จี้รัฐฯ ทบทวน "ทวาย" หยุดขยายหนี้สาธารณะ หวั่นซ้ำรอยอีสเทิร์นซีบอร์ด (18 ก.ย. 55)
ประชาไท (18 กันยายน 2555)
เอ็นจีโอจี้รัฐฯ ทบทวนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ
ที่มาภาพ: ที่มาภาพ: aweidevelopment.com/index.php/th/about-ddc/introduction
‘ปัญญาชนสยาม’ เตือน ‘ยิ่งลักษณ์’ คิดให้ดีเดินตามทักษิณหรือฟังเสียงประชาชน ด้าน ‘เอ็นจีโอ’ ร้องสภาพัฒน์เปิดภาพรวม ‘โครงการพัฒนาทวาย’ ศึกษาผลกระทบในทุกมิติ ชี้ตัวแบบการพัฒนาจาก ‘มาบตาพุด’ สู่ผลกระทบยิ่งเลวร้ายที่ ‘ทวาย’
โครงการขายฝันนำ “ทวาย” สู่การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อการค้าที่เจริญก้าวหน้าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นประตูสู่การค้าใหม่ให้เส้นทางทะเลที่เริ่มต้นโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2551 กำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลไทย
พร้อมๆ กับการตั้งคำถามจากภาคประชาชนไทยว่าทำไมรัฐต้องไปแบกรับภาระความเสี่ยงการลงทุนแทนภาคเอกชน จากกรณีที่โครงการดังกล่าวกำลังประสบกับปัญหาหลายด้านจนไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ จนถึงปัจจุบันทั้งการสร้างเส้นทางชั่วคราวจากชายแดนไทย-พม่า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อีกทั้งปัญหาสำคัญคือการจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะยาว
วันนี้ 18 ก.ย.55 เสมสิกขาลัยร่วมกับ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ มูลนิธิบูรณนิเวศ (EARTH) และโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโข (TERRA) จัดแถลงข่าว “หยุดอุ้มโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ” โดยมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมแจงข้อมูล
สืบเนื่องจาก การที่เครือข่ายภาคประชาสังคมไทยได้ติดตามโครงการทวายมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าการเดินทางไปเยือนประเทศพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ย.55 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเจรจาความร่วมมือการพัฒนาโครงการทวาย
ร้องสภาพัฒน์เปิดภาพรวม “โครงการพัฒนาทวาย” ศึกษาผลกระทบในทุกมิติ
วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า โครงการทวายเป็นโครงการใหญ่ และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงการทวายก็กำลังเร่งดำเนินการ เพราะหากล่าช้าจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในส่วนภาคประชาชนเห็นว่าสภาพัฒน์ในฐานะหน่วยงานหลักควรจัดทำแผนอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบและมีส่วนร่วม เพราะโครงการนี้ไม่ได้เป็นโครงการเฉพาะในเขตพม่า แต่เชื่อมต่อมายังประเทศไทยและมีแนวโน้มว่าจะกระทบในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสังคมอย่างรุนแรง
ยกตัวอย่างโครงการมอเตอร์เวย์จากบางใหญ่ (อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี) ไป จ.กาญจนบุรี และเชื่อมจาก จ.กาญจนบุรีไปบ้านพุน้ำร้อนติดชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเส้นทางนี้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อปี 2542 และ 2546 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการพูดถึงโครงการทวายและไม่ได้มีการกล่าวถึงในรายงาน ดังนั้นการใช้ผลการศึกษาซึ่งผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าวไปเชื่อมต่อกับทวายเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ในทางวิชาการถือว่าต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่
“จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาพัฒน์เองจะต้องเปิดเผยภาพรวมของโครงการทั้งหมด เพราะว่าโครงการทวายไม่ได้หมายถึงโครงการท่าเรือ โครงการนิคมอุตสาหกรรม แต่หมายถึงโครงการที่จะเชื่อมมาประเทศไทยอีกหลายโครงการ โครงการมอเตอร์เวย์ที่ผลกล่าวมาแล้วก็ยังต้องมีการศึกษาใหม่ โครงการรถไฟที่จะเชื่อมต่อจากทวายไปยังมาบตาพุดก็จะต้องเปิดเผย แนวท่อก๊าซที่จะผ่านมายังประเทศไทยก็จะต้องเปิดเผย รวมไปถึงสายไฟฟ้าแรงสูงที่เชื่อมต่อจากนิคมอุตสาหกรรมมายังประเทศไทยก็จะต้องเปิดเผย แต่สิ่งเหล่านี้ดุเหมือนกับมืดดำในขณะนี้ คนไทยไม่รู้ ประชาชนไม่รู้” วีรวัธน์ กล่าว
ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องว่า สภาพัฒน์ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปรงใส ต้องชัดเจนในเรื่องการศึกษาทั้งในมิติของผลกระทบทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ขณะเดียวกันเมื่อทำเสร็จแล้วก็ต้องเปิดประชาวิจารณ์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันพิจารณาให้เกิดความโปร่งใสและจะส่งผลต่อการป้องกันผลกระทบในวันข้างหน้าด้วย
เสนอแสดงตัวอย่างการจัดการ-แก้ปัญหาที่มาบตาพุด สร้างความมั่นใจให้เพื่อนบ้าน
อีกประเด็นที่วีรวัธน์ ต้องการเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ การลงทุนของไทยในพม่า สิ่งที่นักลุงทุนไทยและรัฐบาลไทยต้องทำให้ได้คือการสร้างความเชื่อมั่นกับคนพม่าว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ไม่เช่นนั้นแล้วความเชื่อมั่นต่อกันในระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจะไม่เกิดขึ้น
“การหวังจะเขาไปแสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ถือเป็นความบกพร่องในบานะเพื่อนบ้าน” ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าว
วีรวัธน์ กล่าวว่า กรณีปัญหามาบตาพุดเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่รับรู้ แต่คนพม่าก็รู้ และหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับพวกเขา ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสิบเท่าเพราะทวายมีขนาดใหญ่มากกว่ามาบตาพุดถึงสิบเท่า ดังนั้นควรใช้บทเรียนจากมาบตาพุดเป็นการให้หลักประกันกับประเทศพม่าว่ารัฐบาลไทยและคนไทยตระหนักในเรื่องนี้ และจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันต่อประเทศเพื่อนบ้าน
ต่อคำถามถึงเรื่องกลุ่มคนที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรม วีรวัธน์ ชี้แจงว่า ขณะนี้มีกลุ่มคน 5 กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ประกอบด้วย 1.ชาวบ้านที่ได้รับผลกรทบจากโครงการเขื่อนและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ กว่า 30,000 คน ที่เริ่มจับมือกันจากเดิมที่แยกกันต่อสู้แต่ละหมู่บ้านโดยมีพระเป็นแกนนำ 2.ชนชั้นกลางในทวายเอง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสูง 3.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างถนน ในกรณีกะเหรี่ยง KNU ที่ร่วมกันต่อสู้คัดค้านถนนเนื่องจากคิดว่าจะทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรม 4.องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในย่างกุ้งเป็นนักกิจกรรมเก่า ซึ่งได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อจะติดตามโครงการ โดยทั้ง 4 กลุ่มเริ่มมีความสัมพันธ์ที่จะถ่ายทอดข้อมูลระหว่างกัน
และ 5 กลุ่มคนไทยใน จ.กาญจนบุรี ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งมีนักลงทุน ข้าราชการ ชนชั้นกลาง และในส่วนสถาบันการศึกษาที่รวมตัวกันและตั้งคำถามว่าคนเมืองกาญจน์ฯ จะได้อะไร หรือจะกลายเป็นทางผ่านที่ถูกมองข้าม โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ แถมอาจมีการทิ้งสิ่งสกปรกไว้ด้วย และมีข้อเรียกร้องที่น่าสนใจว่า รัฐบาลน่าจะสนับสนุนให้ภาคประชาชนของ จ.กาญจนบุรีและทวายได้มีโอกาสพบปะร่วมแลกเปลี่ยนกัน เพื่อแสวงหาการพัฒนาที่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่คนเมืองกาญจน์ฯ จะลุกมาตั้งคำถามถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่อาจได้รับ ทั้งมลภาวะทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 6,000 เมกะวัตต์ ในกรณีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝนกรดที่อาจกระทบกับป่าตะวันตก ผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งในอนาคต ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบที่ชัดเจน
ที่มาภาพ: aweidevelopment.com/index.php/th/about-ddc/introduction
ชี้ตัวแบบการพัฒนาจาก ‘มาบตาพุด’ สู่ผลกระทบยิ่งเลวร้ายที่ ‘ทวาย’
