จบแล้ว “แลนด์บริดจ์กินรวบ-ท่าเรือปากบารา” แต่ “ท่าเรือสงขลา 2” และ “คลองไทย” ยังอยู่! (22 เม.ย. 62)

MGR Online 22 เมษายน 2562
จบแล้ว “แลนด์บริดจ์กินรวบ-ท่าเรือปากบารา” แต่ “ท่าเรือสงขลา 2” และ “คลองไทย” ยังอยู่! แถมทิศทางเมกะโปรเจกใต้เปลี่ยนไปไหลตาม EEC สู่ SEC 

ช่วงนี้มีข่าวที่ทำให้ต้องเบิ่งตาชมและเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจเยอะมาก บางข่าวถึงขั้นต้องติดตามด้วยใจระทึกเพื่อความต่อเนื่อง แล้วเมื่อนำข่าวเหล่านั้นมาประติดประต่อกันก็จะเห็นความเชื่อมร้อยอย่างมีจังหวะจะโคน เหมือนกับถูกจัดสรรไว้แล้วอย่างเป็นขั้นตอนและลงตัวเอามากๆ ส่วนเป็น “ฝีมือใคร” ก็เป็นที่รู้ๆ กัน

ข่าวที่ว่านี้สอดรับกับสิ่งที่ผมคิดมาตลอด เคยพูดและเขียนเล่าสู่สาธารณะบ่อยๆ ว่า เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อแจ้งเกิด “โครงการพัฒนาขนาดใหญ่” ในภาคใต้ แม้ช่วง 5 ปีภายใต้ “รัฐบาล คสช.” จะเห็นความคึกคักมามากแล้ว แต่เชื่อว่าเมื่อเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านพ้น หลังจากนี้หากเรายังได้ท่านผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่นน่าจะยิ่งคึกคักแบบทบเท่าทวีคูณขึ้นไปอีก อันเป็นไปตามสิ่งผมชี้ไว้นานแล้วว่า ภาคใต้กำลังถูกดันในอัตราเร่งให้กลายเป็น...

“ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าข้ามโลก” และ “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก”

ตัวอย่างข่าวล่าสุด 26-27 เม.ย.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมคณะชุดใหญ่ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จะเดินทางไปร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

สิ่งที่บิ๊กตู่ตั้งใจจะนำไปเสนอในที่ประชุมคือ เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้ง “แถบ” และ “เส้นทาง” กับจีนในทุกมิติ โดยเฉพาะต้องการนำ “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “EEC (Eastern Economic Corridor)” ที่จะยกสถานะไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลาง” ด้านต่างๆ ทั้งของอาเซียนและของโลกไปเสนอขายด้วย เพื่อให้ EEC เชื่อมกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(ACMECS) รวมถึงกรอบความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียงแบบไร้รอยต่อ

ขณะที่ 23 เม.ย.2562 นี้จะมี “เวทีสานเสวนายุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้” ที่ ก.พลังงานมอบให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) จัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งจัดที่โรงแรมบีพี สมิหาบีช จ.สงขลา อันสืบเนื่องจาก MOU เมื่อ 20 ก.พ.2561 ระหว่างนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กับตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือน มี.ค.2562 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ยกทัพมาจัดประชุมกันที่เมืองหาดใหญ่ อาจดูเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นนัยสำคัญต่อการเกิดหรือไม่เกิดขึ้นของ “โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2” นั่นเอง

นี่ยังไม่นับความเคลื่อนไหวเมกะโปรเจกต์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งหินด้วยสัมปทานเหมือง การหาแหล่งน้ำจืดด้วยการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ คลองระบายน้ำ ประตูกั้นน้ำ การเพิ่มแหล่งพลังงานด้วยสัมปทานขุดเจาะ ตั้งโรงกลั่น ทำระบบท่อน้ำมันและก๊าซ การสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งด้วยถนนหนทาง มอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการปลุกปั้นภาคใต้ให้เป็นอย่างน้อย 2 ศูนย์กลางตามที่ว่า

ไม่เพียงเท่านั้นเวลานี้ยังมีข่าวที่ไม่ปรากฏตามสื่อต่างๆ แต่สะพัดอยู่ในแวดวงคนมีอำนาจวาสนาว่า ในสัปดาห์นี้จะมีโต๊ะแชร์บรรดาเจ้าสัวที่เป็นตัวแทนของกว่า 10 ตระกูลใหญ่ระดับประเทศ แล้วจะมีการเชิญ 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปพูดคุยหารือเรื่องการบ้านการเมืองด้วย

จากข่าวต่างๆ ดังที่ว่า เมื่อผสมกับปรากฏการณ์อื่นๆ ตามที่มีแนวโน้ม จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาวิเคราะห์ว่า หลังเราได้รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ แบบไทยๆ ชุดใหม่ ทิศทางของการพัฒนาภาคใต้จะเดินไปทางไหน แล้วบรรดาเมกะโปรเจกต์จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร?!

เมื่อมองด้วย “สายตานก” ให้เชื่อมโยงกับ “สายตาหนอน” แล้วร้อยเรียงเรื่องราวทั้ง “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” เข้าเป็นเนื้อเดียวกันก็จะพบว่า ภายใต้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมากุมบังเหียนประเทศชาติ ทิศทางของการพัฒนาที่ถูกกำหนดโดย “ฝีมือใคร” อันเป็นที่รู้กันนั้นเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน อีกทั้งมีบางเมกะโปรเจกต์ถูกรูดม่านปิดฉากไปแล้วด้วย

จากการประติดประต่อข่าวสารและปรากฏการณ์ต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่า สิ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นระดับ 2 อภิมหาเมกะโปรเจกต์เลยก็ว่าได้คือ หนึ่งนั้น “คลองไทย” กับอีกหนึ่ง “สะพานเศรษฐกิจ” หรือ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเชื่อมฟากมหาสมุทนอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเหมือนกัน จึงทับซ้อนและสามารถทดแทนกันได้ โดยแต่ละโครงการสามารถที่จะมีเมกะโปรเจต์มากมายเกิดขึ้นตามมา ปรากฏว่าเวลานี้โครงการแรกยังหยัดยืนอยู่ได้เหมือนเดิม แต่โครงการหลังมีแนวโน้มจะถูกพลิกโฉมและลดชั้นแทบไม่เหลือเค้าเดิม

“คลองไทย” แม้จะออกตัวมานาน แต่ก็วิ่งได้ไม่ฉิวสักเท่าไหร่ วุฒิสภาไทยเคยศึกษาไว้ 10 เส้นทาง ขณะที่จีนทุ่มเงินผ่านกว่า 7 มหาวิทยาลัยดังของตัวเองให้มาจับมือกับมหาวิทยาลัยไทยศึกษาไว้เช่นกัน แล้วกำลังจะเสนอให้เพิ่มเส้นทางที่ 11 ที่ลงทุนทำโครงการย่อยๆ ได้มากจำนวน แต่ปรากฏว่าต้องรีบเก็บใส่ลิ้นชัก เพราะเป็นเส้นทางที่เกือบจะทับกับแลนด์บริดจ์ใต้ล่าง ซึ่งมีอันต้องถูกแปลงโฉมไปเพราะยูเนสโก้เพิ่งตัดสินให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของ จ.สตูลได้ขึ้นทะเบียนเป็น “อุทยานธรณีโลก”

หลังมีรัฐบาลใหม่เส้นทางขุดคลองไทยสาย 9A จากฝั่งอ่าวไทยที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ไปเชื่อมฝั่งอันดามันที่ อ.สิเกา จ.ตรัง ที่วุฒิสภาเลือกไว้แล้วนั้น เชื่อว่าโครงการนี้จะถูกหยิบยกชงขึ้นมาชูได้เด่นเป็นสง่ากว่าเดิม ยิ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งของไทยเองและทั่วโลก ความตื่นตัวที่จะทำให้สังคมไทยให้ความสำคัญยิ่งน่าจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แถมที่ต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะมีมูลนิธิ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มหาวิทยาลัยดังทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงคณะนายทหารชุดใหญ่หนุนหลังอยู่ด้วย

