ชาวบ้านโวยระบบหายใจพัง! สูดดมควันขยะอีเล็กทรอนิกส์ 20 ปี จี้ สธ. กาฬสินธุ์จัดการ (28 ส.ค. 61)

แนวหน้าออนไลน์ 28 สิงหาคม 2561
ชาวบ้านโวยระบบหายใจพัง! สูดดมควันขยะอีเล็กทรอนิกส์20ปี จี้สธ.กาฬสินธุ์จัดการ 

28 ส.ค.61 จากกรณีขยะพิษจากต่างประเทศทะลักเข้าเมืองไทย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กระทั่ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศขยะพิษต้องหมดภายใน 2 ปี ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งคัดแยกขยะอีเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ ทำกันมานานกว่า 20 ปี นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.) ตรวจสอบและหาทางป้องกัน ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนและตำบลใกล้เคียง ออกมาร้องเรียนเรื่องมลพิษทางอากาศ และ พล.ต.จุมพล จุมพลภักดี ผบ.กองพลทหารม้าที่ 3 ในฐานะ ผบ.กกล.รส.จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีการสร้างเตาเผาขยะอย่างถูกวิธี ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวประจำ จ.กาฬสินธุ์ ยังเกาะติดบรรยากาศการประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการสาธารณสุข (คสจ.) อย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านยังประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กันตามปกติ ไม่มีท่าทีเกรงกลัวต่อพิษภัย ตามกระแสข่าว โดยระบุว่าทำกันมานานจนเป็นความเคยชิน และยืนยันจะทำต่อไปเพราะเป็นอาชีพหลัก  มีรายได้จุนเจือครอบครัว และเป็นทุนการศึกษาบุตรหลานเล่าเรียนอย่างสบาย

นายประเทือง นาถมทอง รอง ปลัด อบต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดการเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีมูลค่า โดยนำไปทิ้งที่บ่อกำจัดขยะของ อบต.โคกสะอาด ในพื้นที่ 23 ไร่  ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกลักลอบเผาและกลายเป็นขยะพิษอันตรายปริมาณ 320 ตัน ซึ่งขณะนี้ยังรอความชัดเจนอยู่ว่า จะมีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพจัดการขนย้ายไปกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ และจะดำเนินการได้เมื่อไหร่ ซึ่งจะได้ติดตามเรื่องต่อไป

“ตนยืนยันว่าชาวบ้านที่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำเพื่อปากท้องและมีจิตสำนึกที่ดีในการกำจัดชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการ เช่น เศษแก้ว โฟม ยางรถจักรยาน จักรยานยนต์ โดยนำไปทิ้งที่บ่อขยะที่ทาง อบต. จัดให้ แต่ในส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่บางราย  ซึ่งมีเศษขยะที่นำไปทิ้งเป็นจำนวนมาก การคัดแยกชิ้นส่วนที่จะเอาและไม่เอาอาจคัดแยกไม่หมด จึงมีส่วนที่พอมีมูลค่าเหลือในกองขยะบ้าง จึงเป็นช่องทางให้ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น หรือคนที่หาเช้ากินค่ำ เข้ามาลักลอบเผา เพื่อคุ้ยหาของเก่าที่อาจจะมีเหลือในกองขยะไปขาย นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการบางราย นำไปเผาในพื้นที่ตนเอง ซึ่งอยู่เหนืออำนาจการควบคุมของ อบต. เพราะอ้างสิทธิ์เผาในที่ส่วนบุคล ซึ่งก็ได้แต่ทำการรณรงค์ เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดี ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายประเทืองกล่าว

