เสนอแผนเมืองอุตฯเชิงนิเวศ (23 มี.ค. 57)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 23 มีนาคม 2557
เสนอแผนเมืองอุตฯเชิงนิเวศ

    กรมโรงงานฯ ทุ่ม 60 ล้านบาท จัดทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมภายใน 5 ปี ใน 11 จังหวัด ครอบคลุมทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่และเก่า พร้อมกับจัดโซนนิ่งของแต่ละประเภทอุตสาหกรรมตั้งอยู่ด้วยกัน เพื่อง่ายต่อการจัดการมลพิษ โดยชูระยอง และชลบุรี เป็นฐานผลิตรถยนต์ และปราจีนบุรี เน้นอิเล็กทรอนิกส์

    นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในปีนี้กรอ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อมาจัดทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ควบคู่กับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระยะ 5 ปี(2557-2561) ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครราชสีมา ขอนแก่น ลำพูน และสงขลา ที่จะเป็นการศึกษาจัดทำแผนการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม ตามกรอบยุทธศาสตร์ของประเทศ  ให้เกิดเป็นแผนปฏิบัติเชิงบูรณาการ

    "มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) ทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยจะให้ความสำคัญด้านการเพิ่มผลผลิต การแข่งขันเชิงธุรกิจทางการค้าควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้ 5 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม กายภาพ และการบริหารจัดการ"

    ทั้งนี้ มีองค์ประกอบหลัก คือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดหรือไม่มีการปล่อยมลพิษ (Zero Emission) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันประหยัดการใช้พลังงานและมีการแลกเปลี่ยนของเสีย นำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยการใช้หลัก 3R คือ การลดหรือใช้น้อย (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรรูปมาใช้ใหม่ (Recycle) สร้างพื้นที่ให้เกิดสังคมของการใช้วัสดุหมุนเวียน (Material-cycling Society) และสังคมการลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน(Low Carbon Society) และสังคมของการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption) และการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ในการจัดการทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่ในทุกภาคส่วน

    นายณัฐพลกล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น จังหวัดปราจีนบุรี นครราชสีมา เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวออกไปตั้งโรงงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมที่ได้มีการพัฒนามานานแล้ว อย่าง ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ และอยุธยา ที่สำคัญจะเป็นการจัดโซนนิ่งของแต่ละประเภทอุตสาหกรรมเข้าไปตั้งในพื้นที่ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ปราจีนบุรี ระยอง หรือชลบุรี เหมาะแก่การเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่อยุธยา ปราจีนบุรี เหมาะแก่การเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

    "การดำเนินงานจัดทำแผนแม่บทในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากพื้นที่อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ การดูแลปัญหาต่างๆจะต้องรัดกุมกว่า อย่างกรณีการจะมีโรงงานเข้าไปตั้งใหม่ จะได้รับการต่อต้านค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมที่ตั้งอยู่นานแล้ว ประชาชนทราบอยู่แล้วว่าเป็นเขตอุตสาหกรรม แรงต่อต้านจึงน้อยกว่า เป็นต้น ดังนั้น วิธีการจัดทำแผนจึงไม่เหมือนกัน"

    ทั้งนี้ เพื่อให้การผลักดันแผนแม่บทให้เป็นรูปธรรมดังกล่าวมากขึ้น ล่าสุดทางกรอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโออยู่)กับทางผู้ประกอบการสวนและเขตอุตสาหกรรม ใน 6 จังหวัด 9 พื้นที่ พร้อมผู้ประกอบการ 54 โรงงาน เป็นการนำร่องแล้ว ที่จะแสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแล้ว

    ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ของกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็น 1 ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้ทางหนึ่ง โดยตั้งเป้าหมายในปี 2561 จะส่งเสริมพัฒนาให้สถานประกอบการภาคการผลิตจำนวน 3.5 หมื่นราย ต้องมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสิ้น 1.1433 หมื่นราย แบ่งเป็นระดับ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว จำนวน 6.538 พันราย ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว จำนวน 2.752 พันราย ระดับ 3 ระบบสีเขียว จำนวน 2.093 พันราย  และระดับ 4 วัฒนธรรมสีเขียว จำนวน 50 ราย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,933 วันที่ 23 - 26  มีนาคม พ.ศ. 2557