กนอ. ผุด 5 ยุทธศาสตร์ล้อมคอก 48 นิคม เจียดงบแค่พันล้านคุมมาตรฐานสิ่งแวดล้อมทั่วไทย (2 ส.ค. 55)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 2 สิงหาคม 2555
กนอ. ผุด 5 ยุทธศาสตร์ล้อมคอก 48 นิคม เจียดงบแค่พันล้านคุมมาตรฐานสิ่งแวดล้อมทั่วไทย
นางสาวกฤตยาพร ทัพภะทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้จัดทำแผนแม่บทสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555-2559 เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานให้เป็นระบบและประสานความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณ 1,141.79 ล้านบาท ขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.เพิ่มประสิทธิภาพและบทบาทการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระดับชาติ 149.08 ล้านบาท
2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการความปลอดภัยของนิคมอุตสาหกรรม 284.91 ล้านบาท
3.ยกระดับการการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 496.39 ล้านบาท 4.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 129.12 ล้านบาท และ
5.พัฒนาสมรรถนะและประสิทธิภาพองค์กรเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมฯ 82.30 ล้านบาท
แผนนี้เน้นบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานของ กนอ. เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์หรือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงพยาบาลในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยรวบรวมข้อมูลจาก
ศูนย์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และพลังงาน (SHEE Center) ที่ยังอยู่ระหว่างพัฒนา ศูนย์ข้อมูลการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างบูรณาการ (EMIC) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และศูนย์อีโคเซ็นเตอร์ในแต่ละนิคมอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน
"ขณะนี้กำลังศึกษาระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อลดภาระความยุ่งยาก รวมทั้งหาผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นโครงร่างชัดภายใน 1-2 ปีนี้ในยุทธศาสตร์ที่ 2 มีโครงการสำคัญคือการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศสำหรับศูนย์ปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม (War Room) เพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจทำนายขอบเขตและผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อมีอุบัติภัยจากสารเคมี เชื่อมต่อระบบติดตามเฝ้าระวังของโรงงานเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะ 1 ปี 2556 จะมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดูแล ระยะ 2 ปี 2557-2558 นิคม
ที่ กนอ.ร่วมดูแลจะมีข้อมูลสมบูรณ์ และปี 2559 เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นและมีคณะกรรมการ"
รวมทั้งจะตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเองทั้ง 48 แห่ง ใช้งบประมาณมากที่สุดในแผนฉบับนี้ ปีละ 46.521 ล้านบาท รวม 5 ปี 232.61 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้จัดซื้อเครื่องมือตรวจสอบด้านความปลอดภัยและมลพิษ ข้อมูลที่ได้จะส่งให้วอร์รูมด้วย ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ มาบตาพุด แหลมฉบัง บางปู และกำลังพิจารณาพื้นที่ต่อไป ด้านผู้ตรวจสอบเป็นบุคลากรในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ๆ และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ขณะที่ผู้บริหารกำลังพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมเมื่อมีศูนย์เฝ้าระวังฯมากขึ้นในอนาคต
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 มีโครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดเป็นโครงการที่ใช้งบฯมากเป็นอันดับ 2 จำนวน 225 ล้านบาท เพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิดซีซีทีวีในจุดต่าง ๆ ไว้ตรวจสอบการขนส่งวัตถุอันตรายและการจราจร
ยุทธศาสตร์ที่ 5 เน้นโครงการพัฒนาบุคลากรในแต่ละภารกิจเพื่อรองรับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่ง กนอ.ต้องการบุคลากรรุ่นใหม่มาทดแทนผู้ที่จะเกษียณ เน้นทักษะด้านเทคนิคสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านภาษามากขึ้น เพื่อทำงานแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการบริหารจัดการกับประเทศในอาเซียน และรองรับการเชื่อมโยงในภูมิภาคตามแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ด้านโลจิสติกส์ บริเวณบ้านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวาย พม่า ทั้งนี้ ยังติดปัญหาเรื่องค่าตอบแทนไม่ดึงดูดใจเท่าเอกชน
นางสาวกฤตยาพรกล่าวว่า จะเดินหน้าสื่อสารแผนแม่บทเพื่อสร้างความร่วมมือกับเอกชนและชุมชน และกำลังพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อดึงดูดใจอีกทางด้วย
นายพีระ เจริญพร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บท กล่าวว่า จากการประชุมแผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นแผนแม่บท มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากประชาชน ภาคอุตสาหกรรม องค์กรไม่แสวงกำไร และนักวิชาการ เกี่ยวกับโครงการควรมีรายละเอียดและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้น ควรยกระดับโมเดลแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสู่ระดับชาติ ทำประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตรวจสอบติดตามผล ขอบเขตการดำเนินงานควรรวมพื้นที่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมด้วย และงบประมาณน้อยเกินไป อีกทั้งยังไม่มีแผนผลักดันในทางปฏิบัติชัดเจน