"HIA : ข้อมูลผลกระทบสุขภาพ" ตัวแปรแก้เกม FTA ไทย-อียู (27 ก.ย. 55)

สกู๊ปจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 27 กันยายน 2555
"HIA : ข้อมูลผลกระทบสุขภาพ" ตัวแปรแก้เกม FTA ไทย-อียู

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

 การจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายฝ่ายในสังคมกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ
 

บรรดาเครือข่ายภาคประชาชนจำนวนมากต่างเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ ทั้งจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายต้านเหล้า-บุหรี่ รวมไปถึงนักวิชาการที่กำลังวิตกกับปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้น หากการทำเอฟทีเอในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ประเด็นที่ภาคประชาชนเป็นกังวลอยู่ขณะนี้คือ รัฐบาลกำลังเร่งเจรจากับอียู ทั้งที่ในมือยังไม่มีข้อมูลผลดี-ผลเสียที่แน่ชัด แม้จะมีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ก็เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น      

นายจักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในการประชุมกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ: ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษา การจัดทำ Thai-EU FTA ต่อการเข้าถึงยา ว่า รัฐไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงต่อประชาชน ตามกฎหมายแล้วรัฐควรมีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนก่อนที่จะมีการเปิดเวทีสาธารณะ อาทิ ร่างก่อการเจรจา ซึ่งควรส่งให้ประชาชนได้เห็นก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีระยะเวลาในการพิจารณาก่อนแสดงความคิดเห็น แต่การเปิดเวทีสาธารณะที่ผ่านมาไม่เคยมีการดำเนินการเช่นนี้มาก่อน ทำให้กรมเจรจาการค้าฯ ไม่มีข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพที่แท้จริงในการเจรจา และอาจทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการทำเอฟทีเอครั้งนี้ได้

เมื่อปัญหามีความชัดเจน การแก้ปัญหาก็สามารถทำได้ตรงจุด เหล่านักวิชาการจึงระดมกำลังตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) โดยพุ่งเป้าศึกษาผลกระทบจาก FTA ไทย-อียูต่อการเข้าถึงยา ซึ่ง รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้จัดทำ HIA ประเด็นดังกล่าว เปิดเผยว่า อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในการจัดทำ HIA เนื่องจากการทำ FTA ไทย-อียูเป็นนโยบายสาธารณะ โดยการจัดทำข้อมูลในครั้งนี้เมื่อสำเร็จแล้ว จะส่งไปให้ผู้มีอำนาจในการเจรจานำไปใช้เป็นข้อมูลในการต่อรอง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย

 ทั้งนี้ ขั้นตอนในการทำ HIA รศ.ภญ.นุศราพร อธิบายว่า มีอยู่ 6 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ 1.การคัดกรองปัญหา 2.กำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบสาธารณะ 3.การประเมินโดยนักวิจัย 4.การทบทวนการประเมิน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม 5.การนำเสนอข้อมูลให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจนโยบาย และ 6.การติดตามการนำข้อมูลไปใช้ ซึ่งขณะนี้คณะทำงานเพิ่งเสร็จกระบวนการในขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อกังวลต่างๆ ทางสาธารณะจากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบ ทั้งที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เพื่อนำมากำหนดประเด็นในการประเมินและมาตรการบรรเทาผลกระทบ    “การประเมินฯในครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน คือตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค.2555 โดยกำหนดขอบเขตการประเมินครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาเท่านั้น ไม่รวมเคมีภัณฑ์ โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในกลางปี 2556 และส่งข้อมูลไปให้กรมเจรจาฯใช้ในการต่อรองได้” รศ.ภญ.นุศราพร กล่าว

สำหรับเนื้อหาการประเมินและมาตรการบรรเทาผลกระทบ รศ.ภญ.นุศราพร ระบุว่า จะเน้นใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การออกประกาศนียบัตรการคุ้มครองเพิ่มเติมให้แก่ผู้ทรงสิทธิ 2.การผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา (Data Exclusivity) 3.การปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ในสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง และ 4.การใช้มาตรการ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งมาตรการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้คือ ต้องเพิ่มการใช้ประโยชน์จากระบบสิทธิบัตรจากประเทศที่มีระบบการบริหารจัดการระบบสิทธิบัตรที่ดี ต้องเพิ่มข้อกำหนดให้ผู้ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่การดำเนินการโดยสมัครใจ และผลักดันให้การถ่ายทอดสิทธิบัตรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเจ้าของสิทธิบัตรและหน่วยงานในประเทศที่รับจดสิทธิบัตร เป็นต้น

ขณะนี้นักวิชาการและภาคประชาชนคงได้แต่หวังว่า การเจรจาจะไม่สำเร็จลุล่วงไปก่อนที่ข้อมูล HIA จะเสร็จสิ้นพร้อมใช้ในช่วงกลางปี 2556 เพราะหากกรมเจรจาฯจะรออีกสักนิด เพื่อนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในการต่อรองกับอียู เชื่อว่า ไทยจะเสียเปรียบต่างชาติน้อยลง และผลประโยชน์ที่สุดก็จะตกอยู่ในมือของประชาชนคนไทยเอง