เมื่อแม่บ้านญี่ปุ่น "แยกขยะ"


(ภาพ: Facebook Jankyo-Pariya Ratanayotha)


เมื่อแม่บ้านญี่ปุ่น "แยกขยะ"
ที่มา: Facebook Jankyo-Pariya Ratanayotha

(1)

การแยกขยะเป็นวัฒนธรรมและเข้มแข้งมาก

เมื่ออพยพเข้าไปพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เราจะได้รับเอเลี่ยนการ์ดและคู่มือพลเมือง สิ่งแรกที่พลเมืองเอเลี่ยนต้องเริ่มทำก่อนอื่นใดทั้งหมดคือศึกษาคู่มือการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ฉบับสำหรับคนต่างด้าว ในเอกสารเล่มโตมีทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษนั้น ระบุกฎระเบียบหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติตามในการเป็นพลเมืองร่วมกับเจ้าของประเทศ เช่น การไปติดต่อธุระกับหน่วยราชการ การแจ้งเกิด การไปโรงพยาบาล ขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ต้องเตรียมสิ่งของอะไรไว้หยิบฉวยยามฉุกเฉินบ้าง สถานที่นัดพบในยามฉุกเฉิน ฯลฯ มากมายเหลือคณนา

ในฐานะแม่บ้าน เนื้อหาวัฒนธรรมที่ต้องเร่งเข้าใจเพื่อนำไปปฏิบัติคือ การทำความเข้าใจเรื่องขยะ ศึกษาว่าขยะทั้งหมดมีกี่ประเภทและประเภทต่างๆ ประกอบด้วยข้าวของชนิดไหนบ้าง รายละเอียดปลีกย่อยเข้าข่ายยุบยิบยุบยับ เพราะเราไม่สามารถทิ้งขยะได้ทุกวัน ในหนึ่งสัปดาห์จะมีรถเก็บขยะตามประเภทตามวันกำหนดไว้เท่านั้น แต่ละเขตอาจจะกฎระเบียบแตกต่างกัน เช่น กำหนดวันที่ทิ้งขยะแต่ละประเภท หรือความยืดหยุ่นในการทิ้งพลาสติกชิ้นเล็กให้รวมเป็นขยะเผาไหม้ได้ 

รถเก็บขยะในญี่ปุ่นคันเล็กกว่ารถเก็บขยะสีเขียวตุ่นๆ ในบ้านเรา และไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์โชยฉุนแผ่รัศมีรอบตัวรถ ตรงกันข้ามราวหลังเท้ากับหน้ามือ รถเก็บขยะเขาสะอาดสะอ้าน แม้จะเป็นรถเก็บขยะเปียกขยะเผาไหม้ได้ก็ตามที มิพักต้องพูดถึงรถเก็บขยะพลาสติก รถเก็บขยะกระดาษซึ่งเป็นรถบรรทุกไม่มีหลังคาคันเล็กๆ หรือรถเก็บขยะรีไซเคิล พวกขวดน้ำ หรือขวดแก้ว ซึ่งมีรถแต่ละคันไว้เก็บขยะแต่ละประเภท รถทุกคันสะอาดเรี่ยม บางคันตกแต่งด้วยการ์ตูนรูปเด็ก รูปหมา รูปดอกไม้ แลดูน่ารักราวกับไม่ใช่รถเก็บขยะ 

เจ้าหน้าที่มาเก็บขยะรึก็ทะมัดทะแมงในชุดหมีสะอ้าน หนึ่งคันมาแค่สองคน คนขับและคนยกขยะเท่านั้น และใช่ว่าเขาจะหลับหูหลับตาโยนทุกถุงขึ้นรถ แต่จะใช้สายตาอันชำนาญงานกวาดมองสำรวจราวกับเครื่องสแกนมองทะลุถุง ถ้าถุงไหนมีของผิดประเภทปะปนมา นอกจากจะไม่รับขึ้นรถเก็บขยะอันสะอาดสะอ้านไร้กลิ่นแล้ว เขายังเอาสติกเกอร์มาแปะถุงด้วยว่า ‘ไม่แยกขยะ’ ให้เจ้าของถุงได้อายเพื่อนบ้านกันไป

ฝรั่งที่ไปทำมาหากินอยู่ญี่ปุ่นระยะยาวเป็นต้องบ่นอุบ เมื่อเจอแหตาถี่ยิบของประเทศที่มีระบบการทิ้งขยะอันหยุบหยับหยุมหยิมและยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ถ้าใครทิ้งขยะผิดวันหรือแยกขยะไม่ดี ไม่ต้องถึงมือเจ้าหน้าที่คนเก็บขยะหรอก แต่เจ้าของบ้านเช่าจะเป็นคนตรวจงานก่อน 

เจ้าของหรือคนดูแลบ้านเช่าส่วนใหญ่มักเป็นคนแก่ และไม่เคยเชื่อใจว่าไกจิน หรือคนต่างชาติจะแยกขยะได้ถูกต้อง และจะทิ้งขยะตรงวันเหมือนนิฮงจินที่ฝึกกันมาอย่างดีตั้งแต่เด็ก เจ้าของบ้านหรือผู้ดูแลเหล่านั้นก็มักจะสอดและส่องอย่างเป็นรูปธรรม สายตาอันแหลมคมจะคอยจับจ้องถุงขยะที่เหล่าเอเลี่ยนถือไปวางในคอกขยะของแต่ละตึก

เอเลี่ยนทั้งหลายจึงเกิดความรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ มีความผิดในข้อหาอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการแยกขยะขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแม่บ้านมือใหม่จะแยกตามประเภทที่ต้องทิ้งรายวันก่อน เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

 

(2)


"...อยู่บ้านเราเก็บขายเป็นของเก่าได้เงินมาซื้อลูกอมให้ลูกกิน

แต่ที่ญี่ปุ่นยังจะต้องเสียเงินค่าทิ้งขยะอีก..."

ขยะเปียก หรือขยะเผาไหม้ได้ ทิ้งได้อาทิตย์ละสองวัน เขตที่ฉันอยู่รถขยะเปียกมารับทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ขยะเปียกก็มีของสด ของกิน ผัก อาหารเหลือกิน ที่น่ารักมากคือมันเป็นขยะเปียกที่ห้ามเปียก ห้ามแฉะ เพราะทิ้งได้เฉพาะผักของเหลือแห้งๆ อย่าง หัวปลา กากตะไคร้ ใบกะหล่ำ เป็นต้น กฎเหล็กคือหากมีน้ำแกงเหลือให้เททิ้งรีดทิ้งให้เหลือแต่กาก ห้ามทิ้งของเหลวแฉะๆ ลงไปในถุง 

ขยะเปียกต้องทิ้งลงถุงพลาสติกชนิด ‘burnable’ (ซึ่งเป็นทั้ง unburnable ไปด้วยในตัว) ที่ทางการจัดทำขึ้นมีขายตามห้างตามร้านค้าทั่วไป ใบละ ๑๐ เยนขนาดบรรจุ ๕ ลิตร จนถึงใบละ ๔๐ เยนแล้วแต่ละขนาด และมีถุงขยะประเภทอื่นๆ ให้ซื้อหามาใช้ให้ถูกต้องกับชนิดของขยะ

ขยะเผาไหม้ได้ ไม่ใช่มีแค่เศษอาหาร แต่รวมไปถึงก้นบุหรี่ เศษกระดาษชิ้นเล็กๆ เศษไม้ชิ้นเล็กๆ ชุดชั้นในเก่า เสื่อตาตามิ พวกข้าวของที่ทำจากไม้หรือวัสดุธรรมชาติและมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป 

ขยะพลาสติก ถุงพลาสติกที่ใส่ของกินของใช้ ทิ้งได้อาทิตย์ละหนึ่งครั้งในวันศุกร์ ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ใส่ขยะพวกถุงพลาสติกเล็กถุงน้อยได้เลย ถ้ามีคราบสกปรกก็เปิดก๊อกให้น้ำไหลลาดล้างคราบเหนอะหนะออกก่อน 

โดยทั่วไปกล่องพลาสติกที่ใส่อาหาร ขนม โยเกิร์ต หรือข้าวของอื่นๆ จะมีสัญลักษณ์ว่าเป็นขยะพลาสติกระบุที่ตัวกล่อง ส่วนฝาที่เป็นกระดาษฟอยล์ก็จะมีสัญลักษณ์อีกอย่าง ให้แยกทิ้ง และที่สำคัญ พลาสติกก็คือพลาสติก ห้ามเจือปนกระดาษ หรือขยะชนิดอื่น

ขยะเผาไม่ได้ อย่างพวกแบตเตอรี่ ขวดสเปรย์ ร่มเก่าพัง จักรยานเด็ก ตุ๊กตาหมี ไม้แบต ไม้เทนนิส เบ็ดตกปลา กรรไกรเก่า หม้อ กระทะ กระเป๋าเก่า รองเท้าหนัง เตาปิ้งขนมปัง ฯลฯ และถ้าด้านใดด้านหนึ่งของขยะใหญ่กว่า ๕๐ เซนติเมตรก็จะกลายเป็นประเภทขยะชิ้นใหญ่ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมการทิ้ง 

อยู่บ้านเราเก็บขายเป็นของเก่าได้เงินมาซื้อลูกอมให้ลูกกิน แต่ที่ญี่ปุ่นยังจะต้องเสียเงินค่าทิ้งขยะอีก!

ขยะขนาดใหญ่ เป็นขยะที่ด้านใดด้านหนึ่งของขยะกว้างเกินกว่า ๕๐ เซนติเมตร แต่ใหญ่ไม่เกิน ๒ เมตร ซึ่งต้องหนักไม่เกิน ๑๐๐ กิโลกรัม พวกที่ตกในข่ายนี้ก็มี จักรยานล้อเดียว โทรทัศน์ เครื่องเสียง เครื่องคาราโอเกะ เตาอบ เตาไมโครเวฟ เครื่องล้างจาน ถังแก๊ส เครื่องพิมพ์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ฯลฯ เวลาจะทิ้งต้องไปซื้อคูปองทิ้งขยะใบละ ๕๐๐ เยนต่อการทิ้งหนึ่งชิ้น และต้องโทรนัดบริษัทจัดการขยะล่วงหน้า 

ขยะขนาดใหญ่พิเศษ ก็คือพวกที่ใหญ่กว่าขยะขนาดใหญ่ ได้แก่ ตู้เสื้อผ้า ตู้หนังสือ ชั้นวางของ โซฟา โต๊ะทำงาน เปียโน ออร์แกน อ่างอาบน้ำ เคาน์เตอร์อ่างล้างจาน เตียงนอน ฯลฯ ค่าธรรมเนียม ๑,๐๐๐ เยนต่อชิ้น

ขยะรีไซเคิล เป็นขยะหยุมหยิมเรื่องมากที่สุด ทำเอาแม่บ้านเอเลี่ยนมือใหม่สับสนมึนงงด้วยความไม่รู้ภาษา ต้องหมั่นศึกษาให้เข้าใจราวกับนักศึกษาลงเรียนวิชาเรียนภาคบังคับ แถมสองอาทิตย์รถรับขยะรีไซเคิลถึงจะมาครั้งหนึ่ง เฉพาะวันศุกร์เว้นศุกร์เท่านั้น ถ้าไม่รู้และไม่แยกทิ้ง ขยะก็กองท่วมบ้าน แต่ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างที่ขยะพวกขวดน้ำ กระป๋องน้ำอัดลม มีถังตั้งตามหน้าร้านค้า หรือในสถานีรถไฟให้ทิ้งได้สะดวก

เย็นวันพฤหัส เจ้าหน้าที่จะนำกล่องพลาสติกสีเหลือง สีฟ้ามาวางไว้ตามจุดรับขยะ เพื่อให้ชาวบ้านนำขวด กระป๋อง มาแยกทิ้ง ส่วนแม่บ้านไทจินไม่เคยจำได้เลยว่ากล่องสีไหนสำหรับกระป๋อง กล่องไหนสำหรับขวดแก้ว ขวด PET เวลาจะทิ้งก็มองสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้วก็วางตามๆ เขาไป

ขยะรีไซเคิลของประเทศอื่นๆ อาจแยกแค่กระดาษ เหล็ก อลูมิเนียม ขวดพลาสติก แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศนี้ ประเทศที่ฝรั่งตะวันตกยังบ่นอุบว่าแยกย่อยได้หยุบหยับ แต่ละชนิดก็ต้องจัดเก็บเพื่อทิ้งต่างกันไป อย่างเช่น หนังสือการ์ตูน นิตยสาร พวกกระดาษทั้งหลายก็ต้องวางเรียงซ้อนเป็นตั้งๆ แล้วผูกด้วยเชือกให้เรียบร้อย เสื้อผ้าเก่าๆ สภาพดีก็ทำเหมือนกระดาษคือพับ วางซ้อนขึ้นแล้วมัด โดยไม่ต้องใส่ถุง ส่วนเศษกระดาษหรือกล่องกระดาษเล็กๆ ก็ใส่ถุงกระดาษรวมกันไว้ 

กฎเหล็กสำหรับการทิ้งขยะพวกกระดาษและเสื้อผ้าคือห้ามทิ้งวันที่ฝนตก และประเทศที่เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่นี้มีฝนตกแทบทุกวัน เวลาจะทิ้งขยะรีไซเคิลบางประเภทก็ต้องทำเหมือนเวลาซักผ้า คือ เปิดดูเว็บไซต์พยากรณ์อากาศไปด้วย 

ล้ำเลิศยิ่งนัก

 

(3)

"...เหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้าก็บอกให้รู้ว่ามันไม่ใช่ระเบียบวินัยอะไรเลย

แต่อยู่ที่สำนึกข้างในอันเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญต่างหาก พวกเขาไม่ได้ทำเพราะเกรงจะขัดต่อระเบียบบ้านเมือง

แต่พวกเขาทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ควรทำและต้องทำ

กฎระเบียบหลายอย่างผสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการใช้ชีวิต
..."

