เด็กไทยเสี่ยงภัยสารพิษสิ่งแวดล้อม ต้นเหตุสารเคมีจากอุตสาหกรรม (29 ก.ย. 55)
ไทยรัฐออนไลน์ (29 กันยายน 55)
เด็กไทยเสี่ยงภัยสารพิษสิ่งแวดล้อม ต้นเหตุสารเคมีจากอุตสาหกรรม
เด็กไทยเสี่ยงภัยจากสารพิษในสิ่งแวดล้อม วิจัยชี้สารเคมีจากอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนถ่ายทอดสู่เด็ก เชื่อการได้รับสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานจะทำให้ระดับไอคิวในเด็กลดลง ส่งผลต่อพัฒนาการผิดปกติ...
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. สืบเนื่องจากกรณีทารกวัย 8 เดือน ซึ่งเติบโตในโรงงานคัดแยกขยะอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถูกส่งตัวมา รพ.รามาธิบดี ด้วยอาการชักจากพิษสารตะกั่ว โดยมีปริมาณตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 17 เท่า ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กเล็ก 165 คน ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงโรงงานดังกล่าว พบเด็กผู้ชาย 1 ใน 2 มีสารตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐาน (50 ใน 86 คน หรือร้อยละ 58.1) และเด็กผู้หญิง 1 ใน 3 มีสารตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐาน (24 ใน 79 คน หรือร้อยละ 30.4) ทั้งนี้ ค่ามาตรฐานของตะกั่วในเลือดที่ยอมรับได้ แม้ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยแน่นอน คือ 10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
ศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า แพทย์สันนิษฐานว่าสารตะกั่วจากโรงงานฟุ้งกระจายตามลม ตกสู่ดินและแหล่งน้ำ จนเข้าสู่ร่างกายเด็กผ่านระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร โดยเด็กผู้ชายมีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าเด็กผู้หญิงอาจเกิดจากพฤติกรรมการเล่นของเด็กผู้ชายที่สัมผัสกับฝุ่นและดินมากกว่า
“การได้รับสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน จะทำให้ระดับไอคิวในเด็กลดลง และยังทำให้ระบบประสาทผิดปกติ เกิดภาวะสมาธิสั้น ความสามารถในการเรียนรู้ผิดปกติ กรณีสมุทรสาครเป็นตัวอย่างว่า ผู้ประกอบการทำไม่ถูก แม้โรงงานจะถูกสั่งปิด แต่เด็กจะโง่ไปอีกนาน ไม่มีการชดเชย และยังมีโรงงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองปริมาณตะกั่วในเลือดเด็กควรบรรจุในการตรวจสุขภาพประจำ โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่อาศัยในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยอาจตรวจเมื่อเด็กเข้ารับวัคซีนเมื่อครบ 1 ขวบ และ 5 ขวบ และควรพิจารณาว่าภาคเอกชนจะร่วมแบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้อย่างไร ทั้งนี้ มีงานวิจัยในสหรัฐฯ หลายฉบับ พบว่าการได้รับสารตะกั่วแม้ในปริมาณน้อย หากเกิดต่อทารกในครรภ์และเด็กเล็ก จะเกิดผลกระทบระยะยาว ซึ่งอาจปรากฏผลภายหลังเมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น เช่น ภาวะสมาธิสั้น ความสามารถยั้งคิดบกพร่อง หงุดหงิดง่าย และอาจถึงขั้นมีพฤติกรรมก้าวร้า” รศ.นพ. อดิศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.อาภา หวังเกียรติ รองคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เป็นที่น่าตกใจว่าระดับตะกั่วในเลือดที่จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพคือศูนย์ นั่นคือต้องไม่มีตะกั่วในเลือดเลยเด็กไทยจึงจะปลอดภัย ถึงเวลาจริงๆ แล้วที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เด็กไทยจะใช้ชีวิตและร่างกายเป็นเครื่องทดสอบสารพิษ จนสังคมไทยเต็มไปด้วยเด็กและผู้ใหญ่ที่มีความบกพร่องของสมองมากเหมือนสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่ามาตรฐานความปลอดภัยของสารปรอทลดลงเช่นกันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อปี พ.ศ. 2515 สหรัฐฯ กำหนดค่าความปลอดภัยของการได้รับสารปรอทไว้ที่ 34 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน (mg/kg/วัน) โดยกำหนดจากปริมาณสารปรอทที่เป็นเหตุให้ทารกปัญญาอ่อนอย่างรุนแรงแต่กำเนิด ต่อมานักวิทยาศาสตร์พบว่าเด็กที่ได้รับสารปรอทในปริมาณต่ำกว่าค่าความปลอดภัยดังกล่าว มีไอคิวต่ำ เริ่มพูดและเริ่มเดินช้ากว่าเด็กทั่วไป
ดร.อาภา กล่าวว่า ปัจจุบัน องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ กำหนดค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ของสารปรอทไว้เพียง 0.85 mg/kg/วัน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงพบทารกที่ได้รับสารปรอทไม่เกินค่ามาตรฐาน ที่แสดงความบกพร่องทางภาษา ความจำ และสมาธิ ทั้งนี้ ปรอทเป็นโลหะหนักที่พบในขยะอันตราย ปลาที่เติบโตในน้ำเสียอุตสาหกรรม การเผาไหม้จากโรงไฟฟ้าถ่านหินเตาเผาขยะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในยุคก่อนยังมีข้อจำกัดเนื่องจากอยู่บนสมมุติฐานว่า มนุษย์จะได้รับสารเคมีเพียงตัวเดียว เสมือนใช้ชีวิตอยู่ในห้องทดลองเท่านั้น
ทั้งนี้ ในความเป็นจริง มนุษย์ได้รับสารเคมีหลายชนิดพร้อมๆ กันจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพที่รุนแรงยิ่งขึ้น แม้ได้รับสารเคมีแต่ละตัวในปริมาณที่ไม่เกินค่ามาตรฐานเด็กที่ด้อยสมรรถภาพในการเรียนรู้ จะประสบปัญหาในการพูด อ่าน เขียน คิดเลข ตั้งสมาธิ และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เผชิญอุปสรรคในการทำงาน งานวิจัยในสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2548 ประเมินว่าการสูญเสียความสามารถในผู้ใหญ่เนื่องจากได้รับสารปรอทในวัยเยาว์ ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 8,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.6 แสนล้านบาทต่อปี
ขณะที่ ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดหรือได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เด็ก ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา และจะเป็นอนาคตของประเทศ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้ปลอดภัยจากมลพิษ สิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด นอกเหนือจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสังคมยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กแต่ปัจจุบัน มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมส่งผลชัดเจนต่อความบกพร่องของพัฒนาการทางสมองในเด็ก และที่สำคัญสารพิษในสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้.