150 ปีประวัติศาสตร์มลภาวะและปัญหาโลกร้อน…นับถอยหลังจุดจบมนุษยชาติ (15 พ.ค. 62)

Green News TV 15 พฤษภาคม 2562
150 ปีประวัติศาสตร์มลภาวะและปัญหาโลกร้อน…นับถอยหลังจุดจบมนุษยชาติ

“โฮโม เซเปียนส์” ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 200,000 ปีมาแล้ว พัฒนาจนกลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์แบบเราๆ เมื่อ 50,000 ปีที่แล้ว เริ่มแสดงภูมิปัญญาด้วยการเริ่มปฏิวัติเกษตรกรรมเมื่อราว 7,000-10,000 ปีที่แล้ว ก่อกำเนิดอารยธรรมแรกของโลกแถบเมโสโปเตเมีย เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว

หลังจากนั้นมนุษยชาติก็ใช้ชีวิตอยู่ในยุคเกษตรกรรมเรื่อยมา จนกระทั่งเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ครั้งแรก) ระหว่างปี ค.ศ.1760-1820 ซึ่งมนุษย์เริ่มใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการผลิตแบบมหาศาลด้วยโรงงาน และการขนส่งมวลชนที่ใช้พลังไอน้ำ การเผาผลาญเพื่อการเกษตรที่มีวงจำกัด กลายเป็นการเผาผลาญที่ไร้ขีดจำกัดเพื่อผลิตสินค้าและบริการ

นี่คือจุดเริ่มต้นของลัทธิบริโภคนิยมที่จะผลักดันการผลิต และการผลิตผลักดันการเผาผลาญพลังงาน และการเผาผลาญพลังงานผลักดันการสร้างมลภาวะ ในปริมาณมหาศาลแบบที่มนุษยชาติไม่เคยประสบมาก่อน นับตั้งแต่การถือกำเนิดของโฮโม เซเปียนส์

ในปี ค.ศ.1850-1890 หรือหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมผ่านพ้นมาได้ระยะหนึ่ง และโลกเข้าสุ่ยุคโมเดิร์นที่การผลาญพลังงานเริ่มจะถีบตัวเพิ่มขึ้นมา ตอนนั้นอุณหภูมิค่ากลางของโลกอยู่ที่ 13 องศาเซลเซียสเท่านั้น

1859

แม้จะเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการเผาผลาญพลังงานและสร้างมลภาวะ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มตระหนักแล้วว่า การปล่อยก๊าซจะส่งผลกระทบต่อโลก เช่น John Tyndall นักฟิสิกส์ชาวไอริช ที่ระบุไว้ในปี ค.ศ.1859 ว่าก๊าซบางประเภทที่ปล่อยออกมา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก นั่นเป็นข้อสันนิษฐานเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีใครสนใจในสิ่งที่ Tyndall ตั้งข้อสังเกตไว้

1896

อีก 40 ปีต่อมาหลังจากที่ Tyndall ตั้งสมมติฐานเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกจากการปล่อยก๊าซบางประเภท ในปี ค.ศ.1896 นักเคมีชาวสวีดิช Svante Arrhenius ตีพิมพ์รายรายงานการคำนวณภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์ โดยชี้ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 5-6 องศาเซลเซียส แม้ในปีนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยยังห่างไกลจากคำว่าโลกร้อน แต่ประจวบเหมาะกับที่ในปีนี้มีอุณหภูมิสูงอย่างผิดปกติ จนทำให้เกิดปรากฎการณ์คลื่นความร้อนทั้งในซีกโลกเหนือ (สหรัฐอเมริกา) และในซีกโลกใต้ (ออสเตรเลีย) โดยมีผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์

1870

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1870 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอยู่ที่การใช้พลังงานไอน้ำจากถ่านหิน ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกอย่างมากมายแล้ว แต่การปฏิวัติรอบ 2 นี้เป็นจุดเริ่มต้นของพลังงานไฟฟ้า และการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน ที่ยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมเสียหายหนักมากขึ้น

1920

การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบ 2 สิ้นสุดวิวัฒนาการในปี ค.ศ.1910 แต่อีก 10 ปีต่อมา (ค.ศ.1920) คือการเริ่มต้นของยุคพลังงานฟอสซิลอีกชนิดนั่นคือ น้ำมัน ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในเท็กซัสและตะวันออกกลาง จึงทำการกลั่นเป็นปิโตรเลียม ทำให้โลกรู้จักพลังงานรูปแบบใหม่ที่ราคาถูกและไม่ปล่อยฝุ่นควันได้ชัดเจนเท่ากับถ่านหิน กอปรกับในช่วงเดียวกันนั้นเป็นยุคของยานยนต์ราคาถูก ที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมครั้งแรก เช่น รถรุ่น T ของบริษัทฟอร์ด กลายเป็นจุดเริ่มของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์มหาศาลจากน้ำมัน

1938

แม้ว่าชาวโลกยังไม่ตระหนักถึงผลพวงจากการเผาลาญพลังงานมหาศาล แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนเริ่มตระหนักนั่นคือ Guy Stewart Callendar ที่รื้อฟื้นทฤษฎีโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เสนอไว้โดย Svante Arrhenius ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1896 โดย Callendar แสดงหลักฐานว่าทั้งอุณหภูมิและระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1938 คนในวงการวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงโต้เถียงถึงความเป็นไปได้หรือแม้แต่เพิกเฉยต่อทฤษฎีนี้ [1]

1958

กว่าที่ทฤษฎีก๊าซเรือนกระจกจะเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ ก็ปาเข้าไปปี ค.ศ.1958 แต่เป็นเรื่องที่ยอกย้อน เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เริ่มสนใจปรากฏการณ์เรือนกระจกบนโลกของเราก่อน แต่พบว่าเรือนกระจกที่เกิดจากก๊าซบนดาวศุกร์ ทำให้อุณหภูมิของดาวเคราะห์ดวงนั้นเพิ่มสูงขึ้น

1960

อีก 2 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Charles Keeling ประสบความสำเร็จในการพิสูจน์เรื่องการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และเขาผู้นี้เป็นเจ้าของชื่อ Keeling Curve หรือกราฟซึ่งลงจุดการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก และในเวลาเดียวกันนั้น นักวิทยาศาสตร์เริ่มคาดการณ์ปริมาณสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต เช่นในปี ค.ศ.1959 คาดการณ์ว่าคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้น 25% เมื่อถึงปี ค.ศ.2000 [2]

1963

ในการประชุมที่จัดโดย Conservation Foundation เป็นครั้งแรกที่ในการประชุมของนักวิทยาศาสตร์แสดงความกังวลเรื่องปัญหาโลกร้อน ที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมชายฝั่งอย่างหนักหน่วง และในเขตร้อนสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมากจะถูกทำลาย หากการปล่อยมลพิษไม่ถูกตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง [3]

1968

John Mercer นักวิทยาศาสตร์ด้านธารน้ำแข็งวิทยาเตือนว่า มีโอกาสที่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกฝั่งตะวันตกจะแตกอยางรวดเร็ว และทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เมตร และ Mercer คิดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 40 ปีข้างหน้า [4] ซึ่งสิ่งที่เขาทำนายกำลังเกิดขึ้นจริงอยู่ในเวลานี้ เพียงแต่อัตราการคาดการณ์น้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นได้ปรับลงมาอยู่ที่ราว 3-4 เมตร

1976

Syukuro Manabe นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพัฒนาโมเดลสภาวะอากาศโลกแบบ 3 มิติ และเมื่อคำนวณอัตราการเพิ่มของคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้น 2 เท่า ก็พบว่าจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส นอกจากนี้การศึกษาในปี ค.ศ.1975 และ 1976 แสดงให้เห็นว่าสาร CFCs ก๊าซมีเธน และโอโซน มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

1985

ทีมงานของ V. Ramanathan นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ประกาศว่าภาวะโลกร้อนอาจเกิดเร็วขึ้นสองเท่าจากที่คาดไว้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของมีเธนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CFCs

1987

โลกเริ่มตื่นกลัวและตื่นตัวมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 และทศวรรษนี้มีความก้าวหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เช่น ปัญหาการลดลงของโอโซน ซึ่งประชาคมโลกแก้ปัญหานี้ด้วยการผ่านอนุสัญญาเวียนนา และพิธีสารมอนทรีออล เพื่อกำหนดข้อจำกัดในระดับสากลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซทำลายโอโซน

1990

รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ฉบับแรก (First Assessment Report) ระบุว่าโลกกำลังร้อนขึ้น และมีโอกาสที่ภาวะโลกร้อนในอนาคตจะเลวร้ายยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาสรุปส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า “การปล่อยก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์นั้น เพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอย่างมาก การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์, มีเธน, CFCs และไนตรัสออกไซด์ จะยิ่งเพิ่มภาวะเรือนกระจก ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของพื้นผิวโลกร้อนขึ้น” [5] [6]

