ชงเลิกใช้ "ใยหิน" เด็ดขาด ไม่ต้อง 5 ปี - ฟันธง ก.อุตฯ ทำผิดมติ ครม. (8 ส.ค. 55)

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (8 สิงหาคม 2555)
ชงเลิกใช้ "ใยหิน" หยุดยื้ออีก 5 ปี ฟันธง ก.อุตฯ ทำผิดมติ ครม.


แร่ใยหิน

สภาที่ปรึกษาฯ ชี้ ก.อุตฯ ทำผิดมติ ครม. เตรียมชงเลิกใยหินเด็ดขาดไม่ต้องรอ 5 ปี ชู “ไต้หวัน” ต้นแบบเลิกใช้แร่ใยหิน หลังศึกษาพบผู้ป่วยมะเร็งปอดพุ่งแรงงานเรียกร้องค่าชดเชย ด้าน สคบ.สำรวจพบฉลากแร่ใยหินยังใช้ผิดๆ ต้องเร่งแก้ไข ชี้ ศาลตัดสินยกฟ้องหลังเอกชน ร้องเลิกประกาศฉลาก 
 
ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวในการเปิดสัมมนาการติดตามความก้าวหน้าและข้อเสนอแนะ เรื่องการจัดการอันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ว่า คณะทำงานฯ ได้มีโอกาสไปศึกษาแนวนโยบายการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไต้หวัน พบว่า ไต้หวันมีเหมืองแร่ใยหิน ซึ่งผลิตใช้ในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2495-2553 และพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมาแต่ปี 2522 รัฐบาลไต้หวันจึงได้ศึกษาเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้แร่ใยหินอย่างจริงจัง โดยศึกษาจากฐานผู้ป่วยมะเร็ง พบโรคมะเร็งเยื้อหุ้มปอด (เมโสเธลิโอมา แอสเบสโตซิส) และมะเร็งปอด เกิดกับผู้ที่สัมผัสแร่ใยหินเท่านั้น โดยไต้หวันเริ่มมีผู้ใช้แรงงานเรียกร้องค่าชดเชยจากการเจ็บป่วยรายแรกในปี 2548 และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลไต้หวันจึงได้ทยอยประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2532และจะยกเลิกทั้งหมดได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ส่งผลให้ไต้หวันลดยอดนำเข้าแร่ใยหินจาก 35,000 ตันต่อปี เมื่อปี 2529 เหลือเพียง 1,500 ตันช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะทำข้อเสนอใหม่เพื่อติดตามความก้าวหน้าหลังจากมีมติครม. เนื่องจากพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรม อาจจะทำผิดมติ ครม.ที่ให้ศึกษาโทษของแร่ใยหิน ทั้งที่มีข้อสรุปวิชาการชัดเจนแล้ว และมีมติ ครม.ให้ยกเลิกการใช้ 2.จัดทำข้อสังเกตให้ภาครัฐเป็นหน่วยงานตัวอย่างที่เริ่มต้นการใช้สินค้าที่ไม่มีแร่ใยหิน เนื่องจากพบว่า ภาคเอกชนใช้เทคโนโลยีเติมสารทดแทนได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันพบว่า หน่วยงานของรัฐไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ปลอดแร่ใยหินได้ และ3.ทำข้อเสนอเพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการรื้อถอน คาดว่าจะจัดทำข้อเสนอส่งให้ครม.พิจารณาได้ในต้นเดือนกันยายนนี้

น.ส.ทรงศิริ จุมพล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจการติดฉลากในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ในเขตกทม.และปริมณฑล หลังประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2553 ในผู้ผลิตและจำหน่าย จำนวน 27 ราย พบว่า เกือบทั้งหมดประมาณ 70% มีการติดฉลากแต่ยังพบว่า ฉลากยังไม่เป็นไปตามที่กำหนด เช่น ขนาดตัวอักษร สีของตัวอักษร หรือข้อความ เป็นต้น และพบว่า มีผู้ประกอบการ 2 ราย ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว โดยสคบ.ได้เตือนและจะติดตามการปรับปรุงต่อไป ทั้งนี้ ประกาศ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากนั้น มีบริษัทเอกชนได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ว่า ให้มีการเพิกถอนประกาศเพราะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องอันตรายและทำให้สินค้าได้รับผลกระทบ ซึ่งล่าสุด ศาลได้มีคำตัดสินเบื้องต้น ว่า สคบ.สามารถดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะได้รับจากผลิตภัณฑ์ได้ เพราะเป็นอันตรายจากผลิตภัณฑ์อยู่นอกเหนือการควบคุมวัตถุมีพิษตามอำนาจของกรมอุตสาหกรรมโรงงาน ไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย