โรงไฟฟ้าขยะสายเหนือยังแป้กแทบทุก จว. กลุ่มทุนควักกระเป๋าปลิ้นยังแจ้งเกิดไม่ได้ (29 ส.ค. 61)

MGR Online 29 สิงหาคม 2561
โรงไฟฟ้าขยะสายเหนือยังแป้กแทบทุก จว. กลุ่มทุนควักกระเป๋าปลิ้นยังแจ้งเกิดไม่ได้

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - ส่องเส้นทางดันโรงไฟฟ้าขยะหลายจังหวัดในภาคเหนือแป้ก กลุ่มทุนถอยกันเป็นขบวน หลังควักทุนมัดจำที่-จ่ายรายหัวค่าประชาคม-ค่าตั๋วผ่านระดับจังหวัดแล้ว ยังต้องเจอตั๋วส่วนกลางจิปาถะ เคลมคืนจากแบงก์ไม่ได้อีก

เส้นทางเดินโรงไฟฟ้าขยะ-โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กระทรวงมหาดไทยยุครัฐบาล คสช.เป็นโต้โผใหญ่ในการผลักดันทั่วประเทศ ดูเหมือนเป็นไปในทำนองเดียวกัน แตกต่างที่ตัวละคร หรือบุคคลวิ่งเต้นเดินงาน หลายจังหวัดเริ่มต้นไปได้ดี แต่สุดท้ายนิ่งเงียบ..ทุนหมด ไร้การตอบสนองเงินทุนจากสถาบันการเงิน

3 กลุ่มทุนไฟฟ้าขยะพิด’โลก ถอยกันเป็นขบวน

ยกตัวอย่าง “พิษณุโลก” จุดประกายความหวังแจ้งเกิดโรงไฟฟ้าขยะ เมื่อบริษัท วีเค เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ยื่นเรื่องขออนุญาต ลงวันที่ 24 มิ.ย. 56 ขอสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 63 ไร่ บ้านตลุกแรด ม.16 ต.บางระกำ อ.บางระกำ

แต่พอเวลาผ่านไปเดือนเศษๆ ชาวบ้าน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ทราบข่าวก็เกิดกระแสต่อต้าน กระทั่ง 6 ส.ค. 56 มวลชน 500 คน รวมตัวคัดค้านปิดถนนเอเชีย 115 (ถนนหลวงพิษณุโลก-กำแพงเพชร) บริเวณหน้าวัดโพธิ์ทอง ชูป้ายไม่เห็นด้วย เพราะหวาดผวามลพิษทั้งกลิ่น ควัน น้ำเสีย และการขนขยะเข้าออกหมู่บ้าน 

ครั้งนั้น บริษัท วีเค เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ยืนยันปักหลักต้องการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ บนที่ดินดังกล่าว เพราะ เป็นที่ดินของนักการเมืองคนดังพิษณุโลก โดยไม่ยอมเปลี่ยนสถานที่ แม้จะมีการยืนยันว่า การขนส่งขยะที่ใช้วิธีบีบอัดก่อนขนส่งเข้าโรงงานเผาขยะ-ผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งจัดสรรพื้นที่ 63 ไร่ สร้างโรงงาน 10 ไร่ สวนสาธารณะและสนามกีฬา 12 ไร่ แหล่งน้ำเพื่อการใช้สอย 23 ไร่ และพื้นที่บ้านพักลานเอนกประสงค์ 18 ไร่ เพื่อเอาใจคนในพื้นที่ 

แต่ก็ไม่เป็นผล ชาวบ้านขึ้นป้ายคัดเอ้าท์ต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเต็มพรึบเมื่อ 30 ก.ค.56 ปัจจุบันโครงการนี้..นิ่งสนิท ไร้การเคลื่อนไหวใดๆ 

ขณะที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของบริษัท อีโค เวสท์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด วางแผนตั้งโรงงานบนผืนนา 60 ไร่ หลังวัดบ้านป่า อ.เมืองพิษณุโลก ประมาณ 2 กิโลเมตร ใกล้กับที่ดินแปลงใหญ่ของเอกชนรายหนึ่ง หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกยุคนั้นไฟเขียว ซุ่มลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการกำจัดขยะมูลฝอย ตามด้วยโครงการก่อสร้างสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ Eco waste management ขนาด 10 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,700 ล้านบาท เมื่อ 6 ส.ค. 58 ซึ่งบริษัทอีโค เวสท์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท ซาทาเรม (ประเทศไทย) ชูเทคโนโลยีสวิตเซอร์แลนด์ เผาขยะโดยไม่ต้องคัดแยก นำพลังงานความความร้อนไปต้ม ให้ไอน้ำหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ จะใช้ขยะแปรรูปวันละ 500 ตันต่อวัน 

