"เคมี - กัญชา" อย่าด่วนสรุปใคร "มิตร- ศัตรู" (17 ก.ย. 62)

Thai PBS 17 กันยายน 2562
"เคมี - กัญชา" อย่าด่วนสรุปใคร "มิตร- ศัตรู" 

อย่าด่วนสรุปว่า ใครเป็น “มิตร” หรือ “ศัตรู” เพราะทุกอย่างล้วนมีวาระซ่อนเร้น และผลประโยชน์

หลังจากสภาผู้แทนราษฎร มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีเกษตร พรรคภูมิใจไทยชูวาทกรรม “กัญชาเป็นมิตร สารพิษคือศัตรู” พร้อมดึงภาคประชาสังคมเป็นกรรมาธิการด้วย

แต่การถกเถียงเรื่องสารเคมีเกษตร ยังต่อสู้กันอย่างร้อนแรง ทั้งข้อมูลที่สวนทางอย่างสิ้นเชิง รวมถึงวาทกรรมที่สร้าง “เทพ” เพื่อทำลาย “ปีศาจ”

พาราควอต (Paraquat), ไกลโฟเสต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) สารเคมีเกษตร 3 ชนิด จะหายไปจากเรือกสวนไร่นาในประเทศไทย หากกระบวนการยกเลิกใช้ประสบความสำเร็จ ผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางทางการควบคุมการใช้สารเคมี ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ให้จัดตั้ง

ผู้มีจุดยืนชัดเจน ว่าต้องยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้ อย่าง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการคณะกรรมการวัตถุอันตราย และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ปรากฏชื่อในคณะกรรมาธิการ ตามโควตาของพรรคภูมิใจไทย ร่วมด้วยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค ส่วนน้องสาวอย่าง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็สนับสนุนให้ยกเลิก ตั้งเป้าหมายภายในปีนี้ และเร่งหาสารทดแทนให้ได้ก่อนปี 2563

พาราควอต เป็นยาฆ่าหญ้าประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์เผาไหม้กำจัดวัชพืชได้หลายประเภท ถูกนำเข้าและใช้ในไทยมานาน เช่นเดียวกับไกลโฟเสต จากข้อมูลของ US Environmental Protection Agency (USEPA) หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ระบุว่า ใช้กำจัดวัชพืชในแปลงผักและผลไม้หลายประเภท

ขณะที่คลอร์ไพรีฟอส สารกำจัดแมลงศัตรูพืช ออกฤทธิ์รุนแรง หลายประเทศยกเลิกหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ปัจจุบัน EPA ยังไม่ยกเลิกใช้สารเคมีทั้งสามชนิด แต่คุมการใช้พาราควอตกับคลอไพรีฟอส ส่วนไกลโฟเสต จะออกมาตรการในปี 2020

กลับมาที่ประเทศไทย เมื่อต้นปี 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกใช้ทั้ง 3 ตัว แต่จำกัดเฉพาะพืช 6 ประเภท คือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียน พร้อมให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินมาตรการ อย่างวิจัยเพื่อลดการใช้ และหาวิธีทดแทน ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช หากสามารถหาสารทดแทนได้ก็ยกเลิกก่อน 2 ปี

คณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงและผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ทหาร ตำรวจ เกษตร คมนาคม กฎหมาย สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้แทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค เกษตรกรรม ฯลฯ

แต่ผลการลงมตินี้ กลับไม่สามารถเปิดเผย 16 เสียงส่วนใหญ่ได้ โดยนายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ระบุเหตุผล “อาจมีผลต่อการใช้ชีวิต” พร้อมย้ำว่าเกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้ การยกเลิกทันทีโดยไม่มีตัวเลือกทดแทน จะกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก

เหตุผลนี้สะท้อนเดิมพันสูงยิ่ง กับการอยู่หรือไม่ของสารเคมี ที่ฟากหนึ่งมองมันเป็น “ปีศาจ” ไม่แปลกหากจะนับรวมเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช หรือไทย-แพน ที่ต่อสู้เรื่องนี้อย่างแข็งขัน

พวกเขามีแนวร่วมนักวิชาการ ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยอ้างอิงจำนวนมาก ที่ย้ำจุดยืนว่าต้องยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้ โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่อย่าง “พาราควอต” อ้างถึงความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน โรคเนื้อเน่า พบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดินและผลผลิต รวมถึงการสัมผัสที่ “จิบ” เพียงเล็กน้อยก็ถึงแก่ชีวิตได้

พิษในนิยามของพิษวิทยา คือสารเคมี หรือวัตถุที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่ทำปฏิกิริยาต่อโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย จนทำให้เกิดอันตราย มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณ ดังนั้น หากการ “จิบ” ยาฆ่าหญ้าเพียงเล็กน้อยก็เสียชีวิตได้ ย่อมสื่อถึงพิษอันร้ายกาจของมัน ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เจ้าของนโยบาย “กัญชาเสรี” ก็ร่วมวงด้วย พร้อมคำรณรงค์ “กัญชาเป็นมิตร สารพิษคือศัตรู” แต่เมื่อมีผู้เห็นด้วย ย่อมมีผู้เห็นต่าง

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หยิบยกข้อมูลโต้แย้ง ทั้งประสิทธิภาพ การก่อพิษ การตกค้างในสิ่งแวดล้อม และสาเหตุที่หลายประเทศยกเลิกใช้ โดยยืนยันว่าสารเคมีทุกอย่างเป็นอันตรายหากใช้อย่างไม่เหมาะสม และพาราควอตก็ไม่มีไว้ “จิบ” ไว้สัมผัสหรือนำเข้าสู่ร่างกาย

ข้อถกเถียงเรื่องประโยชน์และโทษของสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งฝ่ายต่อต้านการยกเลิก ไม่ปฏิเสธอันตรายของคลอร์ไพรีฟอส หรือยาฆ่าแมลง แต่มองว่าการจับทั้ง 3 ชนิด มามัดเหมารวมนั้นไม่ถูกต้อง และที่สำคัญยังไม่มีสิ่งใดทดแทนพวกมันได้ ด้วยเรื่องต้นทุนและประสิทธิภาพ อย่างกรณีพาราควอต ที่เครือข่ายไทย-แพน เสนอใช้กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียมเป็นตัวเลือก ก็ถูกตอบโต้ว่าทำให้ต้นทุนต่อไร่เพิ่มสูงกว่า 4 เท่า แต่ได้ผลน้อยกว่า และที่สำคัญมันก็ยังเป็น “สารเคมี” อยู่นั่นเอง

สงครามครั้งนี้ต่อสู้กันด้วยงานวิจัย วาระซ่อนเร้น วาทกรรม และมวลชน ซึ่งปัจจัยสุดท้าย หากแปรเป็นความนิยมและคะแนนเสียงได้ ก็คงไม่แปลกที่มติในสภาฯ จะออกมาอย่างเอกฉันท์ท่วมท้น

สงครามนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครได้ประโยชน์จากการแบนพาราควอต ท่ามกลางความซับซ้อนในวงการเกษตร กับผู้มีส่วนได้เสียมากมายทั้งชาวไร่ชาวนา บริษัทผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย หรืออาจรวมถึงหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย 

แต่ความจริงแล้ว แทบทุกอย่างในโลกที่ล้อมรอบตัวเรา ล้วนเป็นสารเคมี หากใช้ไม่ถูกต้อง จะระยะสั้นหรือยาวก็อาจเกิดอันตรายได้ แม้แต่กัญชาที่ถูกอุ้มชูดั่ง “มิตร” และผลักไสสารเคมีตัวอื่นดั่ง “ศัตรู” ความพยายามสร้างตัวเองเป็น “เทพ” กล่าวหาอีกฝ่ายเป็น “ปีศาจ” กาลามสูตร 10 ในยุค 4.0 คงต้องทำงานเข้มแข็ง หากจะฝ่าฟันและผ่านความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าการบรรลุวาระซ่อนเร้นของใครบางคน


ข้อมูลจากเว็บไซต์ epa.gov


นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)


เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช  

จตุรงค์ แสงโชติกุล