ชาวบ้านห้วยโพธิ์ กาฬสินธ์ุ ร้องน้ำเสียโรงงานรั่วซึมทำต้นข้าวล้มตาย (18 พ.ย. 62)

Siamrath 18 พฤศจิกายน 2562
ชาวบ้านห้วยโพธิ์ กาฬสินธ์ุ ร้องน้ำเสียโรงงานรั่วซึมทำต้นข้าวล้มตาย

ชาวบ้านในตำบลห้วยโพธิ์ อำเมืองกาฬสินธุ์ ร้องนาข้าวและต้นข้าวที่กำลังออกรวงถูกน้ำเสียจากโรงงาน 2 แห่งรั่วซึมลงสู่ที่นา ส่งผลให้ไม่สามารถทำนาได้ และต้นข้าวเสียหายยับ ขณะที่ ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมสั่งการเร่งแก้ไขปัญหา

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 18 พ.ย.62 ชาวบ้านใน ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ รวมตัวกันร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือ หลังกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากประสบปัญหาพื้นที่นาไม่สามารถปลูกข้าวได้ และต้นข้าวที่กำลังออกล้มตายเสียหาย โดยชาวบ้านระบุว่า สาเหตุเกิดจากน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตแป้งขนมจีนและผลิตเส้น 2 แห่งในพื้นที่ไหลรั่วซึมลงมา ทำให้พื้นที่หลายแห่งไม่สามารถปลูกพืชหรือทำนาได้ นอกจากนี้ยังทำให้ต้นข้าวของชาวบ้านที่กำลังจะเก็บเกี่ยวล้มตาย อีกทั้งยังมีเมล็ดสีดำและลีบ ไม่สามารถนำไปขายได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 3 ปีแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวเร่งแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือ
จากนั้นนายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้มีนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายไชยา เครือหงส์ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ นายเอกพงษ์ ศรีโคตร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยโพธิ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายเทียนชัย คละประสงค์ หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยฝ่ายปกครองอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลห้วยโพธิ์ และผู้นำชุมนุมลงพื้นที่ตรวจสอบและรับเรื่องจากชาวบ้านที่เดือดร้อน
โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีชาวบ้านลงชื่อที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 14 ราย พื้นที่นาข้าวที่ได้รับผลกระทบกว่า 64 ไร่ โดยประสบปัญหาพื้นที่นาไม่สามารถปลูกข้าว หรือพืชต่างๆได้ เนื่องจากน้ำในนาข้าวมีกลิ่นเหม็น เป็นสีเหลืองเข้มคล้ายสนิม และมีความเค็ม นอกจากนี้ยังมีพื้นที่นาข้าวของเกษตรบริเวณโดยรอบอีกหลายรายได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้นข้าวที่กำลังรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตล้มตาย อีกทั้งยังมีเมล็ดสีดำและลีบ
นายอำพล ชำนาญเอื้อ อายุ 51 ปี ชาวบ้านดอนปอแดง ม.12 ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ อีกทั้งต้นข้าวที่ปลูกไว้แล้วยืนต้นตาย เมล็ดลีบและสีดำนั้นเกิดขึ้นมานานกว่า 3 ปีแล้ว สาเหตุคาดว่าจะเกิดจากน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานที่ผลิตแป้งขนมจีนและผลิตเส้นในพื้นที่ 2 แห่งนี้รั่วไหลลงมา ทั้งนี้ในช่วงปีแรกทางผู้ประกอบการก็ได้เข้ามาเยียวยาและชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้านไร่ละ 4,000 บาท แต่พอมาระยะ 2 ปีหลังกลับไม่มีการออกมารับผิดชอบ และไม่มีการแก้ไข ทำให้ปัญหาน้ำเสียลุกลามและขยายวงกว้างไปยังที่นาประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย

ด้านนางบัวศรี ถิตย์สิทธิ์ อายุ 64 ปี ชาวบ้านดอนม่วง ม.9 ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบที่คาดว่าน่าจะเกิดจากบ่อบำบัดน้ำเสียของทางโรงงานรั่วซึมออกมานั้นได้นอกจากจะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำนาปลูกข้าวและปลูกพืชได้แล้ว ยังทำให้ต้นข้าวที่ปลูกไว้ล้มตายเป็นจำนวนมาก บางรายเมล็ดข้าวลีบและมีสีดำ หากนำไปขายก็ไม่ได้ ไม่มีเงินมาใช้หนี้ที่กู้ยืมมา นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำก็ไม่สามารถอยู่ได้ เจ้าของที่นาเองก็ไม่กล้าลงไปในนาข้าวของตนเอง เพราะเกรงว่าน้ำจะมีสารพิษ เพราะคุณภาพน้ำมีกลิ่นเหม็น มีสีคล้ายกับสนิม อย่างไรก็ตามปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วกว่า 3 ปี ผลกระทบนอกจากนาข้าวแล้วกำลังจะกระทบไปยังแหล่งน้ำที่ผลิตน้ำประปาของหมู่บ้านอีกด้วย
ขณะที่ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ จากการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น พบว่า ในพื้นที่นั้นมีโรงงานผลิตแป้งขนมจีน และผลิตเส้นแป้งรวม 2 แห่ง และจากการตรวจสอบระบบบำบัดนำเสียของทั้ง 2 โรงงาน เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการปล่อยน้ำเสียลงมา ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าสาเหตุที่น้ำในนาชาวบ้านเน่าเสียและต้นข้าวล้มตายนั้น เบื้องต้นอาจจะเกิดจากน้ำที่ซึมออกมาจากใต้ดินมีสภาพเป็นกรด และอาจจะเกิดจากการรั่วซึมจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ความเป็นธรรมกับทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าตรวจสอบหาสาเหตุของน้ำเสียครั้งนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมกับนำเอาตัวอย่างของน้ำและดินไปตรวจพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเปรียบเทียบกัน ก่อนที่จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป