ดีเดย์ 1 ม.ค.64 ไทยเลิกแจก "ถุงพลาสติก" ทั่วประเทศ (8 ก.ย. 62)

Thai PBS 8 กันยายน 2562
ดีเดย์ 1 ม.ค.64 ไทยเลิกแจก "ถุงพลาสติก" ทั่วประเทศ

1 ปีผ่านไป ลดแจกถุงพลาสติกแล้วกว่า 2,000 ล้านใบ ทส.ลุยต่อจับมือห้างใหญ่-เซเว่น เลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าถาวร ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 ส่วนตลาดสด ร้านขายของชำ ขอความร่วมมือขยับปรับตัวตาม ตั้งเป้าเลิกใช้ทั่วไทย 1 ม.ค.64 พร้อมดันกฎหมายบังคับใช้ควบคู่การรณรงค์

ความเคลื่อนไหวการรณรงค์ยกเลิกใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทย หลังจากพบข้อมูลว่า ไทยเป็นประเทศที่มีประมาณขยะทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก รวมถึงการปรากฎภาพเต่าทะเลที่กินถุงพลากสติก และพะยูนน้อยมาเรียมที่ตายจากขยะพลาสติก ส่งผลให้ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันลดใช้ถุงพลาสติกโดยเริ่มจากการงดแจกถุงพลาสติกเป็นบางวันให้กับลูกค้าที่ใช้บริการในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาประมาณ 1 ปีแล้ว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขับเคลื่อนเรื่องการลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกล่าสุด มีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ที่เชิญผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ทั้งค้าส่งค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อมาประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานร่วมรับฟังความคืบหน้าและข้อเสนอจากภาคเอกชนด้วย

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาขยะถุงพลาสติกเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่การใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยจะต้องเปลี่ยนไป ขอให้พกถุงผ้าและใช้กระเป๋าติดตัว กระทรวงทรัพยากรฯ เตรียมเสนอกฎหมายการงดใช้พลาสติกให้ ครม.พิจารณา คำว่าการงดใช้พลาสติก ไม่ได้แปลว่าจากนี้ประเทศไทยจะไม่มีพลาสติกอีกแล้ว แต่พลาสติกบางจำพวกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือไม่สามารถย่อยสลายได้ จะต้องทำให้หมดไปจากทั่วประเทศไทย 100% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 โดยจะเริ่มนำร่องกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อจำนวน 43 บริษัทเครือใหญ่ในประเทศไทย ด้วยการเลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า 100% ที่มาซื้อของตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

ส่วนประชาชนที่ต้องการถุงพลาสติก อาจจำเป็นต้องจำหน่ายในราคา 2-3 บาท อย่างไรก็ตาม หากยังมีการจำหน่ายถุงอยู่ก็จะทำให้ยังมีคนซื้อ สิ่งที่ต้องการความร่วมมือคือการยกเลิกใช้ถุงพลาสติกจะดีกว่า เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกคนเห็นเหุตการณ์ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ขยะพลาสติกที่อยู่บนถนน กลายไปเป็นขยะในน้ำ ขยะในทะเล และเหตุการณ์ที่ทำให้คนเสียใจกันทั้งประเทศ คือเหตุการณ์มาเรียม พะยูนตัวน้อยตาย

ขอให้ทุกคนช่วยกันริเริ่ม "มาเรียม โปรเจคท์" หรือ "มาเรียม แอคชั่น" เพื่อทำให้แม่น้ำ ท้องถนน ปลอดขยะ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดขยะถุงพลาสติก หัวใจสำคัญนอกจากการรณรงค์ให้เลิกใช้พลาสติกแล้ว ก็ขอให้คนไทย โปรดทิ้งขยะให้ลงถังด้วย

“วันนี้ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องลุกขึ้นมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาประเทศไทยของเรา เพื่อลูกหลานในอนาคต ที่ผ่านมาเราอาจมีการขอร้อง มีการรณรงค์ แต่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนเปลงให้เป็นกฎระเบียบ เป็นกฎหมาย เพื่อยกอันดับประเทศที่มีขยะทะเลในอันดับ 6 ของโลก ไปเป็นประเทศในกลุ่มที่มีอันดับเลขสองหลัก ขอร้องคนไทยทิ้งขยะให้ลงถังและยกเลิกใช้ถุงพลาสติก"

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวด้วยว่า การนำร่องกับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะมีความพร้อมมากกว่า และถ้าทำได้จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกจากกลุ่มนี้ได้ ร้อยละ 60 ของกลุ่มที่แจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า

ส่วนผู้ประกอบการตลาดสด ร้านของชำ และร้านค้าอื่น ๆ จะดึงมาร่วมรณรงค์ลดและขอให้เลิกใช้ถุงเช่นกัน ตั้งเป้า 1 ปี เพื่อให้กลุ่มนี้ร่วมมืองดแจกถุงให้ลูกค้า โดยต้องให้เกิดความร่วมมือเปลี่ยนให้หมด และทุกร้านทั้งห้างใหญ่และร้านค้ารายย่อย จะต้องปรับตัวเลิกแจกถุงให้ทันตามกำหนดที่ทำร่วมกันทั้งประเทศ วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป พร้อมยอมรับว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการดำเนินการเรื่องนี้ คือการเปลี่ยนพฤติกรรมและจิตสำนึกของคน ส่วนการออกเป็นกฎหมาย นายวราวุธ มอบหมายกรมควบคุมมลพิษดำเนินการและพิจารณา แต่หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายดังกล่าว

นอกจากการประกาศให้ห้างและร้านทั่วไปงดแจกถุงพลาสติกพร้อมกัน ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 แล้ว สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องขยะพลาสติก รัฐบาลได้เร่งรัดการดำเนินแผนงานตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561 - 2573 มีเป้าหมายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในปี 2565 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณปีละ 780,000 ตัน ลดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยปีละ 3,900 ล้านบาท รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังมากขึ้น โดยในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา นับแต่เริ่มกิจกรรมลดใช้ถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ 21 ก.ค.2561 - 31 ส.ค.2562 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้กว่า 2,000 ล้านใบ หรือประมาณ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท และสามารถรวบรวมถุงผ้าบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้ว กว่า 8,000 ใบ

กรมควบคุมมลพิษ ดันกฎหมาย “เลิกใช้ถุงพลาสติก”

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุแนวทางการออกกฎหมายว่า เบื้องต้นปลายเดือนกันยายน 2562 อาจเสนอเป็นวาระเพื่อทราบต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป นำร่องบริษัท 43 แห่ง เลิกแจกถุงพลาสติก จากนั้นในช่วง 1 ปี (1 ม.ค.2563 - 31 ธ.ค.2563) กรมควบคุมมลพิษจะลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ส่วนหนึ่งมาพิจารณาวางพื้นฐานการออกกฎหมายร่วมกับประเด็นอื่น ๆ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดดเห็นประชาชน โดยในช่วงปี 2563 กรมควบคุมมลพิษ ก็น่าจะได้แนวความคิดของผู้ประกบการ กลุ่มห้างเล็ก และผู้ประกอบการทั้งหมด เพราะวันนี้ห้างใหญ่ ทั้งค้าปลีกค้าย่อย 43 แห่ง มีสัดส่วนร้อยละ 30 หรือประมาณ 13,500 ล้านใบของร้านที่แจกถุงพลาสติก แต่ยังมีกลุ่มร้านขายของชำ ตลาดสด ตลาดต่าง ๆ ที่ยังมีในระบบอีกร้อยละ 70 หรือประมาณ 30,000 กว่าล้านใบ ที่ต้องไปคุยกับผู้ประกอบการ และผู้ผลิตที่จะนำมาประกอบการร่างเป็นกฎหมายร่วมกัน และต้องพิจารณากฎหมายอื่น ๆ ประกอบกด้วย

คาดว่าจะเสนอได้ทันก่อนเดือนตุลาคม เพื่อออกเป็นมติ ครม. เป็นคำสั่งทางปกครองให้ทั้ง 43 บริษัทร่วมปฏิบัติ จะต้องหยุดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป เพราะห้างกลุ่มนี้ก็รับทราบแนวทาง และพร้อมจะดำเนินการมาต่อเนื่องอยู่แล้ว

ความยากตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนรับทราบและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เรื่องการออกกฎหมาย แนวทางปฏิบัติ การหาวัสดุทดแทนพลาสติกไม่น่าห่วง เพราะมีหลักแนวคิดอยู่แล้ว ส่วนการออกฎหมายระยะยาว หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะต้องหาข้อมูลประกอบไปด้วย รวมถึงตัวอย่างของประเทศอื่น ๆ ที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้แล้ว เช่น อังกฤษ ลาวันด้า เคนย่า แต่สำหรับประเทศไทยจะทำอย่างไรให้กฎหมายที่ออกมาเหมาะสมกับคนไทยด้วย

“เซเว่นฯ” ตั้งเป้าสิ้นปี 62 ไม่รับถุงแตะ 1,000 ล้านใบ

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บ.ซีพี ออล์ จำกัด (มหาชน) ซี่งเป็นบริษัทที่บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มแคมเปญรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกเดือนกรกฏาคม 2561 จนถึงวันที่ 5 ก.ย.2562 พบว่าเซเว่นฯ ที่มีกว่า 11,000 สาขา มีลูกค้างดรับถุงพลาสติกจำนวน 663 ล้านใบ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปี 2562 ลดแจกถุงได้ถึง 1,000 ล้านใบ

สำหรับที่ผ่านมา แคมเปญ “ลดวันละถุง คุณทำได้ เฟส 1” มีลูกค้าไม่รับถุงพลาสติกรวม 285,515,923 ใบ เปลี่ยนเป็นเงินบริจาครวมกว่า 57 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ได้ส่งมอบสมทบทุนจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร 84พรรษา โรงพยาบาลศิริราชแล้ว ส่วนโครงการเฟส 2 ลดใช้ถุงพลาสติก มีแผนงานสมทบทุนให้แก่ โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลในชุมชน และโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร รวมจำนวน 77 โรงพยาบาลในทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี โดยมีกระทรวงสาธารณะสุขร่วมโครงการนี้ด้วย โดยวันที่ 19 ก.ย.2562 จะนำเงินไปมอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะได้เงินจากกรณีที่ลูกค้างดรับถุงถึง 77 ล้านบาท

“การทำงานนี้แน่นอนที่สุดแล้ว ไม่สามารถบังคับทุกคนให้ความร่วมมือได้ ซึ่งเราทำแบบนั้นไม่ได้ 100% แต่ผมเชื่อมั่นว่าลูกค้าประจำที่มาซื้อของเขาเห็นด้วย และร่วมกันไม่ใช้ถุงพลาสติก หลายคนถือถุงมาเอง ซึ่งอยากขอเชิญชวนทุกคนให้พกถุงอะไรมาก็ได้ เงินที่จะเกิดจากการไม่รับถุง จะได้นำไปบริจาคให้สาธารณะตามโครงการต่างๆ”

“แม็คโคร” ดึงผู้ประกอบการ 3 ล้านราย ร่วมลด-เลิกใช้โฟม 

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ห้างแม็คโครเป็นศูนย์ค้าส่งรายเดียว ที่ไม่ได้ใช้ถุงพลาสติกมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว นับตั้งแต่ห้างเปิดให้บริการ เพื่อหวังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปริมาณขยะพลาสติกที่มีเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี

ระยะแรกเมื่อ 30 ปีก่อน มีผลตอบรับในช่วงแรกทั้งแง่บวกและแง่ลบจากลูกค้า แต่สิ่งที่แม็คโครดำเนินการ คือ การให้ทางเลือกกับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการและหลายรายต้องการพลากสติก แต่บริษัทใช้วิธีให้กล่องแทน และการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการขนกลับไปที่บ้าน หรือสะดวกต่อการเดินทางเมื่อออกจากห้าง ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมาบริษัทประเมินว่าลดการทิ้งขยะพลาสติกในโลกได้ประมาณ 5,400 ล้านชิ้น ถือว่าช่วยสิ่งแวดล้อมได้มาก

ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน ห้างแม็คโครดำเนินโครงการลดการใช้กล่องโฟมเพิ่มเติมด้วย เพราะเห็นว่า กล่องโฟม เป็นประเภทขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ทั้งสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า "Say Hi to Bio, Say No To Foam" ชวนผู้ประกอบการและผู้บริโภคลดใช้โฟม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2562 นำร่อง 12 สาขาทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารปรับตัว

บริษัทมีแผนงานเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการเลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารภายในปี 2565 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด รวมถึงการเดินหน้าตามที่รัฐกำหนดยุทธศาตร์ 4 มาตรการไว้ด้วย ได้แก่ เลิกใช้โฟม-พลาสติก, ลดการใช้, ใช้นวัตกรรมใหม่ และคัดแยกรวมถึงกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

