การเมืองเรื่องฝุ่น กับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง (14 มี.ค. 62)

 

พิมพ์ใจ พิมพิลา, ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

สืบเนื่องจากภาวะมลพิษทางอากาศที่คืบคลานมาในรูปแบบของฝุ่น PM 2.5 จนทำให้คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยเจอภาวะปัญหาหมอกควันและฝุ่นมาก่อน ต่างหวาดกลัวกับภาวะฝุ่นควันที่เกิดขึ้น แต่มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าเป็นความเคยชินของคนในภูมิภาคอื่น ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ที่ต้องประสบปัญหาในทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม โรงถ่านหิน โรงงานไฟฟ้า

เมื่อรัฐบาลออกมาบอกว่าโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้นไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ผิดกับภาพที่เห็นอย่างชัดเจน

ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจทั้งจากประชาชนและสื่อมวลชน โดยผู้มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นและวิธีการป้องกัน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นทั้งสิ้น ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว จำเป็นจะต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวของกับการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มาพิจารณาเพื่อแก้ไข ตรวจสอบ เพื่อควบคุมต้นตอของปัญหา

ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน มี พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับคือ 1. พ.ร.บ. โรงงาน  2. พ.ร.บ. เครื่องจักร  3. พ.ร.บ. วัตถุอันตราย

แต่ล่าสุดกฎหมายโรงงานที่เป็นคำสั่งจาก คสช. กลับถูกร่างขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนผู้ประกอบกิจการโรงงาน มากกว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในประเทศ

โอกาสนี้ 101 เชิญ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มาสนทนาสดในรายการ 101 One-on-One ว่าด้วยปัญหาฝุ่นในมิติทางสังคม ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำ สิทธิในอากาศสะอาด ความไม่เป็นธรรมในประเด็นสิ่งแวดล้อม กฎหมายโรงงาน และบทบาทในการแก้ปัญหาของภาคส่วนต่างๆ โดยมี กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ

การพูดคุยเรื่องฝุ่นในวันนี้ยังทันสมัยอยู่ไหม เมื่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เริ่มลดลง คุณเพ็ญโฉมมองปรากฏการณ์นี้ยังไง?

ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ และคนอีกหลายพื้นที่โชคดีกว่าชาวบ้านในหลายจังหวัด ที่เดือดร้อนจากมลพิษอากาศที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมมานานหลายปี โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม อย่างพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หรือชาวบ้านตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองหิน มีโรงโม่ โรงบดหิน ที่หน้าพระลานมีปัญหาค่าฝุ่นละอองทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ สูงเกินมาตรฐาน จนชาวบ้านจำนวนมากต้องเจ็บป่วยเพราะปัญหาฝุ่นละออง

แม้พื้นที่หน้าพระลานได้มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547  แต่ก็ไม่มีการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น แม้ว่าชาวบ้านจะร้องเรียนยังไง รัฐบาลก็ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังไปเรื่อยๆ คนที่เจ็บป่วยด้วยมลพิษอากาศก็มีสูงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเกิดปัญหากับชาวกรุงเทพฯ รัฐบาลเดือดร้อนมากและรีบเร่งสั่งการให้แก้ปัญหา ซึ่งแตกต่างจากความเดือดร้อนของประชาชนจากมลพิษอากาศที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ตอนนี้คนกรุงเทพฯ อาจเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น ชาวบ้านในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่เดือดร้อนเพราะมลพิษฝุ่นจากเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือชาวบ้านมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่อยู่กับปัญหามลพิษอากาศจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทุกวันๆ

ในความเห็นส่วนตัว ดิฉันคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 หรือแม้กระทั่งปัญหามลพิษทางอากาศ จะอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขง่ายๆ ยิ่งรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมและขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สมดุลอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในวันข้างหน้า

 

ดูจาก aqicn.org ซึ่งเป็นเว็บของต่างประเทศ เขาบอกว่าค่าคุณภาพอากาศในไทยเป็นตัวเลขไม่จริง อ้างอิงไม่ได้

เมื่อต้นปีก่อน มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตอเมริกามาคุยกับมูลนิธิฯ ของเรา เล่าว่าทางสถานทูตจะต้องเตรียมให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศแก่ชาวอเมริกันที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ไม่สามารถหาข้อมูลตามเว็บไซต์ของทางราชการได้ สถานทูตได้ติดต่อไปที่กรมควบคุมมลพิษ จึงทราบว่าทางกรมฯ มีข้อมูลการติดตามตรวจวัด PM 2.5 อยู่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยให้สาธารณะรู้ได้ ต้องเจรจากันพอสมควร ทางกรมฯ จึงยอมให้ข้อมูลนี้ไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของอเมริกา เพื่อให้ประชาชนในอเมริกาที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทยสามารถเช็คคุณภาพอากาศเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ได้

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมมลพิษไม่ได้รวมค่า PM 2.5 เข้าไปในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ ทำให้ไม่มีการรายงานค่า PM 2.5 ในการรายงานคุณภาพอากาศ และแอพพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษก็เพิ่งมีขึ้นในปีนี้

มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจสำหรับประเทศไทยตรงที่ว่า รัฐบาลกลัวว่าคนไทยจะตื่นตระหนกกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จนทำให้เสียบรรยากาศในการท่องเที่ยว การลงทุน หรือกลัวว่าคนไทยจะพูดเรื่องนี้กันมาก จนกระทั่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยโดยรวมเสียหาย ทั้งที่สิ่งที่ควรรีบทำคือการให้ข้อมูลกับประชาชนว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ประชาชนจะต้องดูแลตัวเองยังไงบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร และจะเกิดผลกระทบยังไงบ้าง

 

กรมควบคุมมลพิษออกมาบอกว่า สาเหตุของ PM 2.5 ที่มาจากโรงงานมีเพียงแค่ 4% เท่านั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่าไม่พบว่ามีโรงงานที่ปล่อย PM 2.5 หรือแม้แต่แถลงการณ์ของพลเอกประยุทธ์ บอกว่าไปตรวจตามโรงงานแล้ว พบว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน มันแปลว่าอะไร?

ดิฉันไม่ทราบ และตัวเองก็มีคำถามเหมือนกัน บ้านเรามีปัญหา 2 ข้อ คือ 1. ยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ที่ปลายปล่อง แต่เป็นการตรวจวัดฝุ่นทุกขนาดโดยรวม  2. ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นละออง กฎหมายที่มีอยู่กำหนดเฉพาะสำหรับโรงงานขนาดใหญ่บางประเภทเท่านั้น ที่ต้องตรวจวัดปลายปล่องและต้องมีการดักจับเพื่อลดการปล่อยฝุ่นสู่สิ่งแวดล้อม

2-3 ปีก่อนหน้านี้ ทางกรีนพีซพยายามเจรจากับกรมควบคุมมลพิษให้รวม PM 2.5 เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศของ กทม. เพื่อให้มีการรายงานฝุ่น PM 2.5 ให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลว่าด้วยบัญชีรายชื่อมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเรายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเราไม่มีบัญชีรายชื่อมลพิษฯ ที่ว่านี้ เราจะไม่สามารถบอกได้เลยว่าทุกวันนี้ฝุ่น PM 2.5 เกิดมาจากแหล่งไหนหรือเกิดจากอะไรบ้าง มีปริมาณเท่าไหร่ หน่วยงานราชการอาจมีการคำนวณเบื้องต้นได้ว่า ประเทศไทยมีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลกี่คัน รถยนต์จำนวนเท่านี้น่าจะก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เท่าไหร่

ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมานานมาก แต่เราไม่มีข้อมูลเลยว่า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศปล่อยอากาศเสียออกมาปริมาณเท่าไหร่ต่อปี ในอากาศเสียมีสารมลพิษอะไรบ้าง ทั้งที่สารมลพิษในอากาศหลายชนิดทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วย

ถ้าหากว่าโรงงานแต่ละโรงมีเครื่องมือตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ปลายปล่อง มีการรายงานข้อมูลนี้ให้หน่วยงานรัฐ และจัดทำเป็นฐานข้อมูล รัฐบาลก็จะบอกได้ว่า ระดับฝุ่น PM 2.5 มีมาก มีน้อย อย่างไร แต่ประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐาน PM 2.5 ปลายปล่องโรงงาน ดังนั้นการที่กระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า รัฐบาลได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีโรงงานไหนปล่อย PM 2.5 เกินมาตรฐานนั้น เราจึงมีคำถามว่า ท่านเทียบจากมาตรฐานอะไร

 

เป็นไปได้ไหมว่า ถึงประเทศไทยไม่ได้บังคับการตั้งเครื่องมือตรวจวัด แต่ผู้ประกอบการอาจรู้ว่ายังไงอีกหน่อยประเทศอื่นๆ เขาก็มีกันหมดแล้ว จึงได้มีการติดตั้งไว้ก่อน

ประเทศไทยอาจจะมีโรงงานขนาดใหญ่บางแห่งที่ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด แต่เมื่อเราไม่มีค่ามาตรฐานปลายปล่อง มันจะบอกไม่ได้เลยว่า ตกลงที่ปล่อยออกมามันเกินหรือไม่ เรามีภาพปล่องปล่อยควันดำเยอะทีเดียว เช่น ภาพควันดำจากปล่องแฟลร์ที่จังหวัดระยองที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมนี้เอง


ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มี ‘ปล่องแฟลร์’ หรือว่าหอเผาก๊าซในลักษณะที่เราเห็นในภาพที่เสนอในวันนี้มากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากจังหวัดระยองเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งอาจจะใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรือใหญ่ประมาณอันดับ 5 ของโลก แต่เราไม่มีข้อบังคับควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศปลายปล่อง ซ้ำยังมีโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงผลิตเหล็ก โรงงานรีไซเคิลอีกจำนวนมาก ที่ต่างก็ปล่อยมลพิษอากาศปริมาณมากทุกวัน แต่เราก็ยังบอกไม่ได้ว่ามีโรงงานไหนบ้างที่มีการปล่อยมลพิษอากาศ เช่น PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ เกินมาตรฐานหรือไม่

 

ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน เขาเป็นยังไงบ้าง?

เพื่อนบ้านของเรา เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นสองประเทศที่วางแผนปรับลดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ทั้งค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีอย่างต่อเนื่อง แต่ของประเทศไทยยังคงยืนค่ามาตรฐานเดิมมาตั้งแต่มีการประกาศค่ามาตรฐานเมื่อปี 2553

มาเลเซียตั้งเป้าลดค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 50 และ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ.2561 และ 2563 ตามลำดับ และลดค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีจากเดิม 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 25 และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี พ.ศ.2561 และ 2563 ตามลำดับเช่นกัน เพื่อให้มีค่ามาตรฐานใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีขององค์การอนามัยโลกจะต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สำหรับของสหรัฐอเมริกา กำหนดค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มาตรฐานเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ประเทศไทย ยังคงใช้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมาตรฐานเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสรุปมาตรฐานของประเทศไทยห่างจากขององค์การอนามัยโลกเท่าตัว

ประเทศจีนเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังมีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น ปัญหา PM 2.5 จะเห็นว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเป็น 1 ใน 6 เมืองใหญ่ที่ประสบปัญหารุนแรงมากจากฝุ่น PM 2.5 รัฐบาลจีนได้ระดมนักวิชาการและนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาศึกษาวิจัยปัญหา PM 2.5 รวมไปถึงมลพิษทางอากาศบางตัวที่เป็นตัวร้ายๆ เช่น พวกสารกลุ่มไดออกซิน และกลุ่มสาร PAHs (Polycyclic aromatic hydrocarbons) ที่เป็นกลุ่มสารมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และเป็นสารก่อมะเร็งด้วย

รัฐบาลจีนให้นักวิจัยศึกษาหาสาเหตุที่มาของฝุ่น PM 2.5 และปัญหาคุณภาพอากาศใน 22 จังหวัดทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของประเทศ อากาศทางภาคใต้ของประเทศจีนดีกว่าทางภาคเหนือ เนื่องจากทางภาคเหนือเขตพัฒนาอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก คุณภาพอากาศจึงเลวร้ายกว่ามาก ในอากาศมีสารมลพิษปะปนหลายกลุ่ม ทั้งสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และสารก่อมะเร็งกลุ่มไดออกซิน

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาฝุ่นของจีนจึงมีงานศึกษา มีข้อมูลหลักฐานมารองรับชัดเจนว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาหรือแหล่งที่มาของ PM 2.5 คือมลพิษอากาศที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ปล่อยก็มีตั้งแต่โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมถ่านหิน โรงงานปูนซีเมนต์ หรือว่าโรงงานปูนที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมรีไซเคิล โดยเฉพาะการรีไซเคิลหรือว่าการเผาทำลายพวกพลาสติก การหล่อหลอมพลาสติก รวมไปถึงเตาเผาขยะ

การศึกษาวิจัยของจีนทำขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2557-2559 ผลการศึกษาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนต้องชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่การห้ามนำเข้าขยะ โดยเฉพาะกลุ่มพลาสติกกับขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากที่มีการนำเข้าไปกำจัดทิ้งหรือว่ามีการเข้าไปในรีไซเคิลในประเทศจีน

 

ผลกระทบจากการปล่อยของเสียจากโรงงานที่พบในประเทศไทยคืออะไร

ยกตัวอย่างเช่น ที่ปราจีนบุรี เราตรวจพบว่าปลาในพื้นที่คลองชลองแวงของตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ มีสารปรอทสูง ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่นั้นมีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่หลายโรงด้วยกัน มีการกองถ่านหินกลางแจ้งโดยไม่มีอะไรปกคลุม ก็สามารถทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากกองถ่านหินเช่นกัน และกลายเป็นมลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็น เพราะฉะนั้นชาวบ้านที่ปราจีนบุรีในตำบลท่าตูม จึงป่วยกันเยอะ หลังจากที่เราจัดแถลงข่าวเรื่องปริมาณสารปรอทในปลาสูง เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงานก็ได้ลงไปตรวจสอบและสั่งให้มีการแก้ปัญหาบางอย่าง รวมถึงการจัดเก็บถ่านหินให้ดีขึ้น เป็นต้น


ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

มาตรการการแก้ไขหนึ่งคือการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ?

รัฐบาลอาจจะมองว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เป็นวิธีการแก้ปัญหาขยะที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะมีข้อท้วงติงเยอะ ไม่ใช่เฉพาะนักสิ่งแวดล้อมที่ท้วงติงว่ามันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาขยะที่ถูกต้อง แต่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือว่าที่ปรึกษาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นคนส่งเสริมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ก็มีหลายคนออกมาชี้ว่า โรงไฟฟ้าขยะอาจจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะได้เร็ว แต่ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมเสมอไป และต้องมีคิดให้รอบคอบว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ในเชิงการลงทุนและการบริหารจัดการระยะยาว

เนื่องจากต้นทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะสูงมาก และการที่จะทำให้โรงไฟฟ้าขยะคุ้มทุน ต้องใช้เวลาหลายปีถ้าเทียบกับการจัดการขยะในแนวทางอื่นๆ ที่สำคัญคือโรงไฟฟ้าขยะที่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเริ่มมาจากการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบก่อน ประเทศไทยกระโดดไปที่ปลายทางเลย ไม่ได้คำนึงถึงการคัดแยกขยะ และไม่มีมาตรการให้ผู้บริโภคหรือประชาชนของประเทศคัดแยกขยะให้เป็นระบบเหมือนหลายประเทศ อย่างสวีเดนที่เรามักใช้เป็นตัวอย่างว่าแก้ปัญหาขยะสำเร็จเพราะมีโรงไฟฟ้า แต่สวีเดนมีกฎหมายกำกับและมีการคัดแยกขยะอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ก็มีการแยกขยะก่อนทิ้ง ญี่ปุ่น และอเมริกาก็เช่นเดียวกัน

ถ้าหากว่าไม่มีการคัดแยกขยะ โรงไฟฟ้าขยะจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งในแง่ของความไม่คุ้มทุน เทคโนโลยีที่ใช้จะเสียหาย และท้ายสุดอาจกลายเป็นอนุสาวรีย์ของแหล่งมลพิษได้ ในขณะที่ปัญหาขยะของท้องถิ่นนั้นๆ ยังเหมือนเดิมคือไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นมาตรการนี้จึงเป็นมาตรการที่หละหลวม และอยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายและมาตรการเรื่องนี้ใหม่

ที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ต้องชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าไป เพราะชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้า ด้วยเหตุที่ว่าชุมชนหรือพื้นที่ของเขาไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดขยะ แต่การสร้างโรงไฟฟ้าจะทำให้มีการนำขยะจากพื้นที่ข้างนอกเข้าไปกำจัด แน่นอนว่าโรงไฟฟ้าขยะเป็นหนึ่งในต้นตอของการปล่อย PM 2.5 ที่สำคัญด้วย โดยเฉพาะถ้ามีการเผาพลาสติกและมีเทคโนโลยีในการจัดการมลพิษอากาศหรือการดักจับฝุ่นไม่ดีพอ

รัฐบาลให้กระทรวงทรัพยากรฯ ประกาศยกเว้นการทำ EIA หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าขยะขนาด 10 เมกะวัตต์ ทั้งที่โรงไฟฟ้าขยะจำเป็นต้องทำ EIA เพราะเป็นกิจการที่ก่อมลพิษสูง และต่อมาในปี 2559 ยังมีคำสั่งจาก คสช. ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับโครงการที่จะสร้างโรงงานคัดแยกขยะ โรงงานรีไซเคิล ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ที่ห้ามสร้างโรงงาน รัฐบาลต้องการให้สร้างโรงคัดแยกขยะ โรงงานรีไซเคิลของเสีย และโรงไฟฟ้า ด้วยเข้าใจว่านี่คือแนวทางที่จะทำให้กำจัดขยะได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าเดิม

นโยบายของรัฐบาลก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมามากมาย การต่อสู้ของชุมชนที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าทำให้หลายโครงการสร้างไม่ได้ ชะลอไปบ้าง แต่ก็มีบางพื้นที่สร้างได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นเมื่อมีจำนวนโรงไฟฟ้ากำจัดขยะและโรงงานรีไซเคิลเพิ่มสูงขึ้น ปัญหามลพิษอากาศ และการปนเปื้อนสารอันตรายในสิ่งแวดล้อมจะมากขึ้น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน

 


ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

การที่จีนปิดโรงงาน สอดคล้องกับการที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ อยากจะดึงดูดการลงทุนจากจีน เพราะว่าจีนจะต้องย้ายฐานโรงงานออกมานอกประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่ก่อปัญหามลพิษ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณภาพอากาศในจีนดีขึ้นหรือเปล่า

มันเป็นเรื่องที่น่าสงสัยและต้องยอมรับว่ารัฐบาลจีนฉลาด เพราะเวลาที่จีนแก้ไขปัญหาเขาก็แก้จริงจัง เมื่อจีนพบว่า ปัญหาที่ทำให้เดือดร้อนเกิดจาก PM 2.5 ก็มีการสำรวจที่มาของฝุ่น PM 2.5 และศึกษามลพิษทางอากาศว่ามันมีสารอะไรที่เป็นตัวอันตราย เช่น เมื่อพบว่าเตาเผาขยะเป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 นักวิจัยของจีนมีการนำเอาขยะแต่ละประเภทมาทดสอบเผาในเตาเผาขยะที่มีการควบคุมเทคโนโลยี และมีการควบคุมการเผาอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เช่น เศษอาหาร กระดาษ พลาสติก เศษสิ่งทอ และอื่นๆ ผลการทดสอบพบว่า พลาสติกเป็นตัวที่ทำให้เกิด PM 2.5 สูงที่สุดในบรรดาขยะต่างๆ

การศึกษาวิจัยของจีนมีหลายชิ้นที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ ผลที่ตามมาคือ จีนประกาศนโยบายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก และขยะอันตรายอื่นๆ หลายครั้งด้วยกัน ซึ่งทยอยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 1 มกราคม 2561 และ 1 มกราคม 2562

ขณะเดียวกัน จีนก็มีนโยบายให้ย้ายฐานการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งปล่อย PM 2.5 ในปริมาณสูงออกนอกประเทศ ตอนนี้หลายโรงงานของจีนก็มาตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร ระยอง อย่างชาวบ้านที่ฉะเชิงเทรา มีบางพื้นที่เดือดร้อนจากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีการต่อสู้จนกระทั่งโรงงานถูกสั่งปิด และจะต้องขนย้ายถ่ายโอนขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากไปยังโรงงานที่ตั้งขึ้นมาในจังหวัดอื่น ตอนนี้ข่าวการปราบปรามการนำเข้าขยะเงียบไป ทำให้เราเข้าใจว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่จริงๆ แล้ว แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กระทั่งยังไม่มีการแก้ปัญหานี้เลย เหมือนเรากำลังขุดและฝังตัวเองลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง

หลังจากที่มีการจับกุมโรงงานที่กระทำผิดกฎหมาย มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และมีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง รัฐบาลก็แต่งตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาแก้ปัญหานี้โดยตรง โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะทำงานฯ มีการประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสรุปให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศห้ามการนำเข้าขยะอันตราย 432 รายการ แต่ต่อมามีการปรับลดเหลือ 422 รายการ ทำให้หลายคนเข้าใจว่า มาตรการสั่งห้ามนำเข้านี้ผลบังคับในทันที

แต่ในความเป็นจริง จะห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ทำให้ช่วงปีนี้จะยังคงมีการนำขยะเข้ามาอีกเยอะ เราก็ต้องติดตามต่อไปว่า รายการขยะที่จะห้ามนำเข้ามามีอะไรบ้าง และจะมีขยะประเภทไหนที่สามารถนำเข้ามาดังเดิม เพราะรายการขยะที่นำเข้ามาประเทศไทยมีเป็นพันรายการ ไม่ได้มีเพียง 400 กว่ารายการเท่านั้น

 

ทำไมต้องคัดค้านกฎหมายโรงงาน มันเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 อย่างไร

ในช่วงที่ผ่านมา เราเพิ่งคัดค้านร่างพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. … เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา เราและชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้ สนช. ถอนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้  สนช. กำลังเร่งรัดการพิจารณากฎหมายหลายฉบับในช่วงนี้ รวมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยตามคำสั่งจากรัฐบาล ก่อนหน้านี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปถึง สนช. เพื่อขอให้รีบพิจารณากฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว

เหตุผลของการเข้ายื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ. โรงงานฯ เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือเพื่อส่งเสริมการลงทุน เพื่อทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสร้างได้ง่ายและเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น การลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาตตั้งโรงงาน การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ นอกจากนี้ก็มีการเปลี่ยนนิยามของโรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเภทโรงงาน จากเดิมที่โรงงานจำพวก 1 มีขนาดแรงม้าเริ่มต้นที่ 5-20 แรงม้า ประกอบด้วยจำนวนคนงานเท่าไหร่ก็ว่าไป แต่ตามกฎหมายใหม่แล้วโรงงานจำพวก 1 จะมีขนาดแรงม้าเริ่มต้นที่ 50 แรงม้า การขยายกำลังการผลิตของโรงงานต่อไปก็ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแค่แจ้งให้เจ้าพนักงานทราบเท่านั้น  การกำหนดแบบนี้จะทำให้โรงงานที่ขนาดแรงม้าต่ำกว่า 50 แรงม้าลงมา ไม่จัดเป็นโรงงานตามกฎหมายโรงงานฉบับใหม่ แต่จะไปขึ้นกับการกำกับดูแลของพระราชบัญญัติการสาธารณสุขแทน ซึ่งพ.ร.บ. การสาธารณสุขฯ ไม่ใช่กฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อการกำกับดูแลโรงงาน จึงไม่ได้มีมาตราโดยตรงที่จะใช้กำกับการดำเนินกิจการโรงงาน

ปัจจุบันมีโรงงานที่มีขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้ากว่า 60,000 โรงทั่วประเทศ หรืออาจจะมากกว่านี้ โรงงานจำนวนมากเหล่านี้จะไปอยู่ภายใต้การกำกับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังขาดศักยภาพในการกำกับและการตรวจสอบโรงงาน ข้อที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือ ต่อไปใบอนุญาตประกอบกิจการจะไม่มีอายุ แต่เดิมผู้ประกอบกิจการจะต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี ก่อนที่จะได้รับการต่ออายุใบอนุญาตจะต้องมีการตรวจสอบว่าโรงงานได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่ามีการละเมิดกฎหมายก็จะต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมภายในโรงงาน การจัดการสิ่งแวดล้อม การปล่อยมลพิษสู่นอกโรงงาน และอื่นๆ จึงจะได้รับการต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะหายไปเมื่อกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

เราไม่ได้คัดค้านการแก้ไขกฎหมาย แน่นอนว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายโรงงาน ซึ่งมีการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 ถือว่านานมากแล้ว แต่การแก้ไขกฎหมายควรจะมีการปรับปรุงใหม่ทั้งฉบับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา และพิจารณาว่ากฎหมายเดิมในภาพรวมมีข้อจำกัดอะไรบ้าง และจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมในอนาคตได้อย่างไร

แต่การแก้กฎหมายครั้งนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เดียวคือ การเอาใจนักลงทุน นักธุรกิจ เพื่อให้ตั้งโรงงานง่ายขึ้น ลดขั้นตอนการกำกับพฤติกรรมโรงงานที่จำเป็นต้องมี เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงาน อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องออกมาคัดค้าน

 


ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

การคัดค้านกฎหมายเกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ส่งเสริมเรื่องการดึงนักลงทุนจากจีน?

ในยุคที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศ ท่านรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนมากกว่าการส่งเสริมการอนุรักษ์ รัฐบาลเห็นว่าการลงทุนเดินหน้าไปได้ยากเพราะติดขัดข้อกฎหมายต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม การที่คุณสมคิดเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุน เขาก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ให้นักลงทุนที่อุตส่าห์เชิญชวนมาแล้ว สามารถเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยได้จริง จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายหลายอย่าง รวมทั้งการออกกฎหมายใหม่หลายฉบับที่จะเอื้อและอำนวยความสะดวกแก่การลงทุน ทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

อย่างแรกที่อยากจะพูดถึงคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นว่าในปี พ.ศ.2557 กรณีหลุมฝังกลบขยะที่ตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ เกิดกลุ่มควันดำมหึมาที่ลอยเหนือท้องฟ้าปกคลุมหลายท้องที่ของกรุงเทพ มีขยะหลากหลายชนิด รวมถึงขยะอุตสาหกรรมอันตรายที่แอบนำไปทิ้งที่บ่อขยะแพรกษาจำนวนมาก ไฟไหม้ในปีนั้นก็ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองดำ รวมถึง PM 2.5 ปริมาณมหาศาลด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นผลทำให้รัฐบาลตื่นตัว และต่อมารับฟังรายงานจากหน่วยงานราชการว่า มีหลุมฝังกลบขยะเทศบาลทั่วประเทศจำนวนกว่าสองพันแห่ง มีการจัดการขยะไม่ถูกต้อง มีขยะตกค้างทั่วประเทศที่ไม่สามารถกำจัดได้ จึงมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนแก้ไขปัญหา และกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว

ช่วงนั้นหลายส่วนดีใจมากว่าประเทศไทยจะมีการแก้ไขปัญหาขยะอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากรัฐบาลฟังข้อมูลจากแค่บางกลุ่ม แผนการจัดการขยะแห่งชาติ ซึ่งปรับปรุงมาจากโรดแมปการแก้ปัญหาขยะ จึงมีการบรรจุแผนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศกว่า 50 แห่ง และยังมีศูนย์รวมการจัดการขยะขนาดใหญ่อีกนับร้อยแห่งทั่วประเทศด้วย

อย่างที่สองคือ เรื่องกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลชุดนี้ คือการลดการควบคุมหรือพักการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สะท้อนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมากในการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่เกี่ยวเนื่องจากคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ในทางกลับกัน ก็มีการออกกฎหมายที่จะทำให้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจ เช่น การเร่งออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับให้ผู้ประกอบกิจการ นอกจากนี้ยังออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปี 2558 ที่อนุญาตให้มีการตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลได้ในทุกท้องที่อีกด้วย

โรงงานน้ำตาลเป็นแหล่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำเสียที่รุนแรงพอสมควร นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลก็ควบคู่มากับการปลูกไร่อ้อยเป็นแปลงขนาดใหญ่ ทำให้ต้องมีการเผาต้นอ้อยและเศษพืชไร่ที่เหลือตามแปลงขนาดใหญ่ อันนี้ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 จากภาคเกษตร

ปกติแล้ว การเผาฟางข้าวหรือว่าการเผาพวกพืชในพื้นที่เกษตรนั้นมีมานานแล้ว แต่ว่าการเผาในแปลงขนาดใหญ่ที่ปลูกเพื่อป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรม และมีการใช้ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก ในช่วงปีหลังๆ เกิดขึ้นเยอะ และมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ของสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่ง คสช. 21/2560 ที่มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การประกอบธุรกิจ และตามมาด้วยพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม พ.ศ.2560 ที่ให้สิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีรายได้บุคคล นิติบุคคล ขยายจาก 8 ปี เป็น 15 ปี เป็นต้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่านิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และยังได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าขาออก การนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่สูงมาก

ตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ยังกำหนดให้มีการตั้งกองทุนในวงเงินหนึ่งหมื่นล้านบาท สำหรับช่วยเหลือภาคธุรกิจรายใหญ่ๆ เพื่อแข่งขันนอกประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย ข้อสังเกตคือ เมื่อภาคประชาชนเสนอว่าควรมีการตั้งกองทุน เช่น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ เป็นต้น จะมีเสียงคัดค้านจากรัฐบาลว่า กองทุนในประเทศไทยมีเยอะมากเลย และการบริหารจัดการกองทุนก็มีความยุ่งยากต่างๆ นานา แต่กับกองทุนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจนั้นกลับสามารถตั้งได้ง่ายดายมาก

รัฐบาลชุดนี้ยังมีการออกกฎหมายอีก 2 ฉบับที่เป็นปัญหาในเวลานี้ คือ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า EEC กฎหมายนี้ต่อไปจะทำให้ปัญหามลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีการจำกัดหรือระงับการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายแรงงาน และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพ

หมายความว่ามาตรฐานการควบคุมมลพิษ การจัดการสิ่งแวดล้อม จะไม่สามารถไปควบคุมได้เต็มที่ในพื้นที่พิเศษดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองการลงทุนต่างๆ ของภาคธุรกิจ ปัจจุบันหลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยเมื่อเกิดปัญหาการลอบปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงาน การลอบทิ้งขยะอันตราย หรือมีการจัดการขยะอันตรายภายในนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานต่างๆ ยิ่งเมื่อประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษของการลงทุนด้วยแล้ว ข้าราชการระดับล่างก็จะยิ่งไม่กล้าจัดการปัญหา หรือไม่กล้ามีปัญหากับผู้ประกอบการ กลัวไปสารพัด ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากมลพิษจึงมีแนวโน้มแย่ลงกว่าเดิม จากที่แย่อยู่แล้วในปัจจุบัน

แต่ปัญหาที่เราวิตกอีกข้อหนึ่งคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง วันข้างหน้าอาจจะมีการขยายเขตพัฒนาพิเศษไปยังจังหวัดอื่นของภาคตะวันอออก เช่น สระแก้ว แต่กฎหมาย EEC จะจำกัดอยู่ในภาคตะวันออก ขณะที่โรงงานอีกจำนวนมากที่จะตั้งขึ้นมาและประกอบกิจการภายใต้กฎหมายโรงงานฉบับใหม่ จะกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้นหากการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษไม่เข้มงวดเพียงพอ ความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษอาจเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค ซึ่งต่อไปจะแก้ไขปัญหายากมาก

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานอยู่ประมาณ 140,000 กว่าแห่ง ถ้ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ อย่างน้อยๆ โรงงานกว่า 60,000 แห่งที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ รัฐบาลส่วนท้องถิ่นก็จะต้องคิดมากขึ้น ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม

 



ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

ถ้าโรงงาน 60,000 แห่งไม่ได้อยู่ในการดูแลภายใต้กฎหมาย จะเกิดอะไรขึ้น?

โรงงานเหล่านี้จะไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องออกข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมากำกับดูแล ปกติแล้วกฎหมายด้านสาธารณสุขและข้อบัญญัติท้องถิ่น ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับการกำกับโรงงาน ดังนั้นมาตรการต่างๆ จึงไม่ครอบคลุมถึงอันตรายหรือมลพิษที่จะเกิดจากกิจการแต่ละประเภท มาตรการในการควบคุมกิจการอุตสาหกรรมจึงอ่อนกว่ากฎหมายโรงงาน และค่ามาตรฐานการควบคุมมลพิษต่างๆ ทั้งมลพิษอากาศ น้ำเสีย และของเสียอันตราย ซึ่งมีความซับซ้อน และต้องมีความเชี่ยวชาญพอควร อาจเกิดปัญหาเรื่องศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะใช้กำกับดูแล และต่อไปใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือที่เรียกว่าใบ รง.4 จะไม่ต้องคอยต่ออายุทุกๆ 5 ปี จุดนี้จะทำให้ไม่ต้องมีการตรวจสอบโรงงานที่ต้องการต่ออายุใบอนุญาตด้วย

 

เรากำลังพูดถึงประเทศไทยที่เคยคิดว่ามีมาตรฐานกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ปรากฏว่าไม่ใช่

พูดอย่างนั้นก็อาจไม่ผิด จริงๆ สถานการณ์มันเคลื่อนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ด้วยเหตุที่จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมีเพิ่มขึ้นไปอีก จากฝีมือของคุณสมคิดหรือจะฝีมือของหลายๆ คน และจาก พ.ร.บ. ที่มีการประกาศใหม่ ตอนนี้กลุ่มนักลงทุนเป้าหมายหลักของประเทศไทยคือนักลงทุนจีน แล้วลองคิดดูว่าโรงงานในจีนถูกปิดเพราะว่าเขาก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก เช่น มลพิษทางอากาศ เขาก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 มาก แต่โรงงานเหล่านั้นกำลังย้ายฐานมายังประเทศไทย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา ขณะที่การบริหารจัดการมลพิษอุตสาหกรรมของภาครัฐไทยก็ขาดความโปร่งใสมาก

 

พ.ร.บ. ที่มาจากกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นยังไงบ้าง ถ้าเทียบกับฉบับที่ผ่านกฤษฎีกาล่าสุด?

ส่วนหนึ่งที่เราคัดค้านร่างพ.ร.บ โรงงาน เพราะเมื่อเราไปย้อนดู ร่าง พ.ร.บ. โรงงานฉบับของกระทรวงอุตสาหกรรม เราพบว่าร่างกฎหมายของกระทรวงฯ ยังกำหนดให้คงอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการไว้ที่ 5 ปี คือจะต้องมีการต่ออายุทุก 5 ปี และยังมีอีกมาตราหนึ่งที่บัญญัติให้เอกชนจะต้องมีการประกันหรือวางหลักประกัน เพื่อจะได้มีการตั้งกองทุน เป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหากพบว่าโรงงานนั้นๆ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษจากกิจการของตน

แต่สาระสำคัญทั้ง 2 ข้อ คือเรื่องอายุของใบอนุญาตและการตั้งกองทุนฯ ถูกตัดทิ้งไปโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา แม้ว่าร่าง พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับกระทรวงฯ ไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็ยังดีกว่าฉบับที่ผ่านการกลั่นกรองจากกฤษฎีกาอย่างมาก

เราพบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 5 ซึ่งเป็นผู้พิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายโรงงานฉบับนี้ มีกรรมการจำนวน 8 คน และ 7 ใน 8 คนนี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในภาคธุรกิจ หรือบางคนยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารในบริษัทเอกชน ทำให้เราเกิดคำถามว่า ทำไมคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีหน้าที่กลั่นกรอง ให้ความแนะนำ และปรับปรุงกฎหมาย จึงมาจากภาคเอกชนเยอะขนาดนี้ อันนี้เป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

 

อะไรคือประเด็นสำคัญของนโยบายสิ่งแวดล้อมที่พรรคการเมืองต่างๆ ควรถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในช่วงเลือกตั้งครั้งนี้

เราอยากเห็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ อย่างเท่ากัน ถ้าการส่งเสริมการลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมก็สำคัญไม่แพ้กัน เราอยากให้พรรคการเมืองทุกพรรคลองพิจารณาดูว่า ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีจะมีผลทำให้สุขภาพและสติปัญญาของคนไม่ดีไปด้วย ถ้าคนสุขภาพไม่ดี สติปัญญาไม่ดี เศรษฐกิจมันก็จะไม่ดี คุณจะเอาคนต่างชาติมากุมเศรษฐกิจของบ้านเรา เพราะคนไทยโง่ไปหมดแล้วอย่างนั้นหรือ?

โลหะหนักในอากาศที่อยู่ใน PM 2.5 ที่เราหายใจเข้าไป ในช่วงที่เข้มข้นมากๆ จะมีผลทำลายสมองและระบบประสาท หากว่าเราได้รับเข้าไปในร่างกายบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเห็นพรรคการเมืองแต่ละพรรค พูดออกมาเลยว่าจะทำยังไงที่จะให้อากาศของกรุงเทพฯ และของประเทศไทยสะอาดขึ้น ให้ประชาชนหายใจได้เต็มปอดและหายใจอย่างสบายใจได้

และอยากให้ช่วยตอบด้วยว่า แต่ละพรรคจะทำอย่างไรกับมรดกทางกฎหมายหลายฉบับที่ คสช. ทำทิ้งไว้ จะมีการแก้ไขไหม หรือจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่น คำสั่งตามมาตรา 44 หลายข้อ ที่ไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิของประชาชน รวมถึงกฎหมายหลายฉบับที่มีการเร่งให้ออกมาในขณะนี้ บางฉบับเป็นกฎหมายที่ดี แต่ฉบับที่เป็นปัญหาหรือจะเป็นปัญหาในวันข้างหน้า จะดำเนินการอย่างไร

 

จากประสบการณ์การทำงานของคุณเพ็ญโฉมและมูลนิธิบูรณะนิเวศ ความคิดเห็นของประชาชนเป็นยังไง มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนกับการออกกฎหมายเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ แล้วสุขภาพประชาชนสวนทางกับแนวคิดที่ว่าไหม

กระบวนการที่เกิดขึ้นและการเปิดให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมที่ผ่านมา สำหรับเราไม่ถือว่าเป็นกระบวนการการรับฟังความเห็นของประชาชน และไม่ใช่การมีส่วนร่วมของชุมชน กระบวนการที่ทำๆ กันคือการจัดเวทีและเชิญตัวแทนบริษัทเอกชนมาให้ข้อมูลเพียงครึ่งวัน การให้ข้อมูลก็สั้นมาก ขาดสาระสำคัญที่จะใช้ประกอบการพิจารณา หรือไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่าข้อดีและข้อเสียมีอะไรบ้าง เป็นต้น

หลายคำถามของชาวบ้านที่ถามไปก็ตอบไม่ได้ มีหลายพื้นที่มากที่เราคิดว่าการจัดกระบวนการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชน จัดขึ้นมาเพียงเพื่อช่วยให้ขั้นตอนตามกฎหมายของการสร้างโรงไฟฟ้าขยะครบถ้วนแค่นั้น โดยไม่ได้คำนึงว่าจะมีประโยชน์ที่แท้จริงต่อทุกฝ่ายหรือไม่ เวทีเหล่านั้นไม่ใช่กระบวนการการรับฟังความเห็นที่แท้จริง

เท่าที่เรารวบรวมสถิติมาตั้งแต่ปี 2557 มีชาวบ้านตั้งแต่ภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี ข้ามไปภาคเหนือ ลงมาภาคกลาง และต่อไปภาคใต้ ประชาชนเกือบทุกแห่งเมื่อทราบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ก็จะรวมตัวกันคัดค้านโครงการ แน่นอนว่ามีการจัดรับฟังความเห็นหรือการจัดเวทีประชาคม แต่ว่าข้อมูลที่นำมาใช้ในเวทีประชาคมเป็นข้อมูลที่สั้นมากๆ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการอธิบายว่าโรงไฟฟ้าเหล่านั้น จะมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะคุ้มทุนกับการลงทุนไหม จะจัดการขยะที่เป็นปัญหาของแต่ละท้องที่ได้แค่ไหนอย่างไร ไม่มีคำตอบในเรื่องเหล่านี้

 

การสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะเป็นช่องทางคอรัปชั่น?

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ. โรงงานฉบับนี้ ส่วนหนึ่งคือเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การรับสินบน การรับเงินใต้โต๊ะ ซึ่งในความจริง ถ้าท่านอยากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้จริงๆ ยังมีวิธีในการแก้ปัญหาได้หลายทางโดยที่ไม่ต้องไปเปิดเกียร์ว่าง เปิดฟรีให้กับการออกใบอนุญาต และยกเลิกอายุของใบอนุญาตโรงงาน เป็นต้น

การที่จะส่งเสริมโรงงานขนาดเล็ก เช่น กลุ่ม SMEs ก็มีมาตรการอีกเยอะแยะที่สามารถส่งเสริมเขาได้โดยไม่ต้องมาเปิดเกียร์ว่างขนาดนี้ อย่างเช่น พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน ที่ตั้งกองทุนไว้ 10,000 ล้าน ทำไมถึงตั้งกองทุนขนาดหมื่นล้านนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมทุนขนาดใหญ่ได้ แต่กลับไม่มีนโยบายเร่งด่วนชัดเจนระดับชาติสำหรับ SMEs การช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ด้านจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเสริมประสิทธิภาพทั้งด้านคุณภาพและการตลาดอย่างจริงจังต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือให้มีระบบการบำบัดน้ำเสีย การดูแลเรื่องคุณภาพอากาศ การใช้สารเคมีต่างๆ ของโรงงานขนาดเล็กให้ถูกต้อง เป็นต้น

สิ่งที่รัฐบาลพุ่งเป้ากลับเป็นการเชิญชวนทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศให้เข้ามา และโอบอุ้มทุนขนาดใหญ่ที่เขามีกำลังทุนดีอยู่แล้ว

 

แล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะส่งผลเสียต่อโรงงานที่รู้สึกว่าได้ประโยชน์จากการไม่ต้องต่ออายุใบอนุญาตหรือไม่

ถ้าหากว่ารัฐบาลโอบอุ้ม SMEs ในลักษณะที่ผิดทาง ต่อไป SMEs ก็จะเจอปัญหา เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ แต่ละเลยเรื่องการดูแลระบบการผลิตทั้งระบบ ซึ่งถ้าระบบการผลิตทั้งหมดมันไม่ดี มันจะเป็นผลเสียในระยะยาว

อีกประเด็นหนึ่งที่ละเลยกัน คือการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตของธุรกิจรายย่อย สารเคมีบางตัวเป็นสารระเหยง่ายที่อันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งถ้าหากว่าทำไปต่อเนื่อง คนทำงานก็จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่กฎหมายเอื้อการลงทุนและไม่ได้มีการตรวจสอบ เพียงแต่เน้นเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้ง่าย ก็จะเป็นปัญหา ถ้ารัฐบาลให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำและช่วยจัดระบบตรงนี้ให้มันดี มีกองทุนที่เข้ามาเสริม จะเป็นทางออกที่ดีกว่าการปลดอายุขอใบอนุญาตหรือลดหย่อนการตรวจสอบ ก็จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยั่งยืนและปลอดภัยกว่า

การละเลยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพของมนุษย์ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยรวมความเสียหายและเงินที่ต้องสูญไปเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย

ประเทศไทยไม่เคยนำเอาต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางสุขภาพ เข้ามาบวกรวมกับต้นทุนทางเศรษฐกิจในการลงทุนโครงการต่างๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่รัฐบาลพูดว่าการลงทุนอันนี้จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่า GDP ของจังหวัดนั้นๆ สูงขึ้น คือการพูดโดยไม่ได้คิดถึงว่า ต้นทุนของสิ่งแวดล้อม และต้นทุนอื่นๆ ที่กล่าวมาของโครงการเหล่านั้นคือเท่าไหร่

อย่างน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ทำให้ปลาตายหรือทำให้สุขภาพของคนแย่ลง ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ โรงงานต้องเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ สูดฝุ่นละออง หรือว่าสารพิษบางตัวเข้าไป เหล่านี้ถือว่าเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลพูดมันตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน

 

อยากให้คุณเพ็ญโฉมสรุปชัดๆ ว่า ถ้าจะทำให้มาตรฐานโรงงานไทยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและบั่นทอนคุณภาพชีวิต รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ดี เราต้องกำกับดูแลเรื่องอะไรบ้าง อย่างไร ต้องแก้กฎหมายกฎกระทรวงอะไรบ้าง

เราอยากเห็นการปฏิรูป พ.ร.บ.โรงงาน ไม่ใช่การแก้ไขเพียงบางมาตรา เช่นที่ปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.โรงงานที่คัดค้านกัน เราอาจศึกษาดูว่ามาตรการกำกับโรงงานตามกฎหมายของบางประเทศเป็นอย่างไร เช่น ของสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป หรือของญี่ปุ่น เป็นอย่างไร เราอาจนำบางอย่างมาปรับใช้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ความเสียหายจากมลพิษมาอย่างหนักกันทุกประเทศ และเขาสามารถแก้ปัญหาไปได้มากแล้ว

หรือเราจะคิดค้นมาตรการใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยก็ได้ ยกตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา การออกใบอนุญาตประกอบกิจการคืออำนาจหน้าที่ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (US.EPA) แต่ของประเทศไทยอำนาจนี้อยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการในอเมริกา โรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตเรื่องการปล่อยสารมลพิษอากาศ 6 ตัว (ได้แก่ PM, SO2, NO2, ตะกั่ว, CO, O3)  มีการกำกับปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยได้ และระบุเทคโนโลยีบำบัดมลพิษอากาศที่จะต้องใช้ แต่เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขการออกใบอนุญาตโรงงานของไทย นอกจากนี้จะต้องคำนวณโควต้าการปล่อยมลพิษอากาศของแต่ละโรงงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายคุณภาพอากาศโดยรวมของแต่ละพื้นที่ด้วย ไม่ใช่อนุญาตให้มีการสร้างโรงงานกี่โรงก็ได้ในพื้นที่เดียวกันหรือพื้นที่ติดต่อกัน เป็นต้น

 

กฎหมายแบบนี้ทางมูลนิธิเคยเสนอใช่ไหม?

จะมี 2 ส่วน หากเป็นกฎหมายโรงงานและระเบียบข้อบังคับแบบที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยยังไม่มี บางมาตรการ ประเทศไทยมีแล้ว แต่อ่อนการบังคับใช้ และอ่อนการลงโทษเมื่อพบว่าผู้ประกอบการกระทำผิด แต่กฎหมายอีกส่วนประเทศไทยเรายังไม่มี นั่นคือกฎหมายว่าด้วยการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดบัญชีรายชื่อการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมของโรงงานต่างๆ ซึ่งเรียกว่ากฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมมีกฎหมายนี้กันเป็นส่วนใหญ่เพื่อใช้วางแผนป้องกันผลกระทบ

แต่สำหรับประเทศไทย หน่วยงานรัฐทั้งภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังไม่ต้องการให้ประเทศเรามีกฎหมาย PRTR ด้วยเกรงว่าจะกระทบกระเทือนบรรยากาศการลงทุนหรือทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่พอใจ

กฎหมายนี้จะนำไปสู่การกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกโรงงานตามที่กฎหมายระบุไว้ จะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่กำกับดูแลทราบว่าได้มีการปล่อยมลพิษสู่ดิน น้ำ และอากาศกี่ชนิด ปริมาณของแต่ละชนิดมีเท่าไหร่ต่อปี ถ้าหากประเทศไทยมีกฎหมายลักษณะแบบนี้ เราจะแก้ปัญหา PM 2.5 ได้แน่นอน และปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่สามารถจัดการและควบคุมได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลที่หน่วยงานรัฐได้มาจากการรายงานของโรงงาน ก็จะต้องเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ประชาชนต้องเข้าถึงได้ ไม่มีการปิดกั้น กฎหมายนี้จะช่วยทำให้โรงงานต่างๆ พัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น และหน่วยงานรัฐก็จะมีข้อมูลภาพรวมของระดับประเทศและแต่ละพื้นที่เพื่อใช้วางแผนและแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

 

เราจะสู้กับเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องมลพิษอย่างไร ในเมื่อผู้กำหนดนโยบายของรัฐเอาใจทุนมากกว่าเอาใจประชาชน

ทุกคนต้องให้ความสำคัญและต้องออกมาช่วยกันพูด เราคิดว่ายุคสมัยนี้สิทธิและอำนาจน่าจะคืนมาสู่ประชาชนทุกคน ถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต้นทุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงมิติของสังคม คุณภาพชีวิตคน โดยมีการศึกษาและร่วมผลักดันให้รัฐบาลเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงทำให้ภาคธุรกิจภาคเอกชนยอมรับว่าเขาจะละเลยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ในระยะยาวก็จะดีขึ้นเอง

 

อยากให้เล่านวัตกรรมเชิงนโยบายที่บางประเทศประสบความสำเร็จ ในการถือประโยชน์ของประชาชนเหนือกลุ่มทุนอุตสาหกรรม

ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างชัดมาก ส่วนจีน ที่ผ่านมามีสถานการณ์แย่กว่าหรือใกล้เคียงกับบ้านเรา แต่จีนในตอนนี้มีมาตรการว่าโรงงานไหนทำผิดกฎหมายเรื่องมลพิษหรือทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมเสียหาย เขาปิดโรงงานทันที

ญี่ปุ่นเคยเกิดโศกนาฏกรรมจากโรคมินามาตะ เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว โศกนาฏกรรมนั้นนำมาสู่การปฏิรูป การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศทั้งหมด แต่การปฏิรูปนั้นก็เกิดขึ้นมาจากการลุกขึ้นมาต่อสู้ของผู้ป่วย ประชาชน นักกฎหมาย ครู นักศึกษามหาวิทยาลัย และสื่อมวลชน เป็นการต่อสู้ด้วยหลักฐานที่ทำให้รัฐบาลต้องยอมจำนน และผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบทั้งการเยียวยาผู้ป่วยและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลของญี่ปุ่นดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ในตอนแรกแม้ว่าจะทำเลว แต่เมื่อหลักฐานมันชัดเจน เขาจะยอมจำนนและยอมกล่าวคำขอโทษต่อผู้ป่วย ต่อสาธารณะ แต่รัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับผิดอะไรเลย ข้าราชการไทยทุกระดับไม่เคยยอมรับว่าตัวเองทำผิด เราไม่เคยได้รับการขอโทษจากรัฐบาลไทยเลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่มันเป็นทั้งมารยาท จริยธรรม ความรับผิดชอบของผู้นำประเทศ ของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงประเทศให้ยั่งยืนด้วย