มาบตาพุดศึกษา























มาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่มีการปนเปื้อนสารมลพิษในสิ่งแวดล้อมและก่อผลกระทบ ทางสุขภาพที่รุนแรงที่สุดของประเทศเช่นเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทำให้ภาครัฐและเอกชนที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่นี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงและเพิกเฉย ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดมานานเกือบสามสิบปี โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการลงทุนของภาคเอกชนและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เหนือปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม ทำให้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่นี้ไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่อาจคาดเดาได้ว่า ความรุนแรงของการสะสมของสารมลพิษในสิ่งแวดล้อม ความเจ็บป่วยของประชาชนจากมลพิษต่างๆ ความแตกต่างแปลกแยกทางสังคม ท่ามกลางการขยายตัวของอุตสาหกรรมอันตรายอย่างไร้ขอบเขตจำกัดจะนำไปสู่ผล กระทบในอนาคตอย่างไรต่อไป


การติดตามปัญหาและการแสวงหาหนทางที่จะลดผลกระทบหรือป้องกันความ รุนแรงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศและศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะ ศึกษา จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ญี่ปุ่น (Open Research Center for Minamata Studies, Kumamoto Gakuen University: ORCM) ร่วมกับนักวิชาการของไทยและเครือข่ายประชาสังคมของไทยหลายองค์กร เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาองค์ความรู้และแนวทางการสื่อสารความ เสี่ยง (Risk Communication) ที่หวังว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมความเข็มแข็งแก่ภาคประชาชนในกระบวนการแก้ ปัญหาระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรม เพื่อลดความขัดแย้งและให้ชุมชนสามารถอยู่อาศัยในท้องถิ่นของตนได้บนพื้นฐาน ของการได้รับการเคารพสิทธิ ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบที่เหมาะสมจากภาคอุตสาหกรรม ผู้ก่อมลพิษ


ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษาก่อตั้งขึ้นเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยคุ มาโมโตกักกุเอ็ง จังหวัดคุมาโมโต  เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 โดย นพ. มาซาซูมิ ฮาราดะ ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อมาเดือนสิงหาคมของปีเดียวกันได้เปิดศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษาภาคสนาม ขึ้นอีกหนึ่งแห่งที่เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต  ซึ่งอยู่ภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นถิ่นกำเนิดโรคมินามาตะหรือโรคจากพิษปรอทเมื่อปลายทศวรรษของพุทธ ศักราช 2490  แพทย์ฮาราดะและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการให้ความ ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมินามาตะและพิสูจน์ว่าสารปรอทที่สะสมในตัวปลาและถ่ายทอด สู่มารดาที่ตั้งครรภ์เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเกิดมาพิการ (Congenital Minamata disease) ของการเกิดโรคมินามาตะ สารปรอทเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่ง หนึ่งชื่อ บริษัทชิสโสะ ปล่อยลงอ่าวมินามาตะโดยไม่ผ่านการบำบัด ทำให้ประชาชนรอบอ่าวมินามาตะและทะเลชิรานุยราวสองแสนคนที่ได้รับผลกระทบจาก สารปรอท มีประชาชนนับหมื่นคนที่เจ็บป่วยรุนแรงและต้องเสียชีวิตไปด้วยโรคมินามาตะ


การสื่อสารความเสี่ยงเป็นทั้งทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติ  ปัจจุบันมีการนำแนวทางนี้ไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการดำเนิน นโยบายของรัฐ การลงทุน และปัญหาอื่นๆ ของสังคม บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ใช้กระบวนการการสื่อสารความเสี่ยงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิด จากการพัฒนาอุตสาหกรรม


แนวทางนี้เน้นกระบวนการพูดคุยและเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความ เห็นระหว่างกันของผู้ประเมินความเสี่ยง ผู้จัดการความเสี่ยง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ การพูดคุยตามกระบวนการนี้ต้องมีความต่อเนื่องเพื่อจะได้ร่วมกันวิเคราะห์ ปัญหาและความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันได้ อย่างไรก็ดี การสื่อสารความเสี่ยงที่ดีและนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันได้จริง ควรมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

 

  • ขั้นตอนการพูดคุย การเจรจาและการเผยแพร่ข้อมูล ต้องดำเนินไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
     
  • มีความเชื่อถือ ไว้วางใจ และร่วมมือกันได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ประกอบการที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ผู้ประกอบการทั่วไปที่เป็นเข้าร่วมกระบวนการ หน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้แทนชุมชน รวมถึงนักวิชาการและฝ่ายอื่นๆ
     
  • ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ความคิดเห็น หรือแนวการทำงาน
     
  • มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างเท่าเทียมตลอดกระบวนการ ข้อมูลที่ให้จะต้องถูกต้อง ชัดเจน และใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงได้ดี
     
  • มุ่งไปที่การเรียนรู้อันก่อเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
     
  • มีความพร้อมของทุกฝ่ายที่จะทบทวนและปรับปรุงแก้ไขทั้งในส่วนที่รับผิดชอบและในภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้น
     
  • มีการติดตามให้เกิดความก้าวหน้าขององค์ประกอบข้างต้นทั้งหมดที่กล่าวมา เพื่อให้กระบวนการและผลสรุปที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาจริง