เกิดแน่ !! โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ คาดเงินลงทุนสะพัด 7 หมื่นล้าน (16 ธ.ค. 62)

Post Today 16 ธันวาคม 2562
เกิดแน่ !! โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ คาดเงินลงทุนสะพัด 7 หมื่นล้าน

กพช. คลอดรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ราคา หน่วยละ 3-5 บาท เปิดทางวิสาหกิจชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ พร้อมแบ่งรายได้เข้ากองทุนหมู่บ้าน 25 สตางค์ต่อหน่วย

นายสนธิรัตนต์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในสัญญาประเภท Non-Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง โดยในปี 2563 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ คาดทำให้เกิดการลงทุนกว่า 7 หมื่่นล้านบาท โดยกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แบ่งออกเป็น 2 โครงการ 1. Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ

2. โครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ใช้วิธีการคัดเลือกโดยกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และคัดเลือกเรียงตามลำดับจากโครงการที่เสนอให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนสูงสุดไปสู่ผลประโยชน์ต่ำสุด ทั้งนี้ จะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick win ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงจะพิจารณารับซื้อจากโครงการทั่วไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60 - 90 และ 2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 - 40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก รวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ 1. สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย 2. สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย
ด้านพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ครอบคลุมหมู่บ้านโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้า ดังนี้ 1.ระยะทาง 5 กิโลเมตร(กม.) สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี 2.ระยะทาง 3 กม. สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 100 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี

3.ระยะทาง 1 กม. สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 100 ล้านกิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี ในกรณีที่มีการทับซ้อนกันของเขตพื้นที่ ให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อการพัฒนา “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” เป็นสำคัญ และชุมชนยังคงได้รับผลประโยชน์ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปกติ โดยผู้เสนอโครงการต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย

ราคารับซื้อไฟฟ้า เนื่องด้วยเปิดโอกาสให้โครงการที่ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้วก่อนปี 2560 แต่ไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้ ติดปัญหา Grid capacity แต่ปัจจุบันสามารถรับซื้อไฟฟ้าได้แล้ว จึงกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าตามสมมุติฐานทางการเงิน ณ ปีที่ลงทุนก่อสร้าง ซึ่ง กพช. ได้เห็นชอบไว้เมื่อ 17 ก.พ.2560 ดังนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาท ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3เมกะวัตต์ 4.8482 บาท ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.2636 บาท ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) 3.76 บาท ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาทก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย 4.7269 บาท รวมทั้ง กำหนด Fit พรีเมี่ยมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตามมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากขึ้นเพื่อบริหารจัดการตลอดจนกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย