ยอดนำเข้า”พาราควอต”ตกวูบ เกษตรเต้น”มอนซานโต้”แพ้คดียาฆ่าแมลง (22 ส.ค. 61)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 22 สิงหาคม 2561
ยอดนำเข้า”พาราควอต”ตกวูบ เกษตรเต้น”มอนซานโต้”แพ้คดียาฆ่าแมลง


อุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

3 สารเคมีปราบศัตรูพืช “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” ในไทยป่วนหนัก หลังศาลสหรัฐตัดสินให้ “มอนซานโต้” ผู้ผลิตคลอร์ไพริฟอส แพ้คดีจ่ายเยียวยากว่าหมื่นล้าน ฟากเกษตรกรไทยต้องรอประชุม คกก.แก้ไขปัญหาชุด “สุวพันธุ์” ประชุมนัดแรก 22 ส.ค. พร้อมให้บอร์ดวัตถุอันตรายชี้ขาด ด้านยอดพาราควอต 7 เดือนแรก วูบกว่า 50% 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรณีศาลสหรัฐมีคำตัดสินให้ บริษัทมอนซานโต้ ต้องจ่ายเงินค่าเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งใช้ฆ่าแมลงกว่า 10,000 ล้านบาท และสั่งแบนภายใน 60 วัน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) และ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)ออกแถลงการณ์ถึงความไม่ชอบมาพากลในการพิจารณาของ “อนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” ของไทยว่าที่ผ่านมา “จงใจ” เลือกใช้แต่ข้อมูลสนับสนุนให้ใช้ สวนทางกับ 51 ประเทศที่ให้ “ยกเลิก” แล้ว

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 22 ส.ค. 2561 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประชุมนัดแรกเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการทั้ง 3 สาร

“กรณีการตัดสินคดีของสหรัฐจะเป็นเหตุผลให้หน่วยงานภาครัฐปรับนโยบายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ส่วนกรมวิชาการเกษตรยังคงยืนตามมติบอร์ดวัตถุอันตรายไม่ได้เพิกเฉย ได้จำกัดการใช้ และล่าสุดได้เพิ่มมาตรการดูแลด้านการนำเข้า โดยต้องแจ้งการนำเข้า ส่งออก ผลิต และจำหน่ายอย่างละเอียด ตลอดเส้นทางของวัตถุอันตรายเป็นข้อมูลให้สารวัตรเกษตรในการตรวจสอบสต๊อกของผู้ผลิตอย่างเข้มงวด ส่งผลให้การนำเข้าลดลง 30-40% 7 เดือนแรก ยอดนำเข้าพาราควอตเหลือ 16,831 ตัน จาก 33,746 ตันในปีก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผู้ประกอบการเกรงว่าจะมีการยุติการใช้จึงลดการนำเข้าลงด้วย

สำหรับมาตรการจำกัดการใช้ได้ยึด 4 ข้อหลัก 1) กำหนดสถานที่จำหน่าย ผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะ 2) ให้ใช้สารพาราควอตและไกลโฟเซตในการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลเท่านั้น 3) ส่วนสารคลอร์ไพริฟอสในการปลูกไม้ผล (เพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้น) สำหรับไม้ดอกและพืชไร่เท่านั้น และ 4) ไม่ให้ใช้สารทั้ง 3 ชนิดในพื้นที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่สาธารณะ

แหล่งข่าวกล่าวว่า แต่ละประเทศมีการพิจารณาที่ต่างกัน ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ส่วนภาคประชาสังคมจะฟ้องศาลเป็นสิทธิทำได้