สำรวจไลเคน มาตรวัดความยั่งยืนมาบตาพุด (19 ก.ค. 55)
มูลนิธิโลกสีเขียว 19 กรกฎาคม 2555
สำรวจไลเคน มาตรวัดความยั่งยืนมาบตาพุด
เรื่อง : กองบรรณาธิการโลกสีเขียว
การหายใจนับเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์ทุกคนพึงมี แต่สำหรับที่มาบตาพุด คนที่นั่นไม่เพียงแต่ต้องสูดดมอากาศปนเปื้อนมลพิษ การเข้าถึงข้อมูลด้านคุณภาพอากาศก็ยังเป็นปัญหา และบางครั้งก็ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้มาเชื่อถือได้หรือไม่
ครั้นเมื่อชุมชนจะตรวจสอบคุณภาพเอง ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง...แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียวกล่าวว่า แท้จริงแล้วมีข้อมูลบางประเภทที่อยู่รอบตัวเรา และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นั่นคือความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสามารถสะท้อนถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่
นี่เองที่เป็นแนวคิดเบื้องหลังของโครงการนักสืบสายลมมาบตาพุดของมูลนิธิโลกสีเขียว โดยล่าสุดได้จัดทำแผนที่ “มองคุณภาพอากาศมาบตาพุดผ่านไลเคน 2012” เสร็จสิ้นและเผยแพร่แล้ว และอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นแผนที่แสดงข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศฉบับประชาชนที่สำรวจโดยภาคประชาชน
ปฏิบัติการสำรวจไลเคนเพื่อจัดทำแผนที่ครั้งนี้ มูลนิธิโลกสีเขียวจับมือกับเครือข่ายนักสืบสายลมระยอง ได้แก่กลุ่มโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันสำรวจไลเคนซึ่งเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศ โดยสำรวจคุณภาพอากาศทั้งในเขตควบคุมมลพิษที่เต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมเปรียบเทียบกับคุณภาพอากาศตามแนวใกล้ชายฝั่งระยองที่อยู่นอกเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 164 จุด ใช้ระยะเวลาสำรวจ 8 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม 2554 ถึงมีนาคม 2555
เหตุผลที่สามารถใช้วิธีการสังเกตไลเคนอ่านคุณภาพอากาศได้ นั่นเพราะไลเคนชนิดต่างๆ มีความทนทานต่อระดับมลภาวะไม่เท่ากัน ดังนั้นการสำรวจสังคมไลเคนว่าพบกลุ่มใดมากน้อยแค่ไหน จึงบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศในพื้นที่นั้นได้ว่าดีหรือไม่ดีเพียงใด
การใช้ไลเคนเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศ ไม่เพียงแต่เป็นเทคนิคที่ง่าย ราคาถูก ทุกคนสามารถสำรวจได้ด้วยตนเอง ขอแค่มีความรู้และทักษะในการจำแนกชนิดพันธุ์ไลเคน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น จุดเด่นของการสำรวจไลเคนอีกอย่างคือ ให้ภาพรวมของคุณภาพอากาศในพื้นที่และสะท้อนผลกระทบที่สะสมจากกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่เพียงการตรวจวัดคุณภาพอากาศเฉพาะเวลาที่เดินเครื่องตรวจจับสารพิษเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การสำรวจไลเคนก็มีข้ออ่อนที่ว่าไม่สามารถระบุชนิดมลพิษในพื้นที่นั้นได้ เว้นแต่นำไลเคนไปตรวจหาสารพิษในห้องแลป
สำหรับผลการสำรวจคุณภาพอากาศผ่านไลเคนในจังหวัดระยอง พบว่ามีคุณภาพอากาศค่อนข้างดี ยกเว้นในเขตอุตสาหกรรมและเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น โดยบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรม IRPC จัดว่ามีอากาศแย่ถึงแย่มาก ซึ่งกลางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น ไม่พบไลเคนเลย อย่างไรก็ดี คุณภาพอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมกับนอกนิคมอุตสาหกรรม พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แทนที่จะค่อยๆ แตกต่างเป็นลำดับ นั่นเพราะบริเวณชายฝั่งมีการระบายอากาศที่ดี มีทั้งลมชายฝั่งและลมมรสุมตามฤดูกาลอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีดงไม้หนาทึบหรือแหล่งน้ำเป็นแนวกั้นกันชน ก็จะมีไลเคนขึ้นดีกว่าพื้นที่ที่มีแนวต้นไม้กั้นบางๆ ระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมกับอีกด้านหนึ่ง
ดร. สรณรัชฎ์ กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราเป็นตัวสะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน สะท้อนภาพใหญ่ของวิถีชีวิตในสังคมได้ โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนวงจรต่างๆ ในระบบนิเวศให้มีประสิทธิภาพ ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตที่เรากำลังดำรงอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนหรือไม่ ถ้ายั่งยืนจริงเราก็ต้องอยู่ร่วมกับชีวิตอื่นๆ ได้
“หากถามว่ามาตราฐานที่ดีคืออะไร ก็คือความปกติสุขที่ควรเป็นตามธรรมชาติ ตอนนี้ในระยองยังมีคุณภาพอากาศที่ดี ถ้ามองดูจากไลเคน จังหวัดระยองเป็นเหมือนผ้าที่โดนบุหรี่จี้เป็นรอย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถจัดการกับรอยบุหรี่นี้ได้ สามารถควบคุมมลพิษได้ ไลเคนก็จะกลับมา เพราะแหล่งพันธุกรรมและบ้านของพวกมันยังอยู่ ความปกติสุขของไลเคนระยองก็จะกลับมา”
...และนั่นก็อาจหมายถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการหายใจและความปกติสุขของคนในเขตอุตสาหกรรมระยองจะฟื้นคืนกลับมา