยะ ร่วมชี้แจง

ทั้งนี้บ่อขยะได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2531 ปัจจุบันขยะเต็มพื้นที่ 32 ไร่ จำนวนกว่า 300,000 ตัน และมีการกองทับถมสูงคล้ายภูเขาสูงกว่า 20 เมตร

พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านต.บ้านป้อม ว่ามีกองขยะขนาดใหญ่และเกรงว่าจะเกิดมลพิษสะสม โดยชาวบ้านต้องการให้มีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบที่ปลอดภัย ทางดีเอสไอ เมื่อได้รับการร้องเรียนจึงประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลเรื่องนี้เข้าตรวจสอบ โดยลงพื้นที่ร่วมกันชาวบ้านเพื่อหาทางแก้ไข

นายท้วง สุวรรณชัยรัตน์ อดีตข้าราชการครูและเป็นแกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า สภาพเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันมีชุมชนล้อมบ่อขยะในหลายตำบล และขยะทำให้เกิดมลพิษ 3 ด้าน คือ กลิ่น  น้ำเสีย และแหล่งเพาะเชื้อโรคโดยเฉพาะแมลงวัน  ชาวบ้านอยากให้มีการฝังกลบและปิดบ่อขยะหยุดดำเนินการ เพราะปัจจุบันมีขยะจากทั่วจังหวัดมาทิ้งที่บ่อแห่งนี้ จนไม่มีสภาพเป็นบ่อฝังกลบแต่มีสภาพเป็นภูเขาขยะมากกว่า  ที่ออกมาเรียกร้อง โดยปัญหาเฉพาะหน้าต้องการให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อความปลอดภัย และสูงสุดในอนาคตคือการปิดบ่อขยะถาวร เพราะชาวบ้านไม่สามารถทนแบกปัญหาขยะแทนคนทั้งจังหวัดได้อีกต่อไป

ด้านว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขยะส่วนใหญ่มาจากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และท้องถิ่นอื่นอีก 20 แห่ง ประมาณ 100 ตัน/วัน ในแต่ละปีมีขยะประมาณ 40,000 ตัน แต่ปี 2554 น้ำท่วมเมืองทำให้มีขยะจากน้ำท่วม 100,000 ตันเข้ามาเพิ่ม ต้องยอมรับว่าในพ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่มีบ่อขยะที่ใหญ่หรือเพียงพอต่อจำนวนขยะที่เกิดขึ้นเพราะความเป็นเมืองที่เติบโต ท้องถิ่นเองทุกแหงตั้งใจจะดำเนินการบริหารจัดการขยะให้ปลอดภัยที่สุด

อย่างไรก็ตามขณะนี้ติดขัดที่งบประมาณ เทคโนโลยี และพื้นที่เหมาะสมในการดำเนินการกำจัดขยะ ที่ผ่านมาก็คิดกันมาตลอด แต่ติดเงื่อนไข 3 ด้านข้างต้น ยืนยันว่าขยะทั้งหมดเป็นขยะจากชุมชน ไม่มีขยะอุตสาหกรรม มีการกองรวมอัดแน่นและฉีดจุลินทรีย์ฆ่าเชื่อโรคโดยตลอด ส่วนระบบปิดป้องกันน้ำเสียจากกองขยะกำลังดำเนินการ คาดว่าแล้วเสร็จปลายปี 2556 ส่วนโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ เป็นการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งได้ทำประชาคมไปแล้ว และนำเรื่องเสนอผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้รอผลการพิจารณา ยืยันว่าท้องถิ่นเองพร้อมบริหารจัดการขยะอย่างปลอดภัยไร้มลพิษ และหากหน่วยงานภาครัฐใดมีงบประมาณ มีเทคโนโลยี และมีที่ดินเหมาะสม มาช่วยเรา เราพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่