วิจัยพิษฝังลึก 'โรงกลั่นน้ำมัน' (6 ก.ค. 55)
คมชัดลึก 6 กรกฎาคม 2555
วิจัยพิษฝังลึก'โรงกลั่นน้ำมัน'
ทีมข่าวรายงานพิเศษ
บึ้ม!...เสียงระเบิดดังสนั่นย่านใจกลางเมืองสุขุมวิท ชาวบ้านวิ่งหนีตายกันไปคนละทิศละทาง โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเสียงนั้นเกิดจากอะไร เพียงแต่วูบแรกที่ได้ยินเป็นเสียงดังกึกก้องเหมือนฟ้าสั่น...แผ่นดินสะเทือน เพลิงไหมลุกโชน ควันดำปกคลุมท้องฟ้าไปชั่วขณะหนึ่ง!!
แม้ผู้บริหารของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะรีบออกมาปลอบขวัญว่า เป็นเพียงอุบัติเหตุที่หอกลั่นแยกน้ำมันเท่านั้น หลังเกิดเพลิงไหม้ช่วงเช้าเวลา 07.30 น. ผ่านไปเพียง 1 ชั่วโมงสามารถคุมเพลิงได้ทั้งหมด ด้านกรมควบคุมมลพิษให้สัมภาษณ์สอดคล้องกันว่า จากการตรวจสอบสารพิษตกค้างในอากาศและในน้ำ ไม่พบว่ามีสารอันตรายเกินระดับมาตรฐาน ขอให้ประชาชนวางใจกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้...
แต่ความเป็นจริง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เขตบางจาก พระโขนง คลองเตย หรือใกล้เคียงยังจดจำเสียงระเบิดของวันนั้นได้อย่างแม่นยำ ควันพิษสีดำล่องลอยพุ่งสูง แม้ว่าอยู่ห่างจากจุดที่เกิดเหตุ 50 กิโลเมตรยังมองเห็นได้ชัดเจน ทำให้หลายคนเชื่อว่ายังคงมีสารพิษจากการเพลิงไหม้ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน และ 50 ปีที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันบางจากสร้างมลพิษอะไรให้พวกเขาบ้าง ?
ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูป 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นทั้งหมด 7 แห่ง เช่น บริษัทไทยออยล์, เอสโซ่, ปตท. ฯลฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี มีเพียงโรงกลั่นของบางจากเท่านั้นที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งมีผลผลิตร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำมันทั้งหมด
จากข้อมูลงานวิจัย "มะเร็งอันตรายจากอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี" มูลนิธิบูรณะนิเวศ เรียบเรียงมาจากวิทยาลัยการแพทย์โรเบิร์ตวูดจอห์นสัน ระบุว่า ขั้นตอนการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลของโรงกลั่นน้ำมันนั้น ทำให้เกิดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด หากสารพิษทั้ง 2 ชนิดทำปฏิกิริยารวมกันอาจเกิดเป็น "ฝนกรด" ขึ้นได้ หากฝนกรดจับตัวรวมกับหมอกจะก่อให้เกิดหมอกควันพิษ ทำอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ หากฝนกรดตกลงมาในพื้นดิน จะทำให้พืชเติบโตช้า เมื่อไหลลงแหล่งน้ำ จะทำให้สัตว์น้ำตาย
"ฝนกรด" คือสาเหตุหลักทำให้พื้นที่ป่าในยุโรป อเมริกา แคนาดา และพื้นที่อื่นๆ ในโลก ได้รับความเสียหาย ขณะนี้รัฐบาลทั่วโลกบังคับให้โรงกลั่นน้ำมันติดตั้งอุปกรณ์บำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยออกมาทางปล่องไฟ รวมถึงวาล์วที่ควบคุมการรั่วไหล และบังคับให้มีระบบจัดการไอระเหยในถังเก็บน้ำมันทั้งบนบกและในทะเล ฯลฯ
รศ.ดร.สุปราณี แก้วภิรมย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้ทำวิจัยเรื่อง "ภาวะมลพิษจากโรงกลั่นน้ำมัน" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ควรเรียกว่า "หอกลั่นน้ำมันระเบิด" ไม่ใช่ "โรงกลั่นน้ำมันระเบิด" เพราะโรงกลั่นน้ำมันคือพื้นที่ทั้งหมดรวมถึงคลังเก็บน้ำมันด้วย ถือเป็นโรงงานก่อให้เกิดมลพิษสูง ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับปี พ.ศ. 2545 เนื่องจากขั้นตอนการกลั่นน้ำมัน ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์หลายอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ง่าย สรุปว่านอกจากประโยชน์มหาศาลที่ได้จากน้ำมันแล้ว ในด้านลบโรงงานเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะมลพิษร้ายแรงด้วย เช่น
"มลพิษทางอากาศ" ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง แก๊สชนิดต่างๆ ฝุ่นละอองมลพิษที่โรงกลั่นปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้แก่ แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อปล่อยสู่อากาศจะทำปฏิกิริยากับไอน้ำกลายเป็นกรดซัลฟิวริกและเกลือซัลเฟต เป็นอันตรายต่อปลา สัตว์น้ำ พืชน้ำ และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร เมื่อมนุษย์กินปลาหรือสัตว์น้ำเหล่านั้นเข้าไปจะได้รับพิษด้วย นอกจากนี้ยังมีแก๊สไนโตรเจนออกไซด์ ทำให้ความร้อนบนผิวโลกถ่ายเทขึ้นสู่ระดับสูงที่เย็นกว่าได้ลำบาก อุณหภูมิบนผิวโลกจึงร้อนขึ้น ถือเป็นสาเหตุปฏิกิริยาเรือนกระจกทำให้โลกร้อนด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้เกิดปฏิกิริยาโอโซนซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของคน และปล่องของโรงกลั่นน้ำมันยังปล่อยฝุ่นละอองออกมา ฝุ่นขนาดเล็กเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์มากสุด เนื่องจากเล็กพอที่จะผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และเข้าสู่ปอด ทำให้เป็นมะเร็งปอดได้
"มลพิษทางน้ำ" น้ำทิ้งจากโรงกลั่นน้ำมันนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1.น้ำทิ้งที่ไม่มีน้ำมันเจือปน ส่วนใหญ่ระบายสู่บ่อพักน้ำก่อนระบายออกระบบน้ำภายนอก 2.ทิ้งมีน้ำมันเจือปน ต้องผ่านขั้นตอนการบำบัดทางกายภาพ ก่อนผ่านเข้าสู่ระบบบำบัดชีวภาพ และลงสู่บ่อพักน้ำ ก่อนระบายออกสู่ภายนอก น้ำเสียจากโรงกลั่นน้ำมันส่วนใหญ่มีมลพิษเจือปนสูง รวมถึงสารโลหะหนัก เช่นตะกั่ว ทองแดง เหล็ก ปรอท นิกเกิล แคดเมียม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสารพิษอื่นๆ เช่น ดีดีที ฟีนอล สารก่อมะเร็งต่างๆ เป็นต้น
"กากของเสีย" ของโรงกลั่นน้ำมี 3 ประเภท คือ 1.สารเร่งปฏิกิริยาที่ใช้แล้ว ต้องกำจัดโดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น 2.กากตะกอนปนเปื้อนน้ำมัน จากก้นถังน้ำมันดิบและระบบบำบัดน้ำเสีย สามารถกำจัดโดยใช้เตาเผา แต่ก่อนเผาต้องแยกน้ำและน้ำมันออกจากกากของเสียก่อน เมื่อเผาแล้วจะกลายเป็นขี้เถ้า อาจฝังกลบหรือส่งให้ศูนย์บริการกำจัดกากอุตสาหกรรม 3.ขยะมูลฝอยทั่วไป ส่วนใหญ่จะส่งให้เทศบาลรับไปจัดการ
รศ.ดร.สุปราณี แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า โรงกลั่นน้ำมันถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่ก็ปลดปล่อยสารพิษอันตรายออกมาเช่นกัน ดังนั้น วิธีการจัดการที่ดีคือสร้างมาตรฐานควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด
"สำหรับอุบัติเหตุที่หอกลั่นน้ำมันนั้น ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่น่าทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้มากนัก เพราะเป็นกระบวนการทำให้น้ำมันร้อนจัดกลายเป็นไอ ไม่ได้มีการใช้สารเคมีอันตราย แต่ถ้าเป็นอุบัติเหตุในจุดปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน จะน่ากลัวมากกว่าเพราะต้องใช้สารเร่งปฏิกิริยาจำพวกโลหะหนัก หากรั่วไหลออกมาก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาว และที่ควรตรวจสอบเพิ่มเติมคือมลพิษทางน้ำ เพราะการใช้น้ำผสมโฟมฉีดดับไฟจำนวนมหาศาลนั้น โฟมดับเพลิงผสมสารเคมีเข้มข้นหลายชนิด เมื่อตกลงสู่พื้นดินหรือทางน้ำไหล ต้องดูว่ามีระบบบำบัดน้ำโฟมเหล่านี้ก่อนปล่อยสู่ลำน้ำสาธารณะหรือไม่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงกลั่นบางจากควรเริ่มสังเกตได้แล้วว่า น้ำกินน้ำใช้ มีรสกลิ่นหรือสีผิดปกติหรือเปล่า"
นักวิชาการข้างต้น กล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า การย้ายโรงกลั่นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง แต่วิธีแก้ปัญหาอย่างถูกต้องคือ ชุมชนอาศัยอยู่รอบข้างโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งต้องเฝ้าระวังตัวเอง มีความกระตือรือร้นสังเกตสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการระบายมลพิษ และการจัดการของเสียอุตสาหกรรมหลายฉบับที่บังคับใช้กับโรงงานเหล่านี้ มีบทลงโทษรุนแรง ภาคประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบว่าโรงงานเหล่านี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าชุมชนเข้มแข็งเป็นหูเป็นตาช่วยกันสอดส่องดูแล ป้องกันไม่ให้โรงกลั่นน้ำมันทำผิดกฎหมาย ภัยอันตรายต่างๆ จะเกิดขึ้นน้อยลง