เจาะลึกท่าเรือทวาย: ตอนที่ 1 ทวายดันไทยท้าทายสิงคโปร์ ชิงศูนย์กลางฮับเอเชีย (15 ส.ค. 55)

ไทยรัฐออนไลน์ 15 สิงหาคม 2555
เจาะลึกท่าเรือทวาย:ตอนที่ 1 ทวายดันไทยท้าทายสิงคโปร์ ชิงศูนย์กลางฮับเอเชีย

หากพูดถึงฮับแห่งภูมิภาคเอเชีย ในนาทีนี้คงจะหนีไม่พ้นการพูดถึงท่าเรือน้ำลึกสิงคโปร์เป็นอันดับต้นๆ เพราะพื้นที่ตั้งประเทศสิงคโปร์เป็นเส้นทางระหว่างทวีปยุโรปและเอเชียตะวันตก กับภาคพื้นตะวันออกไกล รวมถึงภาคพื้นแปซิฟิก ทำให้สิงคโปร์ กลายเป็นชุมทางของเส้นทางเรือและสายการบินระหว่างประเทศ รวมถึงการเป็นแหล่งชุมนุมการค้าขาย แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ สิ่งที่คนจะพูดถึงต่อไป คงไม่ใช่เพียงท่าเรือของสิงคโปร์ เพียงอย่างเดียว ที่จะเป็นแหล่งขนส่งสินค้าทางเรือ ท่าเรือทวาย อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่คุ้นหูและกลายเป็นฮับที่สำคัญและไม่ด้อยกว่าอย่างแน่นอน
 
ทวาย ดันไทยท้าทายสิงคโปร์ ชิงความเป็นฮับแห่งเอเชีย
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ท่าเรือดังกล่าวตั้งอยู่ที่ประเทศพม่าตรงฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกหรือทะเลอันดามัน ถ้าสินค้าที่มาจากฝั่งยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง หรืออินเดีย จะมาลงตรงท่าเรือน้ำลึกทวายได้เลย ซึ่งจะลดขั้นตอนที่จะต้องเอาเรือไปผ่านสิงคโปร์ จุดแคบมะละกาและขนสินค้ามาไทยบริเวณแหลมฉบังหรือทางรถไฟ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับไทย คือ ขั้นตอนการขนส่งเส้นทางโลจิสติกส์ไทยจะลดลง ประโยชน์ต่อมาคือ หากท่าเรือทวายเข้มแข็งหรือโดดเด่นและไทยเข้าไปลงทุนไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือไปทำอะไรแถวนั้นนักธุรกิจไทยก็มีโอกาสได้ประโยชน์เพราะคนดูแลสัมปทาน คือ อิตาเลียนไทย แม้จะเกิดประโยชน์ในประเทศพม่าแต่โดยธุรกิจถ้าเชื่อมมาที่ไทยธุรกิจที่อยู่ตามตะเข็บตามแนวชายแดนเช่น กาญจนบุรี ซึ่งอาจจะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงหากรัฐบาลสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดระนองหรือที่ปากบาราจังหวัดสตูลซึ่งหากมีก็จะเป็นการเชื่อมการขนส่งจากท่าเรือทวายต่อไปยังภาคใต้ขนจากเรือเล็กไปลงเรือใหญ่แทนที่จะอ้อมไปที่แหลมฉบังหรือไปใช้พอร์ตของสิงคโปร์
 
"การที่สิงคโปร์เป็นฮับคือ 1.สิงคโปร์มีท่าเรืออยู่แล้วและท่าเรือก็กระจายไปทั่วโลก ซึ่งจะลงไปทางอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ความเป็นศูนย์กลางของสิงคโปร์ยังมีอยู่พร้อมๆ กับการที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันเยอะ จึงยังทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางประกันอยู่ เพราะฉะนั้นความที่เป็นศูนย์กลางของท่าเรือสิงคโปร์เองก็ยังมีความโดนเด่นอยู่เพียงแต่ว่าเส้นทางท่าเรือนี้จะเป็นทางเลือกใหม่เราอาจจะไม่ใช่ศูนย์กลางเราต้องดูว่าทิศทางการเดินเรือของโลกจะมาพักที่แหลมฉบังกับทวายหรือไม่เพราะสิงคโปร์คือจุดที่เป็นเหมือนเทอร์มินอลของสนามบิน คือ ลงสิงคโปร์แล้วจะไปได้หมดแหลมฉบังต้องไปทวาย คือเรื่องจะไม่พักที่แหลมฉบังแล้วจะไปต่อที่สิงคโปร์แต่ไปสิงคโปร์จะไปต่อได้หมด แต่ถ้าของทวายมันคือมาทวายก็คือต่อที่แหลมฉบังและจะขึ้นไปจีน คือต้องบอกว่าอาจจะเป็นศูนย์กลางทางเรืออยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ"
 