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวยกตัวอย่างถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) โดยระบุว่ามีความคล้ายคลึงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาระดับภูมิภาคแห่ง แรกของประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อราวปี 2525 ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 โดยถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นตัวพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ทั้งใช้เป็นกลไกพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ระดับภูมิภาค แก้ไขปัญหาคนว่างงานภายในประเทศ สร้างเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรม โดยตั้งระยะเวลาของการพัฒนาไว้ที่ 50 ปี
ระยะเวลา 30 ที่ผ่านมา เป้าหมายหนึ่งเรื่องการลดหนี้สินสาธารณะ แต่นับวันหนี้สินสาธารณะที่เป็นเงินกู้ยืมจากต่างประเทศของไทยกลับยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นพัฒนาโครงการฯ อย่างเต็มตัวในราวปี 2530-2540 นอกจากนั้นลักษณะการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุดและแหลงฉบัง ภายใต้โครงการ Eastern Seaboard และกำลังจะเกิดขึ้นที่ทวายมีรูปแบบเดียวกัน คือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่มีฐานทรัพยากรจากการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ และอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาต่อเนื่องไปก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี การกลั่นน้ำมัน การแยกก๊าซ อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมพลาสติก ไปจนถึงอุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะมีการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดและแหลงฉบัง รัฐบาลไทยโดยสภาพัฒน์ได้ว่าจ้างบริษัทชื่อคูเปอร์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ศึกษาความเป็นได้ เมื่อปี 2524-2526 ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่า หากรัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหาคนว่างงาน ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะกระจายรายได้ไปตามภูมิภาค และส่งเสริมความยั่งยืนในการพัฒนา รูปแบบการพัฒนาที่วางแผนไว้ไม่เหมาะสม ควรมีการพัฒนาที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรในพื้นที่ โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมขนาดเล็กอื่นๆ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา โดยสภาพัฒน์ยืนยันทำตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นความขัดแย้งสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วและกำลังจะเกิดขึ้นที่ทวายประเทศพม่าโดยชุดความคิดและกลุ่มเทคโนแครตของไทย
“รูปแบบการพัฒนาทวายที่รัฐบาลพม่า กลุ่มอิตัลไทย และรัฐบาลไทยที่กำลังจะเข้าไปดำเนินการแทนภาคเอกชนในเวลานี้เป็นรูปแบบ เป็นทิศทางที่ดิฉันขอพูดจากประสบการณ์ในการทำงานเรื่องนี้ว่าไม่เหมาะสม และเชื่อว่าไม่ใช่ดิฉันคนเดียวเท่านั้นที่พูดได้อย่างนี้ นักวิชาการไทยไม่ว่าด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เชียวชาญด้านมลพิษ เชื่อว่าทุกคนคงพูดไปในทิศทางเดียวกัน” เพ็ญโฉมกล่าว
เพ็ญโฉม กล่าวต่อมาถึงความพยายามแก้ปัญหาของชาวบ้านมาบตาพุดว่า มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการชุมนุมประท้วงไม่ให้มีการขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และมีนักวิชาชาการจำนวนมากเข้าไปช่วยเหลือ มีนักการเมือง ผู้เชียวชาญ ผู้ตรวจการ นักสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เข้าไปดูปัญหาในพื้นที่แต่ก็ไม่มีใครสามารถแก้ได้ อีกทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการประกาศให้มาบตาพุดเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ ก็ติดปัญหาเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการสั่นคลอนบรรยากาศการลงทุนของต่างชาติ จนมีการฟ้องคดีและนำมาสู่การประกาศเป็นเขตควบคุมมวลพิษ แต่เวลาผ่านมา 4 ปีเต็ม ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการจัดการมลพิษอย่างจริงจัง หรือกำจัดถึงรากเง้าของปัญหา
ขณะที่ การฟ้องให้มีการยับยัง 76 โครงการมาบตาพุด ซึ่งสุดท้ายศาลได้ยกฟ้องและมี 60 กว่าโครงการที่เดินหน้าไปได้ ในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดความชะงักงันและสร้างความเสียหายให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ได้ไปกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในส่วนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มธุรกิจเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ และแหล่งเงินกู้ต่างประเทศให้เริ่มมองหาช่องทางในการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอีกหลายๆ โครงการ ไปที่เวียดนาม พม่า และทวายได้กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากพม่าอยู่ระหว่างเปิดประเทศ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายหลายๆ ฉบับที่สำคัญ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมมลพิษ และกฎหมายที่คุมครองสิทธิชุมชน
“อยากฝากข้อมูลไปถึงรัฐบาลพม่าก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ว่าลักษณะและประเภทของกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังส่งเสริมอยู่ โดยมีรัฐบาลไทย กลุ่มทุนไทย แหล่งเงินกู้จากต่างประทศและบริษัทต่างประเทศอีกมากมายที่จ้องรออยู่ มันอันตรายสำหรับคุณมากกว่าจะส่งผลดีหรือส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจพม่ามีความยั่งยืน” เพ็ญโฉมกล่าว
จวกทุกรัฐบาลรู้ปัญหาดีแต่ไม่แก้ เหตุไม่มีความกล้าหาญ-ขาดจริยธรรม-ไร้ความละอาย
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวด้วยว่าสำหรับประเทศไทย ตนเองไม่ค่อยมีความหวัง ไม่ว่ากับรัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลที่จะมาในวันข้างหน้า เพราะว่าทุกรัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าปัญหาประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าไม่มีความกล้าหาญพอที่จะแก้ไขปัญหา ไม่มีจริยธรรมสูงพอที่จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนโดยน้ำมือของพวกเขา ไม่มีความละอายเพียงพอที่จะรับผิดชอบต่อพลเมืองของตนเองและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกละอายต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในทวาย
ไม่จะไร้ความหวัง แต่สำหรับข้อเสนอทิ้งท้าย เพ็ญโฉมกล่าวว่า 1.ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในพม่า เพื่อโอบอุ้มโครงการนี้แทนเอกชนที่เข้าไปลงทุนแล้วเจออุปสรรค์ไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อ การตัดสินใจของรัฐบาลไทยควรมีการทบทวน ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ความคุ้มทุนของโครงการก่อน เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นจะเกิดเป็นภาระหนี้สาธารณะที่คนไทยทุกคนต้องต้องแบกรับ
“ที่สำคัญดิฉันอยากให้หยิบเอาข้อเสนอของคูเปอร์ที่เสนอต่อรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาดูอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งที่คุณเข้าไปส่งเสริมมันเหมาะสมต่อการลงทุนของพม่าจริงหรือเปล่า แล้วคุณย้อนกลับมาทบทวนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งก็ยังไม่สายเกินไป เพราะประเทศไทยก็ยังดำรงอยู่ การปรับปรุงแก้ไขในวันนี้มันไม่เสียหายแต่มันจะส่งผลดีทั้งต่อไทยและพม่าเองด้วย” เพ็ญโฉมกล่าว
2.การที่สภาพัฒน์พูดว่าการเข้าไปลงทุนในทวายจะทำให้จีดีพีของไทยเติมโตร้อยละ 1.9 ตรงนี้คิดคำนวณจากอะไร อยากให้เอาข้อมูลมาแสดงให้เห็น และ 3.ไทยไม่ควรเอาเปรียบพม่า โดยตราบใดที่พม่ายังไม่มีกลไกในการปกป้องสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รอให้มีการพัฒนากลไกเหล่านี้ให้พร้อม หรือเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดกลไกเหล่านี้ก่อนได้หรือไม่
‘ปัญญาชนสยาม’ จี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ คิดให้ดีเดินตาม ‘ทักษิณ’ หรือฟังเสียงประชาชน
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวถึงแง่มุมของพม่าว่า ในเวลานี้ประเทศพม่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีข้อหนึ่งคือการมีรัฐสภา และจากการได้ไปพม่าเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนพม่าบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดในพม่าตอนนี้คือรัฐสภา รองลงมาคือรัฐบาล ส่วนสิ่งที่เลวที่สุดคือทหาร และข้าราชการประจำ โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่ล้าหลัง ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่สนใจประชาชน ซึ่งในกรณีของทวายที่มีการพูดถึงเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม หากเป็นไปได้น่าจะมีการทำข้อเสนอส่งไปให้เพื่อนเอ็นจีโอพม่า คนที่ทำงานในพม่า เพื่อเสนอให้รัฐสภาทำงานตรงนี้ เนื่องจากในเวลานี้คนพม่าตื่นตัวมากแม้ประชาธิปไตยเพิ่งเริ่มต้นแต่คนก็มีความหวังต่อรัฐสภา
นอกจากนั้น คนพม่าแม้จะอยู่ในระบอบเผด็จการทหารมายาวนาน แต่คนพม่าก็มีความตื่นตัวและมีความสามารถโดยเฉพาะในกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ยกตัวอย่างคนคะฉิ่นที่กล้าท้าทายรัฐบาลจีน ด้วยการคัดค้านโครงการเขื่อนของจีน โดยบอกว่าหากจะสร้างเขื่อนในรัฐคะฉิ่นจะต้องปรึกษาคนคะฉิ่นก่อน ซึ่งสำหรับคนที่ทวายก็คิดว่าน่าจะไม่แตกต่างกัน
“เวลาเรามองมาที่ทวาย แน่นอนข้อมูลจากมาบตาพุดจะช่วยได้มาก แต่เราต้องมองที่พม่าด้วยว่ามีจุดอะไรที่เราจะทำอะไรได้บ้าง หนึ่งผมเชื่อว่ารัฐสภาเป็นจุดหนึ่งที่หวังได้ สองคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ในพม่านั้นต้องสื่อสารกับเขาโดยตรงให้เขาต่อต้าน แล้วเขาจะต่อต้านอย่างมีกึ๋น” สุลักษณ์
สุลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ตนเองหมดหวังกับชนชั้นปกครอง รัฐบาลไม่ว่าโดยการนำของยิ่งลักษณ์หรืออภิสิทธิ์ ต่างก็เป็นพวกเดียวกันหมด เพราะรัฐบาลไทยต้องมองไปที่อภิมหาอำนาจ มองไปที่อเมริกัน มองที่จีน มองที่บริษัทข้ามชาติ แต่ไม่ได้มองที่รากหญ้า ที่ประชาชนพลเมืองว่าจะมีความเดือดร้อนอย่างไร แต่ก็มีนิมิตรหมายอันดีในเมืองไทยคือคนรากหญ้าได้ตื่นตัว ลุกขึ้นมาต่อสู้ทั้งที่มาบตาพุด ประจวบคีรีขันธ์ และคนเหล่านี้ยังมีศาสนธรรม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่ ความหวังจึงอยู่ที่ประชาชน
“ต้องเตือนเลยครับ ยิ่งลักษณ์ถ้าจะพิสูจน์ว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นหัวโขนของทักษิณ ยิ่งลักษณ์จะต้องฟังเสียงคนไทย ฟังเสียงที่คนไทยเตือน ฟังเสียงให้เห็นความผิดพลาดของมาบตาพุด แล้วยิ่งลักษณ์ก็จะมีลักษณะยิ่งในทางที่ดีงาม ถ้าไม่ฟัง เดินตามทักษิณ ยิ่งลักษณ์ก็จะเป็นยิ่งลักษณ์ในทางที่เลวทรามต่ำช้าเรื่อยๆ ไป” สุลักษณ์กล่าว
ทั้งนี้ ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวายประมาณ 28 กิโลเมตรโดยอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลพม่าในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค
องค์กรไทย-เทศร่วมลงนามจี้รัฐฯ ทบทวนการลงทุนแทนอิตาเลียนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
เครือข่ายภาคประชาชน 42 องค์กรได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ ลงวันที่ 18 ก.ย.55 “รัฐบาลต้องทบทวนการลงทุนแทนอิตาเลียนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: หยุดอุ้มทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ” ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจใดๆ รัฐบาลจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในภาพรวมใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญ จะต้องมีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ทางเลือกการพัฒนาในเขตทวาย การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนพม่าและไทย และการศึกษาต่างๆ นั้นต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย เพราะรัฐบาลไทยจะเข้าไปเป็นผู้แบกรับภาระความเสี่ยงการลงทุนแทน และนั่นหมายถึง สาธารณชนไทยที่จะเป็นผู้แบกรับภาระหนี้สาธารณะในระยะยาวนั่นเอง
2.หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจะส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยสูงขึ้น 1.9% แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่เคยเปิดเผยสู่สาธารณะว่ามีฐานคิดจากปัจจัยอะไรบ้าง นอกจากนี้ กรมทางหลวง ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาถนนเพื่อเชื่อมต่อจากชายแดนพม่า ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเส้นทางถนน และการศึกษาผลกระทบทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ต้องดำเนินการจัดการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนเสนอรัฐบาลเพื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนในโครงการนี้หรือไม่
3.ปัจจุบันประเทศพม่ายังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกลไกเชิงสถาบันที่จะทำหน้าที่กำกับติดตามตรวจสอบ เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งคือความเสี่ยงของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐจะต้องแบกรับกับความไม่พร้อม ความไม่แน่นอน และยังไม่ได้มาตรฐานของกฎระเบียบและกลไกต่างๆ ในขณะเดียวกันยังเป็นคำถามสำคัญด้านจริยธรรมด้วย เนื่องจากการลงทุนโครงการที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงเช่นนี้จะถูกมองจากสายตาของคนในพื้นที่และชาวโลกว่า ประเทศไทยเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ และทิ้งขยะมลพิษอุตสาหกรรมไว้ในประเทศเพื่อนบ้าน
“พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวน และศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่มก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุนแทนเอกชนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และไม่ทิ้งภาระทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ รัฐบาลต้องทบทวนการลงทุนแทนอิตาเลียนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: การเดินทางเยือนประเทศเมียนมาร์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2555 มีเป้าหมายสำคัญ คือการเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์ในการสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของรัฐบาลไทย ผู้ริเริ่มพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิในการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2553 ได้รับสัมปทาน 60 ปีเพื่อพัฒนาโครงการกับการท่าเรือเมียนมาร์ ประกอบด้วยการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, อ่างเก็บน้ำ, ท่อก๊าซ, ท่อน้ำมัน, สายส่งไฟฟ้า และถนนเชื่อมโยงสู่ประเทศไทย และในประเทศไทยจะมีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเชื่อมโยงจากชายแดนไทย-พม่า ไปสู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยได้จัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินการและการระดมทุน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายโดยภาคเอกชนไทย ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก นอกจากการสร้างเส้นทางชั่วคราวจากชายแดนไทย-พม่าแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก, การสร้างอ่างเก็บน้ำและการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน, ปัญหาในการจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะยาว และยังไม่มีการลงทุนเพื่อซื้อพื้นที่โครงการไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากไทยหรือ ต่างประเทศ ปัญหา สำคัญคือการไม่ได้ยอมรับจากประชาชนพม่าในพื้นที่โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้กำลังถูกประชาชนในพม่าและเมืองทวาย ตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงจากโครงการ และผลกระทบต่อประชาชน ทั้งการอพยพประชาชนในพื้นที่มากกว่า 30,000 คน และผลกระทบต่อเนื่องต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ดังเช่นบทเรียนที่เกิดขึ้นกับเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของประเทศไทย และการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อในเขตประเทศไทย คือจากชายแดนพม่าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ยังถูกต่อต้านจากประชาชนไทยในพื้นที่ด้วย พร้อมกันนี้สถาบันทางวิชาการ, เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการผลักภาระด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อน บ้าน และความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณสาธารณะจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนกิจการ ของภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง อย่าง ไรก็ตามภายใต้สภาวะชะงักงันของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายนี้ รัฐบาลไทยกลับพยายามผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่องที่จะให้โครงการท่าเรือ นํ้าลึกทวายดำเนินการต่อไปได้ ล่าสุดเมื่อประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ โดยรัฐบาลไทยได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และขณะนี้ได้วางแผนเข้าไปบริหารโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ต่อเนื่องจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งจะทำให้สถานะของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมีสภาพเป็นโครงการของรัฐ ขณะที่โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นความอ่อน ไหวด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน, การมีส่วนร่วมของประชาชนพม่าในเมืองทวาย, การทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม, การแย่งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติจากประชาชนพม่าทั้งในและนอกเขตพื้นที่โครงการ นอกจากนั้นยังจะเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลาง, รัฐบาลท้องถิ่น และชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาร์ ดังนั้นจากสถานภาพของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ พวกเราองค์กรตามที่มีรายนามแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ขอเรียกร้อง และตั้งคำถามต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาลของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ดังนี้ ประการแรก ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจใดๆ รัฐบาลจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในภาพรวมใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญ จะต้องมีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ทางเลือกการพัฒนาในเขตทวาย, การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนพม่าและไทย และการศึกษาต่างๆ นั้นต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ, กฎหมาย, และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย เพราะรัฐบาลไทยจะเข้าไปเป็นผู้แบกรับภาระความเสี่ยงการลงทุนแทน และนั่นหมายถึง สาธารณชนไทยที่จะเป็นผู้แบกรับภาระหนี้สาธารณะในระยะยาวนั่นเอง ประการที่สอง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ตนเข้าไปมีส่วน เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจะส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยสูงขึ้น 1.9% แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่เคยเปิดเผยสู่สาธารณะ ว่ามีฐานคิดจากปัจจัยอะไรบ้าง นอกจากนี้ กรมทางหลวง ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาถนนเพื่อเชื่อมต่อจากชายแดนพม่า ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเส้นทางถนน และการศึกษาผลกระทบทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ต้องดำเนินการจัดการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนเสนอรัฐบาลเพื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนในโครงการนี้หรือไม่ ประการที่สาม ปัจจุบัน ประเทศเมียนมาร์ยังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกลไกเชิง สถาบันที่จะทำหน้าที่กำกับติดตามตรวจสอบ เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งคือ ความเสี่ยงของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐจะต้องแบกรับกับความไม่พร้อม ความไม่แน่นอน และยังไม่ได้มาตรฐานของกฎระเบียบและกลไกต่างๆ ในขณะเดียวกันยังเป็นคำถามสำคัญด้านจริยธรรมด้วย เนื่องจากการลงทุนโครงการที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงเช่นนี้จะถูกมองจากสายตา ของคนในพื้นที่และชาวโลกว่า ประเทศไทยเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ และทิ้งขยะมลพิษอุตสาหกรรมไว้ในประเทศเพื่อนบ้าน พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวน และศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่มก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุนแทนเอกชนใน โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และไม่ทิ้งภาระทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ รายชื่อองค์กรสนับสนุนแถลงการณ์ 1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หมายเหตุ: เพิ่มเติมองค์กรผู้ร่วมลงนามในแถลงการณ์จาก 30 องค์กรเป็น 42 องค์กร เมื่อวันที่ 20 ก.ย.55 เวลา 19.45 น. |