ด้านนางคำปุ่น ภูบังดาว อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 7 หมู่ 3 บ้านหนองแปน ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ต.หนองแปน เป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่เขตติดต่อกับ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย ด้านทิศตะวันออก ซึ่งอยู่ใต้ลมบ่อขยะ และบางหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผลกระทบที่ได้รับจากการลักลอบเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งจากบ่อขยะและการลักลอบเผาในที่ส่วนบุคคล ที่กระจายในหลายหมู่บ้านคือกลิ่นเหม็นไหม้  ทำให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และจากการตรวจสุขภาพกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับพื้นที่ จึงพบสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดเป็นจำนวนมาก

“การลักลอบเผาเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น รับรู้รับทราบกันมานาน แต่การควบคุมป้องกันยังไม่เด็ดขาด จึงพบว่ามีการลักลอบเผาทั่วไป คือไม่เผาเฉพาะในบ่อขยะ ของ อบต.โคกสะอาดเท่านั้น ยังมีลักลอบเผาตามที่ส่วนบุคคลของผู้ประกอบการบางราย  เช่น ที่บ้านหนองคู บ้านนาเชือก ต.โคกสะอาด ที่อยู่เหนือลมประมาณ 3-4 กม. ทำให้ชาวบ้าน ต.หนองแปน ที่ตกเป็นฝ่ายรองรับกลิ่น ได้รับความเดือดร้อนตลอดมา” นางคำปุ่นกล่าว

นางคำปุ่น กล่าวต่อว่า ผลสืบเนื่องจากการสูดกลิ่นเหม็นและหมอกควันพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ ที่น่ากลัวอีกประเด็นหนึ่ง คือคนที่เริ่มสูงวัยกลับไม่ได้กลิ่นดังกล่าว ทั้งนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุที่ได้สูดดมกลิ่นเหม็นทุกวันจนเป็นความเคยชิน หรือที่เรียกว่าสัมผัสทางจมูกตายด้าน จากการที่ไม่ได้กลิ่นดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะเมื่อไม่รู้สึกระคายเคืองทางลมหายใจ จึงไม่ได้หลบเลี่ยงและป้องกัน จึงเป็นในลักษณะของการหายใจเอาควันพิษเข้าเต็มปอดและสะสมในกระแสเลือดอย่างเต็มๆ ต่างกับคนวัยเด็ก หรือหนุ่มสาว ที่ยังไม่ชินกับกลิ่น ซึ่งบางคนเกิดอาการสำลัก จาม ไอ และเป็นโรคภูมิแพ้

ควันไฟที่เกิดจากการลักลอบเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงกลายเป็นควันพิษลอยคลุ้งข้ามทุ่งนา สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนใต้ลม ที่ต้องสูดดมจนได้รับสารพิษและจมูกตายด้าน ทั้งนี้ความต้องการของชาว ต.หนองแปนคือ เรียกร้องสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งทราบว่าเป็นเลขากรรมการสาธารณสุข (คสจ.) ได้ออกตรวจสุขภาพชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมชุมชนรอบบ่อขยะ อบต.โคกสะอาดโดยละเอียด และระบุผลด้วยว่าสารพิษที่ตรวจพบในร่างกายนั้น เกิดจากสารพิษชนิดใด ปุ๋ย ยา สารกำจัดศัตรูพืช หรือควันพิษขยะ เพื่อที่จะได้บำบัดรักษาให้ถูกต้อง และจะได้ไม่เหมารวมหรือโทษชาวบ้านกลุ่มที่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ แต่เกิดจากการลักลอบเผาของคนไม่กี่คนที่ขาดความสำนึกต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม หลังตรวจคัดกรองแล้ว ต้องกำกับติดตามผลการบำบัดอย่างใกล้ชิดและจริงจังด้วย ไม่ใช่บอกแค่ว่าตรวจพบแล้วก็เงียบหายไป ปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญปัญหาตามลำพัง โดยเฉพาะการสร้างโรงเรือนกำจัดขยะหรือเตาเผาขยะนั้น สาธารณสุขจังหวัดต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อชาวบ้านจะได้ดำรงชีวิตกันอย่างปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมไม่เกิดความเสียหาย