ฟ้องระงับนำเข้า3สารพิษอันตราย ปูดจ่าย200ล้านสยบสั่ง‘แบน’ (22 ส.ค.61

แนวหน้าออนไลน์ 22 สิงหาคม 2561
ฟ้องระงับนำเข้า3สารพิษอันตราย ปูดจ่าย200ล้านสยบสั่ง‘แบน’ 

ฟ้องระงับนำเข้า3สารพิษอันตราย ปูดจ่าย200ล้านสยบสั่ง‘แบน’

22 ส.ค.61 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) เปิดเผยว่าในสัปดาห์หน้า 3 มูลนิธิ ประกอบด้วย มูลนิธีชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันฟ้องศาลปกครอง ในคำฟ้องขอให้มีการพิจารณาดำเนินการสั่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติแบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิด คือ พาราควอต คอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามมติของกระทรวงสาธารณสุข และในคณะทำงาน 4 กระทรวงหลัก มีมติวันที่ 5 เม.ย.60 รวมทั้งจะขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการนำเข้าสารพิษร้ายแรงทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีพิจารณาคำสั่งในเรื่องแบนสารพิษ

ส่วนอีกระลอกหลังจากนั้น จะมีการประสานรวบรวมรายชื่อเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลจากสารพิษ ยื่นฟ้องศาลแพ่งเพื่อให้บริษัทชดเชยค่าเสียหาย รวมถึงการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องของเอกชน ได้ให้ข้อมูลเผยแพร่สารว่าใช้ไม่เป็นอันตราย ขณะที่หลายประเทศ เลิกใช้ จนกระทั่งศาลสหรัฐฯมีคำตัดสิน ให้บริษัทเหล่านี้ชดใช้ความเสียหายให้กับผู้ใช้สารดังกล่าวก่อเกิดโรคมะเร็งและสั่งแบนภายใน60 วัน

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า มีคำฟ้องศาลปกครอง ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ใน 3 ประเด็นใหญ่ 1.ขบวนการพิจารณา การตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษา และในรายงาน สะท้อนความไม่โปร่งใส ปฎิเสธไม่ใช้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล มีความพยายามขัดขวางผลวินิจฉัยของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ไม่นำมาไว้ในส่วนสำคัญของรายงาน และไม่นำมาพิจาณาในบทสรุปของผู้บริหาร ขั้นตอนศึกษาผลกระทบ ไม่ถูกต้อง แม้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ มีกรรมการ 14 คน แต่คนที่มาเป็นกรรมการหลายคนจุดยืนไม่ต้องการแบน 3 สารพิษ โดยมีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯที่เป็นหน่วยงานชงเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณา

2.มีกรรมการที่มีส่วนได้เสียอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้นการลงมติของคณะกรรมการฯขัดมาตรา12 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายปี 35 เนื่องจากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีผลประโยชน์จากสมาคมการค้าสารพิษ ได้อยู่ร่วมในการลงมติครั้งนี้

3.คณะกรรมการวัตถุอันตราย ไม่ทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพประชาชน ที่ต้องทำหน้าที่ต้องแบนสารพิษต่างๆ ทั้งมีหลักฐานและมีรายละเอียดจำนวนมาก ที่เป็นโทษภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ในการฟ้องศาล จะมีขั้นตอนตรวจสอบเส้นทางการเงินและบัญชีทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในกระบวนการฟ้องอาศัยอำนาจศาลดำเนินการ เนื่องจากมีการลงมติไม่ชอบมาพากล อีกทั้งที่ผ่านมามีการเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เรียกร้องให้สอบบัญชีทรัพย์สินข้าราชการ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้รับข้อมูลประเด็นไม่ชอบมาพากลเช่นกัน

ทางมูลนิธิฯจึงขอให้ พิจารณาตรวจสอบเส้นทางการเงิน กลุ่มเกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเกี่ยวข้องในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะมีกลุ่มคนต้านการแบนสารพิษ อยู่ในคณะกรรมการในกลุ่มนี้มีหลายคนที่เราชี้เบาะแส มีความสัมพันธ์กับเอกชนค้าสารพิษอย่างชัดเจน อย่างน้อย 3 คน และได้ระบุชื่อไปด้วย ส่วนอีกกลุ่ม ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ ข้าราชการ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติต่อทะเบียน 3 สารพิษ เมื่อเดือน ต.ค.60 ทั้งๆที่กระทรวงสาธารณสุขกับ 4 กระทรวงหลักมีมติไม่ต่อทะเบียน ปรากฎว่ากรมวิชาการเกษตร ให้ต่อทะเบียนได้ในที่สุด

“เป็นเรื่องตลกมาก ที่กรมวิชาการเกษตร ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ากรมฯไม่มีความรู้เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ก็เลยให้ต่อทะเบียนไปก่อน จึงส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยยังไม่ยังมีไม่มีคำวินิจฉัย จึงให้ต่อทะเบียนไปก่อนเลย ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ทะเบียนสารพิษ ทั้งๆที่กระทรวงเกษตรฯส่งคนไปประชุมร่วมกับ สธ.ทุกครั้ง ถ้าไม่มีความรู้ควรนำข้อมูลของ สธ.ไปเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย “ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า สถิตินำเข้าสารพาราควอต ปีนี้ ประมาณ 33 ล้านกิโลกรัม ถ้าทั้ง3 สารมีสัดส่วนประมาณเกินครึ่งมูลค่านำเข้า ราว 2 .7 หมื่นล้านบาท มูลค่านำมาขายในตลาด 7-9 หมื่นล้าน การต่อทะเบียนครั้งหนึ่งอยู่ได้ 6 ปี เป็นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท หากต้องจ่ายกับการต่อทะเบียนให้สารขายได้ต่อไปเป็นการลงทุนคุ้มค่ามากมายมหาศาล รวมทั้งก่อนหน้านี้ ตนได้ยินมาจากคนเป็นอดีตข้าราชการอาวุโสในกระทรวงเกษตรฯ บอกว่างานนี้มีคนจ่ายเงินให้ 200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสยบเรื่องแบนสารพิษ