ทวาย อนาคตใหม่การลงทุนในะดับโลก ประตูบานใหม่นำไทยและพม่า สู่ระดับอินเตอร์
 
สำหรับมูลค่าการลงทุนนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ไม่ได้ศึกษาว่าเต็มรูปแบบของอิตาเลียนไทยวางไว้เท่าไหร่ ดังนั้นจึงไม่กล้าพูดเรื่องตัวเลข แต่หากพูดเรื่องการลงทุนเพิ่มของมาบตาพุดจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แต่ทวายเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะใช้งบประมาณที่เยอะกว่า ซึ่งหากจะมองในมุมของความคุ้มค่าการลงทุน หากมองย้อนกลับไปช่วงท่าเรือแหลมฉบัง ช่วงปี 2530 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนจะนึกหรือไม่ว่าจะเป็นระยองวันนี้ผมว่าไม่มีทาง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกิดนิคมอุตสาหกรรม เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทำให้ ปตท.ยิ่งใหญ่ติด 1 ใน 500 ของโลก ด้วยจากตัวโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เหมือนทวายเอง ณ วันนี้อาจจะยังไม่ได้สร้างความคุ้มค่าเร็วแต่สร้างอนาคตให้กับพม่า สร้างอนาคตให้กับไทยส่วนหนึ่งได้ และวันหนึ่งจะยิ่งใหญ่ ณ วันนี้ถ้าผมไปลงทุนในพม่าผมจะคุยกับนักลงทุนยังไง ผมจะส่งของออกที่ตรงไหนก็นี่ไงท่าเรือทวายไง เหมือนไทยตอนนี้ส่งของออกส่งที่ไหนเพราะในกรุงเทพฯมันเล็กแต่ตอนนี้ส่งที่ไหนก็แหลมฉบังไง เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่ามันเป็นพอร์ตหรือเป็นเกตเวย์ออกไปสู่นานาชาติซึ่งทำให้พม่าเข้มแข็งและประโยชน์จะเชื่อมอยู่กับไทยด้วย
 
ห่วงอย่างเดียว เรื่องถูกโลกแซงชั่น
 
"โดยความเห็นส่วนตัวต้องยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ในอดีตพม่าถูกคว่ำบาตร (แซงชั่น) และถ้าถามว่าหากพม่าไม่ถูกคว่ำบาตรจะมีบริษัทนานาชาติมาแข่งกับอิตาเลียนไทยทำท่าเรือทวายหรือไม่ก็คงมี แต่พอถูกคว่ำบาตรทุกคนก็ไม่กล้าเข้าเพราะประเทศใหญ่ๆ อยู่ในสหประชาชาติหมด เราต้องเคารพการคว่ำบาตรแต่เราเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราก็ช่วยเหลือได้ตามหลักประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราถามว่า ณ วันนี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรประเทศอื่นเลิกคว่ำบาตรหมดแล้วก็จะหยิบชิ้นปลามันไป ถ้าถามว่าเราทำช้าไปหรือไม่ผมก็ไม่คิดว่าช้า เพราะพม่าเพิ่งเปิดประเทศเต็มที่การทำท่าเรือทวายแล้วไม่มีธุรกิจเกิดใหม่คือไม่มีการเดินเรือเอาจากไทยอย่างเดียวมันใช่ที่ไงคือคนอาจจะไม่ผ่านแดนพม่าก็ได้ถ้ามีท่าเรือเพราะเค้าคว่ำบาตรอยู่แต่ ณ วินาทีนี้เรารอไม่ได้แล้ว ผมไม่ได้คิดว่าช้าไปแต่ผมคิดว่า ณ ตอนนี้อย่าช้าเพราะไม่เช่นนั้นเราจะเห็นคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐฯ หรือยุโรปเข้าไปลงทุนในพม่ามากกว่านี้แล้วเราจะเสียกระบวนการในการพัฒนาร่วมกับพม่า เพราะพม่าจะเป็นจุดเด่นที่สำคัญในเอเชียพอสมควรในอนาคต"
 
เมื่อโตเต็มที่ มูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าแสนล้าน จีดีพีโต อย่างต่ำ 1 เปอร์เซ็นต์
 
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากพูดถึงมูลค่าเศรษฐกิจสำหรับโครงการดังกล่าวนั้นในภาพคร่าวๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อุตสาหกรรม ที่จะอยู่ในนิคมกาญจนบุรีหรือนิคมระยอง อาจจะมีคนมาสนใจพวกเหมราช อมตะ ฯลฯ พออุตสาหกรรมมาลงมากขึ้นก็จะเกิดการลงทุนอาจจะเกิดธุรกิจโลจิสติกส์ธุรกิจการเงินปล่อยสินเชื่อธุรกิจทางด้านประกันภัยซึ่งประกันด้านการขนส่ง ธุรกิจการเงิน ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจต่างๆ มากมาย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวทาง ซึ่งอาจจะทำให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ผมเชื่อว่าปีๆ หนึ่งไม่ควรต่ำกว่าแสนล้านและทำให้จีดีพีโตได้ประมาณ 1% อย่างน้อย 1% น่าจะเกิดขึ้นได้