ปกติแล้วข้างฉลาก ข้างขวด ข้างถุง หรือข้างซองของทุกผลิตภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นจะมีสัญลักษณ์ของขยะ เช่น กระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม ฯลฯ เพื่อให้คนทิ้งแยกจะทิ้งขยะตามเครื่องหมายกำกับข้างขวดได้

กล่องนม จัดเป็นขยะประเภทรีไซเคิล ก็ต้องตัดแผ่ออกให้เป็นแผ่นและล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แยกประเภทไว้ ซึ่งแตกต่างจากล่องน้ำผลไม้ซึ่งจะมีสัญลักษณ์อีกอย่าง แม้ว่าดูจากภายนอกหรือว่าตัดแผ่จนแบนแล้ว กล่องนมกับกล่องน้ำผลไม้ดูไม่มีอะไรต่างกันเลย แต่เมื่อดูจากสัญลักษณ์ข้างกล่องก็จำเป็นต้องแยกกองออกจากกล่องนม

ลูกชายฉันดื่มนมวัวสดยี่ห้อกูลิโกะ กล่องเล็กขนาด ๑๐๐ มิลลิลิตร วันหนึ่งคุณชายดื่มประมาณ ๔-๕ กล่อง ดื่มหมดก็โยนใส่ลังเปล่าไว้ก่อน อาทิตย์หนึ่งก็สังคายนาสักครั้งหนึ่ง ตัด-ล้าง-ตาก-เรียง แต่บางอาทิตย์ไม่ได้ทำ ข้ามไปสองอาทิตย์งานก็จะหนักขึ้น ทั้งเหม็นรา เปลืองน้ำและเปลืองแรงล้างมากขึ้น

ขวดน้ำอัดลม น้ำดื่ม น้ำแร่ น้ำชา จิปาถะ ที่ฉลากยี่ห้อจะมีสัญลักษณ์ของฝาขวดว่าเป็นพลาสติก ฉลากเป็นพลาสติก ให้แยกฝาและลอกฉลากออกไปทิ้งขยะพลาสติก ไม่ใช่ขยะรีไซเคิล ย้ำ-ฝาและฉลากไม่ลงรวมในรีไซเคิล ส่วนตัวขวดเป็นขวด PET ต้องแยกทิ้งเป็นรีไซเคิลเฉพาะพวกขวด PET เท่านั้น

ฉันเคยหอบถุงใส่ขวดน้ำอัดลมไปทิ้งที่ถังขยะหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน ปรากฏว่าไม่ได้เขย่าน้ำล้างขวดไปก่อน คราบหยดน้ำดำยังกลิ้งอยู่ก้นขวดหลายใบ มองไปที่บรรดาขวด PET ในถังทั้งหลาย ต่างสะอาดเรี่ยมเร้แห้งสนิท ทำเอานึกกระดากใจ ต้องหอบขยะกลับบ้านมาล้างก่อน หลังจากนั้นทุกครั้งที่ดื่มน้ำดำน้ำชาหรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่น้ำเปล่า ฉันต้องรินน้ำใส่เขย่าล้างขวดทุกครั้ง เพื่อป้องกันอาการหน้าม้านที่หน้าถังขยะ และเสียเวลาหอบขยะกลับบ้านอีกรอบ

ขวดแก้วก็คล้ายกัน แยกฝาพลาสติกออก ฉีกฉลากแล้วล้างน้ำ ส่วนพวกขวดน้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอยผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจากร้านอาหารไทย ก็ใช้วิจารณญาณแยกตามที่เคยแยกขวดซ้อสของญี่ปุ่น โดยเขย่าน้ำล้างขวด แกะฝาพลาสติกและลอกกระดาษติดขวดออกทิ้งตามประเภทขยะเสียก่อน

พอถึงวันทิ้งก็เอาไปลงกล่องใหญ่ที่เจ้าหน้าที่จะมาวางไว้ให้ตั้งแต่เย็นวาน ลังสีเหลือง ลังสีฟ้าแยกตามชนิดของขวด ส่วนพวกกระดาษก็จะเป็นรถอีกคัน 