ถ้าขุดคลองไทย ในส่วนแลนด์บริดจ์ก็ไม่จำเป็นต้องทำเพราะทับซ้อนกัน แต่มีปัจจัยมากมายไม่เกื้อหนุนให้ขุดคลอง โดยเฉพาะด้านการลงทุน ความคุ้มทุน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญด้านความมั่นคงที่อาจจะต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ชาติมหาอำนาจ ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลและทุนไทยก็เชียร์ให้ทำแลนด์บริดจ์มากกว่า เส้นทางแรกอยู่ที่ใต้บนคือ ชุมพร-ระนอง เจอเขตทับซ้อนน่านน้ำพม่าต้องล่าถอยลงใต้กลาง นครศรีธรรมราช-กระบี่ เจอทุนท่องเที่ยวกดดันหนักอีก สุดท้ายไหลลงมาอยู่ใต้ล่าง สงขลา-สตูล

“โครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” มีเมกะโปรเจกต์ย่อยประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกหัว-ท้าย แล้วเชื่อม 2 ฝั่งทะเลด้วยถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ ระบบท่อน้ำมันและก๊าซ หลายปีดีกัดที่เมกะโปรเจกต์เหล่านี้ถูกแยกแล้วผลักดันมาอย่างหนัก ถึงขั้นเกิดความขัดแย้งเป็นข่าวใหญ่โต แถมกลุ่มคัดค้านมาคดีความติดตัวกันมากมาย แต่สุดท้ายถูกทำให้ต้องเปลี่ยนโฉมไม่เหมือนเดิมด้วยการที่ฝั่ง จ.สตูล ได้ตีทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกเมื่อ 17 เม.ย.2561

แลนด์บริดจ์คือยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดให้กินรวบไว้แต่เฉพาะในภาคใต้ของไทยเรา รัฐบาลเสือเหลืองเคยยกความร่วมมือกรอบ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT)” เจรจาขอเชื่อแลนด์บริดจ์กับไทยเส้นทางปีนัง-สงขลา หรือไม่ก็ปีนัง-ปัตตานี แต่ไม่เคยเป็นผล แต่หลัง 17 เม.ย2561 แลนด์บริดจ์ในภาคใต้ไม่มีวันจะเหมือนแล้ว เพราะ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ฝั่งอันดามันที่ จ.สตูล มีอันต้องแท้งไปเรียบร้อยจากอุทยานธรณีโลกนั่นเอง

อย่างไรก็ตามสำหรับ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยยังประสานเสียงกันว่า เป็นโครงการที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าสร้าง เพราะจะช่วยเกื้อหนุนระบบการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าออกของภาคใต้ และความที่แลนด์บริดจ์กินรวมใต้ล่างไม่สมประกอบแล้ว จึงมีแนวโน้มสูงว่า “แลนด์บริดจ์ปีนัง-สงขลา” จะถูกพัฒนาขึ้นมาทดแทน แม้ฝ่ายไทยไม่อยากจะประกาศยุทธศาสตร์แลนด์บริดจ์ข้ามชาตินี้ให้ใครได้ยินก็ตาม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจนทุกวันนี้ธุรกิจขนส่งสินค้าในภาคใต้ก็ข้ามชาติโดยทางพฤตินัยของอยู่แล้ว

จากใต้ล่างมองย้อนขึ้นให้เห็นภาพรวมทั้งภาคใต้ ทั้งแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาหลายสิบปีมานี้ถูกปรับเปลี่ยนอย่างมีพลวัต การเลื่อนไหลของแลนด์บริดจ์ถึง 3 เส้นคือตัวอย่าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินก็ขยับได้ตามความเข้มแข็งกลุ่มค้าน ถึงขั้นมีเรื่องเล่าว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เคยรุกหนักจะปักหมุดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อกดทับหนัก แรงปะทะกลับจึงทวีคูณ เวลานี้แม้กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง กฟผ.ก็แทบจะทำอะไรไม่ได้ในเมืองคอน มิพักต้องพูดถึงเมกะโปรเจกต์อื่นๆ เช่น เขื่อนกั้นทะเลสาบสงขลา โรงถลุงเหล็กสหวิริยา โรงกลั่นและคลังน้ำมันสุโขทัย เป็นต้น