สำหรับการรณรงค์ลดใช้โฟม ยังมีแนวทางร่วมกับเครือข่ายผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย, เส้นใยพืชกระดาษ, เส้นใยยูคาลิปตัส

"แม๊คโคร มีลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ 3 ล้านราย และผู้ประกอบการเหล่านี้ทำอาหารขาย ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ พวกนี้อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ตอนนี้ที่อยากขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาช่วยเรา คือ กล่องโฟมเหล่านี้มีต้นทุนถูกผู้ประกอบการหาซื้อได้ง่ายในราคาระดับสตางค์ ซึ่งแตกต่างจากกล่องไบโอ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ แต่กลับมีราคาแพงกว่ากล่องโฟมชิ้นละ 1-2 บาท บางทีต้องบอกว่า เราทำงานรณรงค์กับผู้ประกอบการร้านอาหารสตรีทฟู้ดทั้งหลาย ทุกคนก็อยากรักสิ่งแวดล้อม อยากช่วยลดปัญหากล่องโฟม ปัญหาขยะ แต่ต้นทุนมันสูง ถ้าเราสามารถลดต้นทุนนี้ได้ ก็อยากให้รัฐช่วยสนับสนุนต้นทุนกับผู้ผลิตด้วย เช่น การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี นโยบายด้านกฎหมาย หรือ ด้านภาษี และถ้าเป็นกฎหมาย จะเกิดความร่วมมือ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากขึ้น จากการรณรงค์หรือขอความร่วมมือควบคู่ไปด้วย ซึ่งถ้ารัฐช่วยสนับสนุนได้ ทำให้ต้นทุนถูกลง เชื่อว่าไม่ต้องรอถึงปี แต่จะเห็นผลเปลี่ยนแปลงภายใน 3-4 เดือนได้แน่นอน"

โลตัสเสนอรัฐประกาศโรดแมปชัด "เลิกใช้ถุงพลาสติก" ทั่วประเทศ

น.ส.สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ระบุว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคมากขึ้น หลังจากเริ่มรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก แต่การตื่นตัวมากขึ้นก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งโลตัสใช้วิธีให้รางวัล หรือแต้มสะสม กับคนที่ไม่ต้องการถุงพลาสติก ซึ่งเห็นด้วยกับแนวทางของ รมว.ทส. ว่า ต้องใช้รูปแบบนโยบายเชิงบังคับมากขึ้น โดยบริษัทยินดีให้ความร่วมมือ เพราะมองว่ามีความจำเป็นและถึงเวลาแล้ว ซึ่งการเริ่มต้นขอความร่วมมือกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทางโลตัสเห็นด้วย แต่ต้องดูด้วยว่าร้านไหนที่เข้าร่วมบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น เพราะถ้าเกิดการลักลั่นก็จะมีผลต่อประชาชนที่เกิดความรู้สึกว่า ไปใช้บริการห้างข้าง ๆ หรือห้างอื่นที่แจกถุงพลาสติก จึงอยากให้รัฐทำนิยามให้ชัดเจนว่าเริ่มที่ใคร รวมถึงมีโรดแมปที่ชัดเจนในแผนงานที่จะดำเนินการ เพราะจะเห็นว่า มีทั้งร้านค้าปลีก ค้าส่ง ร้านชุมชน ร้านตลาดสด ประกาศให้ชัดว่า วันที่ 1 ม.ค.2563 จะเป็นร้านกลุ่มไหนเริ่มยกเลิกใช้ถุงพลาสติกบ้าง แล้วทำเป็นโรดแมปกลุ่มต่อ ๆไป เพื่อให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการจะได้เตรียมใจยุติการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงผู้ผลิตถึงพลาสติกก็จะได้เตรียมใจ ในคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) การผลิตถุงที่ลดลง


อีกประเด็นที่มีข้อเสนอคือ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจว่า การงดแจกถุงพลาสติกแล้วถ้ายังมีประชาชนต้องการใช้ถุงพลาสติก หากขายถุงละ 2-3 บาท ตามที่รัฐกำหนดราคา ก็จะต้องแจ้งประชาชนด้วยว่า เงินค่าถึงพลาสติกส่วนนี้จะไปอยู่ที่ใด นำไปรักษาหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้สำคัญมาก เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและไม่มาต่อว่า ภาคเอกชน หรือรัฐ

 “บิ๊กซี” ดึงกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ร่วมเลิกใช้ถุงพลาสติก

นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช ที่ปรึกษา บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ห้างบิ๊กซี ให้ความร่วมมือกับการงดใช้ถุง ซึ่งทุกวันที่ 4 ของเดือน มีกำหนดยกเลิกการแจกถุง แน่นอนว่ามีผลตอบรับกลับมาเชิงตำหนิพอสมควรในช่วงแรก แต่การงดให้ถุงก็จะใช้วิธีจูงใจลูกค้าด้วยการให้แต้มสะสม

ที่ผ่านมา บิ๊กซีมีกลุ่มเป้าหมายที่ขายของให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ทัวร์ลิส) ที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งบิ๊กซีใช้วิธีให้กล่องกับทางกลุ่มนี้ โดยจะนำของใส่กล่องขึ้นเครื่องบินกลับไป ประเด็นทัวร์ลิสเป็นกลุ่มสำคัญที่บิ๊กซีจำเป็นต้องรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกและมีส่วนร่วมว่าประเทศไทยกำลังรณรงค์ เพื่อให้เขามีส่วนร่วมต่อการลดใช้ถุงพลาสติก

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการซื้อของแล้วให้ถุงผ้า หรือการแลกแต้มด้วย แต่เรื่องเหล่านี้เห็นใจผู้ประกอบการเช่นกัน เพราะเข้าใจว่าทุกบริษัทก็อยากให้ความร่วมมือ แต่มีข้อเสนอถึงรัฐว่า ภาครัฐควรต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากการออกกฎหมาย เพราะความรู้สึกของการมีกฎหมายจะสร้างความรู้สึกได้ว่า นี่คือสิ่งที่ต้องทำ แต่อีกเรื่องคือการรณรงค์เรื่องจิตสำนึก คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก หากทำให้รู้สึกว่าการขอถุงเป็นเรื่องน่าอายก็จะช่วยได้เรื่องกระแสสังคม การรณรงค์ไม่รับถุง ไม่เอาถุง ถ้าทำเป็นกระแสมาก ๆ จะเป็นเรื่องที่ดี ห้างเองก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะไม่ให้ถุง คิดว่าเรื่องพวกนี้กระแสเป็นเรื่องสำคัญ การพูดตอนนี้ก็เป็นกระแส แต่หลังจากนี้ต้องใช้ความร่วมมือเป็นส่วนร่วมด้วย

“เซ็นทรัลฯ” ลุยต่อประกาศ 16 ก.ย.62 เลิกแจกถุงทั้ง 23 สาขา

นายฌาน ชานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยว่า ห้างเซ็นทรัลฯ ทั่วประเทศที่มีจำนวน 23 สาขา ได้ร่วมรณรงค์จริงจังตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก มีเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงแรกจะเสียงวิจารณ์จากลูกค้าบ้าง แต่หลังจากนั้นบริษัทพบว่า กลุ่มลูกค้าที่ไม่ขอรับถุงพลาสติก มีเกินร้อยละ 50 ของจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการทั้งหมด

ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.2562 - 5 ก.ย.2562 สามารถลดถุงพลาสติกในห้างเซนทรัลทุกสาขาได้เกือบ 2 ล้านใบ และตั้งแต่วันที่วันที่ 16 ก.ย.2562 เป็นต้นไป ห้างเซนทรัลทุกสาขาจะไม่แจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าแล้ว แต่จะเปลี่ยนไปเป็นการแจกถุงกระดาษให้แทนถุงพลาสติกทุกประเภท รวมถึงการมีถุงผ้าจำหน่ายในราคา 15-50 บาท ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า รวมถึงทำถุงผ้าให้มีลวดลายเป็นแฟชั่น ทำให้ลูกค้าชื่นชอบ รวมถึงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงความรู้สึกของลูกค้า จะยิ่งช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากลูกค้าได้มากขึ้น

"ช่วงแรกลูกค้าบ่นมากในโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากที่บริษัทได้รณรงค์ พูดถึงปัญหาขยะพลาสติก การนำรูปเต่าทะเลกำลังกินถุงพลาสติกมานำเสนอให้ลูกค้าดู พบว่า ได้ผลต่อความรู้สึกของลูกค้ามาก เขารู้สึกว่าน่าสงสารและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อทะเลไทย และสิ่งแวดล้อม"


ประลอง ดำรงค์ไทย