แต่ระหว่างการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ก็ถูกชาวบ้านคัดค้านหนัก เรียกร้องให้ยุติโครงการ ว่ากันว่าคราวนี้มีการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่เบิกทางหลายสิบล้านบาท แถมยังจ่ายเงินมัดจำค่าที่ดินแล้ว..สุดท้ายต้องล้มเลิก เงียบจนถึงวันนี้ 

เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนอีกรายที่ลงทุนกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ต.บ้านกร่าง ต.ไผ่ขอดอน อ.เมืองพิษณุโลก นับร้อยไร่เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาด 9 เมกะวัตต์ แต่ก็ถูกชาวบ้านรวมตัวประท้วง-ยื่นหนังสือคัดค้านถึงผู้ว่าฯ พิษณุโลก เมื่อ 6 ก.พ. 60 เพราะหวาดผวาผลกระทบจากการขนขยะและเผาขยะ เนื่องจากโรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้ขยะ 300 ตัน ฉะนั้นจะมีขยะมากถึง 2,700 ตันต่อวัน ต้องใช้รถ 180 คันต่อวัน อาจทำให้น้ำเสียไหลจากรถขนขยะไหลลงพื้นถนน คลองส่งน้ำชลประทาน และส่งกลิ่นเหม็น 

ว่ากันว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ทำประชาคมผ่านไปแล้วเมื่อปี 2559 จ่ายเงินไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย อาทิ จ่ายเบี้ยเลี้ยง และค่าใช้จ่ายรายหัวประชาคมชาวบ้านนับพันคน จนได้มติให้ตั้งโรงงานได้ แต่กลุ่มคัดค้าน อ้างประเด็น ประชาคมชาวบ้านผิดพื้นที่ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า รวบรัดขั้นตอน เป็นผลให้โครงการดังกล่าวชะงักลงเช่นกัน

ปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจึงยังไม่มีบริษัทเอกชนรายไหนเริ่มดำเนินการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ แม้ปัญหาขยะจะเป็นหนึ่งในวาระของจังหวัดฯ เพราะปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน แต่กลับไม่มีพื้นที่กำจัดขยะที่ได้มาตรฐาน อปท.ทั้ง 93 แห่งทั่วพิษณุโลก ต้องตั้งงบเหมาจ่ายกำจัดขยะ หรือจ่ายรายปี เพื่อนำขยะไปทิ้งขยะบ่อเอกชน ที่แทบไม่มีการคัดแยก เว้นแต่ขยะเขตเทศบาลนครพิษณุโลก ที่นำไปกำจัดตามระบบ RDF ย่อยสลาย ก่อนฝังกลบที่ ต.บึงกอก อ.บางระกำ เท่านั้น

สายเหนือ..โรงไฟฟ้าขยะแป๊กแทบทุกจังหวัด

แหล่งข่าวในแวดวงที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เปิดเผยว่า ก่อนจะตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จังหวัดไหนก็ตาม จะต้องผ่านนักการเมือง หรือผู้กว้างขวางของจังหวัดนั้นๆ ก่อน จากนั้นก็ต้องไปหาผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติ ซึ่งเบอร์หนึ่งของจังหวัดก็คือผู้ว่าฯ 

ผู้ว่าฯ ทุกคนมักอ้าแขนรับทุกบริษัท และมักตอบกลับไปว่า ทำได้ แต่ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย เริ่มจากประชาคม, ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เพื่อให้ผู้ว่าฯ อนุมัติผ่าน จากนั้นค่อยไปถึงมือรัฐมนตรีมหาดไทยเซ็นอนุมัติ ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของบอร์ดสิ่งแวดล้อม บอร์ดการไฟฟ้า อนุมัติลงนามอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะตามแผน และถึงตรงนั้นธนาคารจึงจะปล่อยเงินกู้ระดับพันล้านบาทได้

การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะยังไม่ผ่านผู้ว่าฯในจังหวัดนั้นๆ หรือหากผ่านได้ ก็ไม่สามารถผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บริษัทเอกชนต้องสำรองจ่ายเงินทุนจำนวนมากก่อน เพื่อแลกกับการมติประชาคม อาทิ ค่ารายหัว (อัตราค่าแรงขั้นต่ำ) ในการทำประชาคมแต่ละครั้ง และจ่ายให้ผู้นำอีกหลายคนในพื้นที่ประชาคม

“ค่าใช้จ่ายหนักขึ้นมาอีก คือ ราคาค่าตั๋วระดับจังหวัด ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมใบเบิกทางตามกติกา ถึงผ่านไปได้แลกกับลายเซ็นต์ ก็ต้องเจอค่าตั๋วระดับส่วนกลาง นั่นเป็นยอดเงินหนักมาก ถูกเรียกเพิ่มอีก 1 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย และทั้งหมดเคลมคืนจากแหล่งเงินทุนหรือธนาคารไม่ได้” 

ที่สำคัญ..ใช่ว่าผลประชาคม, EIA ออกมาเป็นรูปเล่มโครงการฯแล้ว จะผ่านระดับจังหวัดฉลุย ถนนทุกสายมักไปกระจุกตัวที่คลองหลอด แถมยังไม่ถึงมือคณะกรรมการหรือบอร์ดทั้งหลาย เรียกว่า หลายบริษัท จึงไปไม่ถึงดวงดาว เพราะว่า เงินหมดหน้าตักก่อน

ส่วนโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะที่เกิดได้จริง เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก และแพร่ เป็นเพียงโรงไฟฟ้าขยะขนาดเล็กเพียง 3-5 เมกะวัตต์เท่านั้น มูลค่าโครงการ 40-50 ล้านบาท แตกต่างกับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะระดับ 9 เมกะวัตต์ขึ้นไป ที่ต้องทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอนตามกฎหมาย

สำหรับจังหวัดสุโขทัย เทศบาลฯ ทำเอง ใช้แนวทางกำจัดขยะระบบคัดแยกและฝังกลบ ส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ มีแผนโครงการโรงไฟฟ้าขยะ แต่ได้เงียบหายไป ขณะที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ มีการคัดค้าน ทุกวันนี้ยังไม่เกิดอะไรขึ้น ขณะที่จังหวัดพิจิตร แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงการทำประชาคมด้วยการขอตั้งโรงงานภายในนิคมอุสาหกรรมพิจิตร แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เจอคนประท้วงไม่ให้เอาขยะไปทิ้งในนิคมฯ อยู่ดี ด้าน อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี มีโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล ใช้เฉพาะวัสดุจากเศษไม้เท่านั้น และที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร มีแผนตั้งโรงไฟฟ้า แต่ก็ทำประชาคมไม่สำเร็จ

จนถึงทุกวันนี้หลายบริษัทนิ่งเงียบ แม้ว่าบริษัทเอกชนบางรายลงทุนไปแล้ว 40-50 ล้านบาท ต้องทนรับผลขาดทุน และยังไม่เห็นบริษัทไหนได้รับเงินกู้ระดับพันล้านบาทจากธนาคารเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเลย

โรงขยะเชียงราย 230 ล้าน 7 ปียังใช้งานไม่ได้

ขณะที่โรงงานขยะเทศบาลนครเชียงราย ที่ว่ากันว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตพ่อเมืองเชียงราย-ผู้นำปฏิบัติการถ้ำหลวง ต้องถูกเด้งจากเก้าอี้ไปเป็นผู้ว่าฯ พะเยานั้น มีการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่บ้านดงป่าเหมี้ยง ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ด้วยงบประมาณ 230.9 ล้านบาท แต่ไม่สามารเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาการขอใช้พื้นที่ และการให้สนับสนุนงบประมาณกับเทศบาลห้วยสัก 

โดยเทศบาลนครเชียงรายประสงค์ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่กำจัดขยะในลักษณะ cluster เพื่อให้มีขยะเพียงพอและคุ้มทุนในการดำเนินงาน แต่เทศบาลตำบลห้วยสักไม่เห็นด้วย ทำให้ปัญหาค้างคาจนถึงขณะนี้