อย่างไรก็ดีเมกะโปรเจกต์อื่นๆ โดยเฉพาะที่เคยตกเป็นข่าวดังมาแล้ว เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ปานาเระ-กระบี่ เขื่อนวังหีบ-คลองสังข์-เหมืองตะกั่ว-หลังสวน-ตะโก-ละแม คลองผันน้ำเมืองนครฯ ประตูกั้นน้ำปากประ ประตูระบายน้ำคลองสวีหนุ่ม-บ้านหาดแตง เหมืองหินเขาคูหา-เขาโต๊กรัง-เขาพลู-เขาจำปา-เขาโต๊ะช่าง-เขาเณร-เขาลูกเล็กลูกใหญ่-เขาลูกช้าง-เขาวังบุมาก-เขาละใบดำ-เขาจุหนุงนุ้ย-เขาละมุ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนหน้าข่าวความขัดแย้งจากการรุกทำโครงการมากมายเกิดขึ้นที่ใต้ล่าง แต่ช่วงหลังๆ ปีสองปีมานี้กลับขึ้นเคลื่อนไปกระจุกตัวอยู่ที่ใต้บนต่อเนื่องถึงใต้กลาง

จากข้อสังเกตดังกล่าวอธิบายได้ด้วยความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช.ที่บริหารประเทศช่วง 5 ปีมานี้ กล่าวคือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” หรือ “ESB (Eastern Seaboard Development Program)” ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2525 ในฐานะ “ศูนย์กลางพลังงานไทย” ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้เกิด “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” หรือ “SSB (Southern Seaboard Development Program)” ตามมา แต่เมื่อพอถึงปี 2558 ครม.บิ๊กตู่มีมติให้ยกระดับ ESB ขึ้นเป็น “EEC”

พร้อมออกกฎหมายและใช้ ม.44 รองรับ

ต่อมาเมื่อ ส.ค.2561 ครม.บิ๊กตู่ได้มีมติเปลี่ยน SSB ไปเป็น “SEC (Southern Economic Corridor)”หรือ “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” เช่นกัน จากนั้นได้ทำแผนและโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ในลักษณะที่ต้องการเชื่อมโยงพื้นที่ให้ต่อเนื่องถึง EEC โดยประกาศชัดต้องการพัฒนา “ท่าเรือน้ำลึกระนอง” เป็นประตูออกสู่ฝั่งอันดามัน และให้เชื่อมกับ “ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง” ฝั่งอ่าวไทย แถมยังต้องการสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกชุมพร”ด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ “แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง” ในใต้บนที่มีความคิดจะทำแลนด์บริดจ์บนแผ่นดินด้ามขวานเส้นแรกนั่นเอง

ดังนั้นจึงอย่าได้แปลใจที่ช่วงปีสองปีมานี้เมกะโปรเจกต์จะไปถูกขับดันอยู่ในพื้นที่ใต้บน และเชื่อกันว่าหลังมีรัฐบาลใหม่ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ก็ยากจะแปลเปลี่ยน โดย “ศูนย์กลางโลจิสติกส์” เน้น 2 พื้นที่คือ ใต้บนมี “แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง” เป็นแกน ส่วนใต้ล่างมี “แลนด์บริดจ์ปีนัง-สงขลา” เป็นแกน ด้าน “ศูนย์กลางพลังงาน” ก็เน้น 2 พื้นที่เช่นกัน ใต้กลางที่ จ.นครศรีธรรมราช เวลานี้มีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าก๊าซแล้วถึง 4 โรงที่ อ.ขนอม และขยายไปได้ถึง จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนใต้ล่างที่ จ.สงขลา มีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าก๊าซแล้ว 2 โรงที่ อ.จะนะ ซึ่งในอนาคตสามารถตั้งฐาน “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” เพิ่มเข้ามาในทั้ง 2 พื้นที่ก็ยังได้

ดังนี้แล้ว 23 เม.ย.ที่มีเวทีจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ ผลลัพธ์จะออกหัวหรือก้อย หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ปานาเระ-กระบี่จะปักหมุดได้หรือเปล่า โดยเฉพาะผลการศึกษาจะออกมาว่าพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้เพียงพอหรือไม่ เหล่านี้ผมว่ายังคาดเดายาก แต่หากจะกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานไฟฟ้าแบบเพื่อเตรียมการให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ตามที่ว่ามา คงไม่ต้องคาดเดาอะไร

แม้อีกหลายวันที่ผู้นำไทยจะไปจีน แต่ผมจินตนาการได้เลยว่า ภาพบิ๊กตู่คู่กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จะได้รับการชงจนแพร่สะพัดแน่ เพราะอยากให้ทุนจีนและญี่ปุ่นมาลงทุนและร่วมผลักดัน EEC ให้เห็นผลโดยเร็ว