ไม่คิดว่า ประเทศไทย จะสกัดพาราควอตสำเร็จ เหตุ อิทธิพลเยอะ (21 ส.ค. 61)

มติชนออนไลน์ 21 สิงหาคม 2561
ไม่คิดว่า ประเทศไทย จะสกัดพาราควอตสำเร็จ เหตุ อิทธิพลเยอะ

กรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวคัดค้านมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ใช้สารเคมี 3 ชนิด ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส ต่อไปได้ ทั้งที่มีข้อมูลวิชาการว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเดิมกำหนดวันที่ 24 สิงหาคม แต่มีการเลื่อนเร็วขึ้น ปัญหาก็เหมือนที่มีหลายคนกังวลว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีความชอบธรรมแค่ไหน เพราะรายชื่อคณะกรรมการ ปรากฎว่าสัดส่วนไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีภาคประชาชน 1 คน มีตัวแทนจากนักวิชาการ 4 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มสนับสนุนสารเคมี 5 คน นอกนั้นอีก 11 คนเป็นตัวแทนจากราชการ

ต่อมา มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) จัดแถลงข่าว “เปิดเผยรายงานที่ถูกปกปิด เบื้องหลังมติไม่แบนสารพิษร้ายแรง” โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้นำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจนเป็นที่มาของมติอนุญาตให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของทั่วโลก เพราะล่าสุดศาลสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินสารคลอร์ไพริฟอสในการห้ามใช้ และไล่เลี่ยกันก็มีคำสั่งให้บริษัทผลิตสารไกลโฟเซตจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยมะเร็งเกือบหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กรณีพาราควอต บทสรุปอ้างว่าสารนี้ยึดจับในดินดี แพร่สิ่งแวดล้อมน้อย และไม่เชื่อมโยงกับระบบประสาท กับโรคเนื้อเน่า ที่สำคัญผู้ได้รับพิษจากพาราควอต จงใจฆ่าตัวตาย และฉีดผิดวิธี ส่วนคลอร์ไพริฟอส ปัญหาการตกค้างเกิดจากเกษตรกรใช้ไม่ถูกต้อง และยังพบว่ามีพิษปานกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และระบบประสาท แต่พบมีความสัมพันธ์กับพัฒนาทางสมองเด็ก ขณะที่ไกลโฟเซต ข้อมูลการก่อมะเร็งยังไม่สามารถสรุปได้ ผลการตกค้างในมนุษย์ตัวอย่างที่ศึกษาในไทยมีไม่มากพอ ซึ่งโดยสรุปทั้ง 3 สารกลับบอกว่าไม่มีความเสี่ยงจากการบริโภค และไม่มีสารอื่นทดแทนที่ดีกว่า

แต่ประเทศไทยกลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้ และมีมติให้ใช้ต่อไป นั้น พร้อมทั้งยืนยันว่า ทางเครือข่ายผู้บริโภค 700 องค์กร จะเดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้จนถึงที่สุด นั้น

มติชนออนไลน์ เปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็น “คิดว่า ประเทศไทยจะสามารถคัดค้านการใช้ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สำเร็จหรือไม่

ผลปรากฏว่า ในทวิชเตอร์มีผู้ที่เห็นว่า น่าจะสำเร็จ 24% และเห็นว่า ไม่น่าจะสำเร็จ 76% สำหรับการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟชบุ๊กนั้น ส่วนใหญ่ เห็นว่า ไม่น่าจะค้านได้สำเร็จ เพราะมูลการวิจัยเรื่องผลกระทบนั้น ยังน้อยเกินไป ที่สำคัญเห็นว่า บริษัทนำเข้าสารเคมีดังกล่าวนั้นมีอิทธิพลค่อนข้างสูง