1992

ประชาคมโลกจัดการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ขึ้นที่นครริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวทีสากล แต่การประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ไม่มีความก้าวหน้า เพราะสหรัฐอเมริกาขัดขวางมิให้ที่ประชุมกำหนดมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และหลังจากนี้สหรัฐฯ จะขัดขวางความพยายามที่จะวางกรอบลดมลภาวะมาโดยตลอด

1995

รายงาน IPCC ฉบับที่สอง เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า “คาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการคาดการณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในอนาคต และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นเครื่องยืนยันถึงผลกระทบจากมนุษย์ที่ยังผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ” [7]

1997

ลงนามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป้าหมายหลักของพิธีสารเกียวโตคือการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ โดยอิงกับปริมาณการปล่อยก๊าซของแต่ละประเทศ, ระดับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และศักยภาพของแต่รายที่จะลดการปล่อยก๊าซ [8]

1998

เกิด “ซูเปอร์เอลนีโญ” (Super El Niño) ซึ่งทำให้ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยรู้จักปรากฎการณ์นี้ เพราะตามปกติเอลนีโญจะเกิดขึ้นในแถบแปซิฟิกของอเมริกาใต้เป็นหลัก ในปีนั้นอากาศร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก

2001

รายงาน IPCC ฉบับที่สามระบุว่า ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มาก ด้วยผลกระทบจะที่สร้างความเสียหายอย่างมากในอนาคต ทั้งนี้ อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ประมาณ 0.6 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศระดับต่ำสุด 8 กิโลเมตร ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งปริมาณหิมะและน้ำแข็งปกคลุมลดลง

2005

พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ ประเทศอุตสาหกรรมหลักเกือบทุกประเทศลงนามรับรองจนหมด ยกเว้นสหรัฐอเมริกา แต่ทว่ารัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯ ที่เล็งเห็นถึงภัยจากโลกร้อน ได้ดำเนินการลดการปล่อยมลภาวะด้วยตัวเองโดยไม่รอการตัดสินใจของรัฐบาลกลาง

2014

รายงาน IPCC ฉบับที่สี่ระบุว่า แม้ว่าจะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในทันที แต่ภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปอีกนับร้อยปี โดยเนื้อหาในรายงานระบุว่า “อุณหภูมิพื้นผิวจะยังคงอยู่ในระดับคงที่โดยประมาณเป็นเวลาหลายศตวรรษ หลังจากหยุดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยมนุษย์” ซึ่งเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศได้เตือนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 และถึงกับชี้ว่าภาวะโลกร้อนจะดำเนินต่อไปอีกนับพันปี

2016

ให้กำเนิดความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเริ่มในปี ค.ศ.2020 โดยเป้าหมายระยะยาวคือการหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส อันเป็นระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จากนั้นจึงค่อยจำกัดการเพิ่มให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอัตรานี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก

2018

สหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกถอนตัวออกจากความตกลงปารีส และความร่วมแรงร่วมใจของประชาคมโลกที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนตกอยู่ในความมืดมน

นี่คือประวัติศาสตร์สังเขปของปัญหาโลกร้อน เป็นความสังเขปที่น่ากังวล เพราะในประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 200,000 ปีของโฮโม เซเปียนส์ แต่เพียงส่วนเสี้ยวกระจิดริดของยุคสมัยเท่านั้นที่กำลังนำพาพวกเขาไปพบกับจุดจบ ส่วนเสี้ยวนี้มีระยะเวลาเพียง 150 ปี หากเทียบกับ 200,000 ปีแล้วมีอัตราส่วนเพียง 0.08 เท่านั้น

และหากยังอยู่ในเทรนด์นี้ต่อไป ปัญหาโลกร้อนจะกู่ไม่กลับ ซึ่งหมายความว่ามนุษยชาตินับถอยหลังจุดจบของประวัติศาสตร์โฮโม เซเปี้ยนส์ไว้ได้เลย

สำหรับประวัติศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ คงสรุปได้ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ปัญหายืนยาว ชีวิตสั้น” เพราะต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยปีกว่าที่โลกจะปกติได้อีกครั้ง … สมมติว่าหากจะกลับมาปกติได้