เพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลเขาหินซ้อน – สื่อท้องถิ่นชี้พิรุธ "ห้ามรถดับเพลิงเข้า" ชาวบ้านระบุก่อมลพิษมานาน (17 เม.ย. 64)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), 17 เมษายน 2563

เพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลเขาหินซ้อน – สื่อท้องถิ่นชี้พิรุธห้ามรถดับเพลิงเข้า ชาวบ้านระบุก่อมลพิษมานาน


ภาพจาก facebook 
ข่าวนี้ที่แปดริ้ว” 
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1063049274226013&id=471329483397998

 

สำนักข่าวท้องถิ่นชี้ เหตุเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลเขาหินซ้อน วานนี้ (16 เม.ย. 64) พบพิรุธห้ามรถดับเพลิงเข้า ขอดับเพลิงเอง ด้านประชาชนในพื้นที่ระบุ ทนกลิ่นเหม็น-ฝุ่น-น้ำเสียมานาน

 

จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท ซี.ที. สตีล จำกัด ในพื้นที่หมู่บ้านชำขวาง หมู่ที่ 1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. ของวันที่ 16 เมษายน 2564 ก่อนที่ทีมดับเพลิง อบต.เขาหินซ้อน จะเข้าทำการดับเพลิงลงได้เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. คงเหลือแต่กลุ่มควันและกลิ่นเหม็น  ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 ชลบุรี (EPU 13) ได้ร่วมกับ ทสจ.ฉะเชิงเทรา, ป้องกันจังหวัด, กอ.รมน.จังหวัด, อำเภอพนมสารคาม, อบต.เขาหินซ้อน, อสจ.ฉะเชิงเทรา, ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัด, สภ.เขาหินซ้อน, รพ.สต.ม่วงโพรง, กำนัน ต.เขาหินซ้อน และ อสม.ม่วงโพรง เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ก่อนรายงานผลการตรวจสอบผ่านทางเอกสารจดหมายข่าวของ “สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 ชลบุรี” ว่า พบต้นเหตุจากระบบน้ำหล่อเย็นที่ลุกไหม้เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. หลังจากเพลิงสงบลงสำรวจพบตู้สวิชต์ควบคุมระบบไฟของระบบฉีดน้ำกำจัดกลิ่นและควันในปล่องระบายจากเตาหลอมเสียหายทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มูลค่าความเสียหายประมาณ 100,000 บาท  ทั้งนี้ เวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน จ.ฉะเชิงเทรา ได้เข้าตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน เพื่อจัดทำรายงานสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ให้พนักงานสอบสวนทราบต่อไป

 

 

นอกจากประเด็นเพลิงไหม้ ข้อมูลจากรายงานการเข้าตรวจสอบของทีม EPU 13 ซึ่งนำโดย น.ส.ตุลาพร อนันต์นาวีนุสรณ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ซึ่งสรุปโดย ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ยังระบุด้วยว่า โรงงานดังกล่าวซึ่งเป็นของบริษัท ซี.ที. สตีล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 378 ม.1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นโรงงานลำดับ 106 ประกอบกิจการหลอมหล่อเศษโลหะจากเศษอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกลับมาใช้ใหม่ ทะเบียนโรงงานเลขที่ 10240052125630 ออกเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 พื้นที่ 16 ไร่ มีรั้วรอบ  

 

โดยภายในโรงงานมีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศที่ปล่องเตาหลอม เป็นชนิด Wet Scrubber มีบ่อปูนกักเก็บน้ำเสียจากระบบ Web Scrubber 2 บ่อ สำหรับวนใช้ซ้ำในระบบ น้ำมีสีเขียว วัด pH = 0.83 มีกลิ่นเหม็นฉุน และ “ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย” 

 

มีการจัดการ “กากตะกอนจากเตาหลอม” (สีดำปนเขียว) “ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่แนบท้ายใบ รง.4” คือ ห้ามฝังกลบในพื้นที่ ให้กักเก็บในอาคารที่มีหลังคาปกคลุม และส่งกำจัดบริษัทที่ได้รับอนุญาต (ข้อ 1.5, 1.7 และ 1.9) โดยพบกองอยู่กลางแจ้งเป็นบริเวณกว้างในเขตโรงงาน และบางส่วนไหลไปกองอยู่ในบ่อดินกักเก็บน้ำฝนบ่อที่ 1 จากทั้งหมด 2 บ่อ ทั้งน้ำและกากมีกลิ่นเหม็น โดยทีม EPU 13 ได้เก็บตัวอย่างน้ำในบ่อน้ำเสียและบ่อน้ำฝน รวม 3 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการของ สสภ.13 และเก็บตัวอย่างกากของเสีย 2 จุด ให้ ศคพ.ระยอง ช่วยตรวจสอบต่อไป

 

โรงงานแห่งนี้เคยถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็น เมื่อ 29 กรกฎาคม 2563 ซึ่งหน่วยงานในจังหวัดได้เข้าตรวจสอบครั้งหนึ่งแล้ว และมีบันทึกเป็นหนังสือแจ้งจาก อบต.เขาหินซ้อน ให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับกลิ่นและควันที่ออกจากโรงงาน ก่อนจะขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (อภ.2) กับ อบต.ฯ แต่โรงงานยังดำเนินการไม่ครบถ้วน อบต. จึงยังไม่ออกใบอนุญาตให้

 

คณะเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และขอให้โรงงาน “ระงับการประกอบกิจการชั่วคราว” เพื่อปรับปรุงในส่วนที่บกพร่องให้เรียบร้อย ก่อนขออนุญาตเปิดกิจการต่อไป

 


ภาพจาก facebook ข่าวนี้ที่แปดริ้ว” 
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1063049274226013&id=471329483397998

 

นอกจากนั้น ในวันเกิดเหตุ สำนักข่าว “ข่าวนี้ที่แปดริ้ว” ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นได้รายงานข่าวนี้ผ่านทาง Facebook “ข่าวนี้ที่แปดริ้ว” เมื่อเวลา 10.54 น. โดยระบุว่า หลังจากได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งพบเห็นเปลวไฟและควันไฟปกคลุมไปทั่วบริเวณ จึงได้ส่งทีมข่าวเข้าไปสังเกตการณ์ในที่เกิดเหตุเมื่อเวลา 10.00 น. และพบว่าเพลิงได้สงบลงแล้ว  โดย “ข่าวนี้ที่แปดริ้ว” ได้ระบุด้วยว่าในขณะเกิดเหตุ ทางบริษัทไม่ยินยอมให้รถดับเพลิงจากภายนอกเข้าไปดับเพลิงในโรงงาน โดยจะขอดับเพลิงด้วยตัวเอง” และมี “เจ้าหน้าที่กำลังเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ด้าน ปลัด.อบต. เขาหินซ้อน จึงได้เดินทางไปแจ้งความ” ซึ่งทำให้ประชาชนที่ติดตามอ่านข่าวเข้ามาตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติดังกล่าว รวมถึงออกมาให้ข้อมูลผ่านทางหน้า Facebook เกี่ยวกับการปล่อยมลพิษของโรงงานดังกล่าว ทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และควันไฟที่เกิดจากกิจกรรมของโรงงานในช่วงกลางคืน

 

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารจดหมายข่าวของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 ชลบุรี ที่รายงานเหตุการณ์นี้ ไม่ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

 

หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศจะติดตามมานำเสนอต่อไป

 

อนึ่ง ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ในครั้งนี้ ภายหลังจากได้รับการร้องเรียนโดยประชาชนในพื้นที่ถึงความเดือดร้อนจากมลพิษทางอากาศและกลิ่นเหม็น มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 20 มีนาคม - 9 เมษายน 2564 โดยเบื้องต้นพบว่า บริเวณบ้านเรือนของประชาชนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงงานประมาณ 800 เมตร พบค่าฝุ่น PM2.5 สูงถึง 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บางช่วงเวลา และมีค่ากลิ่นสูงด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 28-29 มีนาคม 5-6 เมษายน และ 8 เมษายน 2564 นอกจากนั้นยังพบข้อมูลว่า ที่ผ่านมาทางโรงงานได้มีการลักลอบประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง