มช.โชว์ ‘รีโม่’ เครื่องเจ๋งล้างสารเคมี-เชื้อโรคทุกชนิดจากผักผลไม้ ชี้ สะอาดสูงสุด 99 % (15 ก.ย. 62)

มติชนออนไลน์ 15 กันยายน 2562
มช.โชว์ ‘รีโม่’ เครื่องเจ๋งล้างสารเคมี-เชื้อโรคทุกชนิดจากผักผลไม้ ชี้ สะอาดสูงสุด 99 %

อว.ชู นักศึกษา มช.ผลิตเครื่องล้างสารเคมีทุกชนิดจากผักผลไม้ ล้างได้แบบเกลี้ยงๆ 99% แถมสารเคมีที่ถูกล้างออกมายังสลายตัวกลายเป็นสารอินทรีย์ ไม่เหลือพิษอีกต่อไป อุตสาหกรรมส่งออกผัก-ผลไม้ รุมออร์เดอร์ มั่นใจลดกีดกันการค้า

วันที่ 14 กันยายน นาย นรพนธ์ วิเชียรสาร นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เจ้าของโครงการนวัตกรรมพลาสมาเพื่อการสลายสารเคมีตกค้างบนผัก และผลไม้สำหรับผู้ส่งออก ซึ่งได้รับเงินทุนแบบให้เปล่าจาก โครงการจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เท็ดฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้พัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า รีโม่ ที่สามารถ ล้างทั้งสารเคมี และเชื้อโรคในผัก และผลไม้ได้สะอาดสูงสุด 99% มีหลักการ คือ การนำพลาสมาซึ่งเป็นสถานะที่ 4 ของสสารที่ได้จากการแตกตัวของกระบวนการ Ionization และ Excitation ของก๊าซ โดยจากการแตกตัวนี้เองทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ของอนุมูลอิสระ ซึ่งกลุ่มอนุมูลเหล่านี้จะทำงานร่วมกับนวัตกรรมฟองอากาศขนาดไมครอน หรือ ไมโครบับเบิ้ล ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 80 เท่า จึงสามารถเข้ากำจัด หรือ ทำความสะอาดบนพื้นผิวที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มอนุมูลเหล่านี้จะเข้าไปเกาะอยู่รอบฟองอากาศขนาดเล็กนี้ และเมื่อกลุ่มอนุมูลอิสระสัมผัสกับสารเคมีบนผิวของผลไม้ก็จะทำลายพันธะของสารเคมีนั้น ๆ ให้หมดฤทธิ์ไปกลายเป็นสารอินทรีย์ที่ไม่มีความเป็นพิษ ซึ่งภายหลังการทำงานของอนุมูลอิสระกลุ่มอนุมูลก็จะคืนสภาพกลับสู่สภาพดั้งเดิม ได้แก่ ออกซิเจน น้ำ และไฮโดรเจน

“รีโม่ สามารถช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งในภาคครัวเรือน และผู้ส่งออกผักและผลไม้ที่ประสบปัญหาพบสารเคมี ยาฆ่าแมลงและเชื้อจุลินทรีย์ตกค้าง จนเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถส่งออกได้ ส่วนน้ำที่ล้างผักและผลไม้ จะสะอาดปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์เลี้ยง จึงถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นจากความตั้งใจให้เป็นเทคโนโลยีสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆโดยเมื่อเร็วๆนี้ รีโม่ ก็ได้รับใบรับรองประสิทธิภาพการทำงานจากกรมวิชาการเกษตร และก่อนหน้านี้ได้รับรางวัลสตาร์ทอัพระดับภาค และระดับประเทศมาแล้วด้วย”นายนรพนธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า รีโม่สามารถล้างสารเคมีจำพวกพาราควอชได้หรือไม่ และได้มากน้อยแค่ไหน นายนรพนธ์ กล่าวว่า ลีโมออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับสลายสารเคมี และเชื้อโรคที่ตกค้างบนผัก ผลไม้ และพาราควอชนั้นเป็นสารเคมีในกลุ่มพวกยาฆ่าหญ้า แต่เนื่องจาก กระบวนการทำงานของลีโมนั้น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ของอนุมูลอิสระ ซึ่งกลุ่มอนุมูลเหล่านี้จะทำงานร่วมกับนวัตกรรมฟองอากาศขนาดไมครอน หรือ ไมโครบับเบิ้ล ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 80 เท่า จึงสามารถเข้ากำจัด หรือ ทำความสะอาดบนพื้นผิวที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาสำหรับการล้างพาราควอชที่ตกค้างในผักผลไม้ ซึ่งได้ไม่ต่ำกว่า 95%แน่นอน

นายนรพนธ์ กล่าวว่า เวลานี้ทีมงานสามารถผลิตลีโมได้ สัปดาห์ละ 1 เครื่อง โดยขณะนี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกสัตว์น้ำ และผักผลไม้ส่งออกประสานงานเข้ามาเพื่อขอซื้อเครื่องมือนี้ไปใช้แล้ว โดยทางบริษัทขายในราคาเครื่องละ 99,000 บาท และคาดว่าเมื่อเข้าไปอยู่ในตลาดการผลิต ราคาจะต่ำกว่านี้ได้อีก

ด้านนายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เท็ดฟันด์ อว.กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมพลาสมาเพื่อการสลายสารเคมีตกค้างบนผัก และผลไม้สำหรับผู้ส่งออก ของนายนรพนธ์ นั้น เป็นโครงการที่แสดงถึงองค์ประกอบที่ครบถ้วนตามหลักการของกองทุน ที่ให้ทุนแก่ผู้ขอรับไปดำเนินโครงการแบบให้เปล่า ซึ่งผลที่ได้ถือว่าจะส่งผลประโยชน์ต่อสังคมค่อนข้างสูงทั้งในแง่การดูแลสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด โดยลีโม ถือเป็นเครื่องมือล้างเชื้อโรคและสารเคมี นวัตกรรมพลาสมาเพื่อการสลายสารเคมีตกค้างบนผัก และผลไม้ เครื่องแรกของประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าเรื่องผักผลไม้ที่ส่งออกจากประเทศไทยอีกด้วย