อดีตขุนคลัง ชี้ข้อดี ทวาย เหนือสิงค์โปร์เรื่องความปลอดภัย
 
ด้าน นายกรณ์​ จาติกวณิช  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาล ปชป.มีนโยบายสนับสนุนอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก แต่ประเทศไทยติดหล่มการถกเถียงเรื่องของแนววิธีการพัฒนาท่าเรือทางตะวันตกของไทยมานานตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษให้กับสภาพัฒน์มานำเสนอกับครม.เศรษฐกิจว่าที่เถียงกันมาเป็น 10 ปี ทางเลือกที่แท้จริงคือการทำท่าเรือน้ำลึกในฝั่งตะวันตกของไทย เพื่อที่ไทยจะได้พัฒนาการขนส่งไปสู่อินเดียตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องพึ่งท่าเรือสิงคโปร์และแหลมมะละกา ซึ่งทางสภาพัฒน์ ก็ไม่มีความชัดเจนเพราะสิ่งที่สภาพัฒน์ กังวลคือการศึกษามาหลาย 10 ปีแต่ว่าในช่วงระยะเวลานั้นการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีมาเรื่อยๆ และถ้ามีการตัดสินใจจริงสุดท้ายในทางปฏิบัติคิดว่าทำยาก รัฐบาลจึงตัดสินใจชัดเจนว่าจะไม่พิจารณาแล้วเรื่องการพัฒนาท่าเรือในพื้นที่ต่างๆ ที่พูดคุยกันมานานบนแผ่นดินไทย แต่จะมองไปสู่การรวมเศรษฐกิจอาเซียนและคิดแบบใหม่คือคิดว่าประเทศไทยมีแนวโน้มโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากท่าเรือน้ำลึกในฝั่งตะวันตกที่ใดมากที่สุด ก็พบว่าที่น่าจะเป็นประโยชน์การพัฒนาไทยเป็นศูนย์การการขนส่งในภูมิภาคอาเซียนมากที่สุดน่าจะเป็นที่ทวาย ซึ่งก็เป็นที่ภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องมายาวนานอยู่แล้วคืออิตาเลียนไทย ดังนั้นนโยบาย จึงชัดเจนซึ่งได้สื่อสารไปกับทางพม่าว่า ไทยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือทวายแล้วก็จะลงทุนนอกเหนือจากที่สนับสนุนเอกชนไทยไปรับงานพัฒนาตัวท่าและนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นแล้วก็จะสนับสนุนด้วยงบประมาณการลงทุนในระบบขนส่งฝั่งไทยที่จะเชื่อมโยงกับทางทวายด้วย ตรงนี้ก็เป็นนโยบายที่กำหนดมาตั้งแต่วันนั้น เดิมทีก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะสนับสนุนหรือไม่ แต่พอมาวันนี้ยิ่งพอมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
 
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า การเกิดท่าเรือทวายถือเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสิงคโปร์เพียงแห่งเดียวและแน่นอนที่สุดก็จะเกิดการแข่งขันขึ้นซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่จะทำให้อาเซียนโดยรวมเป็นศูนย์กลางการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะความกังวลส่วนหนึ่งของการใช้สิงคโปร์มาโดยตลอดคือความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาในช่องแคบมะละกาเพราะมันแคบมากจริงๆ เพียงแค่ถ้ามีเรืออับปางหรือมีการก่อการร้ายหรือเหตุการณ์ใดๆ ก็แล้วแต่มันจะทำให้เส้นทางการเดินเรือของโลกต้องชะงัก เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดก็เป็นทางเลือกและการค้าการขายระหว่างประเทศก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้วเพราะฉะนั้นน่าจะมีธุรกิจเพียงพอที่จะรองรับ แต่สิงคโปร์ก็อาจจะต้องมีการปรับตัวบ้างแต่ก็เป็นเรื่องปกติ
 
"ถ้าถามว่าช่วงนี้ใช่ช่วงเหมาะสมที่จะมาลงทุนหรือไม่ ตอบได้เลยว่ามันเหมาะสมมานานแล้วและเป็นเรื่องที่ทำมานานแล้วด้วยไม่ใช่เพิ่งเริ่มโครงการ ซึ่งเงินที่ใช้เงินในการพัฒนาก็ไม่ได้เป็นเงินรัฐบาลไทยนะ ส่วนของไทยคือส่วนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จะเชื่อมโยงกับตัวท่าเรือในฝั่งไทยเราก็ทำไว้เยอะแล้วด้วยเราก็คงจะทำต่อเนื่อง"
 
และนี่ถือเป็นความคิดเห็น ที่สนับสนุนการสร้างท่าเรือทวาย เพราะหากฟังจากความเห็นข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าไทยจะได้ประโยชน์ในหลายๆ เรื่อง แต่ในทางกลับกันในตอนที่2 เราจะมาดูถึงความคิดเห็นและประโยชน์จากฝั่งผู้ได้สัมปทานอย่างบริษัท "อิตาเลียนไทย" กันบ้าง