ครั้งหนึ่ง เหตุเกิดที่หน้าซูเปอร์มาร์เก็ต คุณยายคนหนึ่งอายุน่าจะราวเจ็ดสิบกว่า (ไม่แน่อาจถึงแปดสิบหรือแปดสิบกว่า เพราะคนแก่ญี่ปุ่นดูแข็งแรงกว่าอายุมาก) กำลังเดินช้าๆ เข้าประตูห้างมาคนเดียว ก่อนถึงประตูกระจกเลื่อนเปิด-ปิดอัตโนมัติ คุณยายจับจ้องที่พื้น ฉันกำลังจัดข้าวของในตะกร้าลงถุงผ้า (การซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตเราต้องหยิบของลงถุงเอง ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกของห้างหรือถุงผ้าที่เตรียมไปเอง ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานเก็บเงิน ส่วนร้านสะดวกซื้อหรือคอมบิหนิ ให้บริการใส่ถุงเหมือนบ้านเรา) อยู่แถวหน้าประตูทางเข้าก็จ้องตาม คุณยายค่อยๆ ก้มตัวลงเก็บเศษใบผักสีเขียวเหี่ยวๆ ไม่ทราบชนิด ๑ ใบ ที่ตกอยู่บนพื้นขึ้นมาอย่างไม่ลำบากนัก

ฉันคอยลุ้น

คุณยายเดินไปที่กลุ่มถังขยะหลายถังตรงประตูทางเข้า ก้มมองรูปสัญลักษณ์แต่ละถัง อ่านตัวคันจิ (ที่ฉันอ่านไม่ออก) ถังนั้นก็ไม่ใช่ ถังนี้ก็ไม่ใช่ คุณยายวนดูถังทั้งสามสี่ใบอยู่สองรอบ ไม่มีถังใบไหนระบุหน้าถังว่ารับพวกขยะเปียก พวกเศษผัก

ใครนะ ช่างเลินเล่อทำเศษผักพลัดหล่นจากห่อ เป็นเหตุให้คุณยายต้องเป็นธุระตามหาที่ทางให้มัน คุณยายถือใบผักเดินช้าๆ เข้าประตูเลื่อนมา 

ฉันคอยลุ้น

คุณยายเดินไปที่คุณลุงที่กำลังทำงานดูแลกระบะผักอยู่ พูดอะไรกันสักประโยคที่ฉันไม่ได้ยิน และถึงจะได้ยินก็แปลไม่ออก จากนั้นคุณยายก็ส่งใบผักเหี่ยวๆ ให้คุณลุง แล้วก็เดินไปดูผักผลไม้ต่อ

ฉันระบายลมหายใจ รู้สึกโล่งอกไปกับคุณยาย ในขณะเดียวกันเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้าก็บอกให้รู้ว่ามันไม่ใช่ระเบียบวินัยอะไรเลย แต่อยู่ที่สำนึกข้างในอันเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญต่างหาก พวกเขาไม่ได้ทำเพราะเกรงจะขัดต่อระเบียบบ้านเมือง แต่พวกเขาทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ควรทำและต้องทำ กฎระเบียบหลายอย่างผสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการใช้ชีวิต 

นอกจากบ้านเมืองถนนหนทางสะอาดแล้ว การแยกขยะก็ช่วยนำขยะกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะและการผลิตใหม่ ฉันไม่รู้หรอกว่าหากมองแบบองค์รวมจะมีผลอย่างไร หรือเกิดตัวเลขทางเศรษฐกิจระดับไหน รู้แค่ว่ามันได้มากกว่าเสียล่ะ

มีขยะหลายอย่าง ฉันกางตำราหลายรอบแล้วก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเป็นขยะประเภทไหน ฉันจะจัดการเก็บใส่ถุง ฝากพ่อบ้านไปทิ้งที่บริษัท 

และก็ยังมีขยะบางอย่างที่ไม่สามารถฝากไปทิ้งได้ อย่างเช่น ถุงเท้าเก่า ตามคัมภีร์ว่าไว้ว่าถ้าเป็นถุงเท้าขาดให้ทิ้งเป็นขยะเผาไหม้ได้ แต่ถ้ามันแค่เก่าและยังไม่ขาดให้จัดเป็นรีไซเคิล แต่ปัญหาของฉันคือถุงเท้าไม่ขาดเป็นรู สภาพยังดีอยู่ แต่มันเหลือแค่ข้างเดียว ไม่รู้จะจัดลงขยะแบบไหนดี 

เวลาผ่านไป ฉันนึกไม่ออกแล้วว่าจัดการกับถุงเท้าข้างเดียวข้างนั้นยังไง 
หรือไม่ มันอาจจะยังซุกอยู่ซอกในสุดของลิ้นชักใส่ถุงเท้าก็อาจเป็นได้