กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แสดงความรับผิดชอบ (29 ก.ค. 61)

ประชาไท 29 กรกฎาคม 2561
กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แสดงความรับผิดชอบ 


ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง (Save the Mekong) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการและธนาคารผู้ให้ทุนต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายและอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2561 กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน และพลเมืองผู้ใส่ใจในลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ระบุว่าขอแสดงความตกใจ และความกังวลเกี่ยวกับการพังทลายของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยในประเทศลาว เมื่อเร็วๆ นี้ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ทั้งในลาวใต้และชุมชนด้านท้ายน้ำในประเทศกัมพูชา 

การพังทลายของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นภัยพิบัติ แต่ไม่ใช่ภัยพิบัติตามธรรมชาติ หากเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ในส่วนของผู้พัฒนาโครงการเขื่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศลาวและลุ่มน้ำโขง เสี่ยงต่อภัยพิบัติและภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 11 แห่งในตอนล่างของแม่น้ำโขงสายประธาน และอีก 120 แห่งในลำน้ำสาขาภายในปี 2583 แผนการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงมากในประเทศลาว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของประเทศที่ประกาศว่าจะทำให้ลาวเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้สังคมตระหนักมากขึ้นถึงเสียงเรียกร้องในประเทศลาว ให้มีการทบทวนการลงทุนมหาศาลในโครงการพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายในประเทศอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดชอบจากนักลงทุนจากต่างชาติ 

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นโครงการที่มีความอื้อฉาวมาตั้งแต่ต้น เมื่อปี 2556 หน่วยงานภาคประชาสังคมได้ชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะมากเพียงพอ มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ ขาดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ช่วงเริ่มวางแผน ชุมชนในท้องถิ่นแทบไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการ และแผนบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ในพื้นที่รองรับผู้อพยพจากโครงการเขื่อน ผู้วิจัยพบว่าประชาชนต้องต่อสู้กับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำ และที่ดินอย่างเพียงพอ 

แม่น้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยไหลลงสู่แม่น้ำเซกอง ซึ่งเป็นหนึ่งในลำน้ำสาขาที่สำคัญสุดของแม่น้ำโขง แม่น้ำเซกงมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงในภาคกลางของเวียดนาม ไหลผ่านประเทศลาว จากนั้นไปบรรจบกับแม่น้ำโขงในกัมพูชา พื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำเซกงในลาวและพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำสาขาอีกจำนวนมาก เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนหลายหมื่นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างน้อย 20 กลุ่ม ทั้งหมดต้องพึ่งพาอาศัยการจับปลาจากแม่น้ำและทรัพยากรจากป่าไม้ และอาศัยผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อเก็บของป่าและเพาะปลูก นอกจากนั้น ยังมีประชาชนกว่า 30,000 คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเซกงในจังหวัดสตึงเตร็งในกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนพื้นเมือง ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากผืนดินและป่าต้นน้ำเพื่อการยังชีพ สภาพแวดล้อมของชุมชนริมฝั่งน้ำเซกงและระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำ กำลังถูกคุกคามจากโครงการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่ก้าวร้าว โดยมีการวางแผนสร้างเขื่อนอย่างน้อย 17 แห่งในลุ่มน้ำแห่งนี้ เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกไปยังเวียดนามและไทย 

แม้ก่อนเขื่อนแตก โครงการผันน้ำจากแม่น้ำเซเปียน ลงไปสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ก็ได้สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพื้นที่ท้ายน้ำแล้ว การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและคุณภาพน้ำส่งผลให้จำนวนสัตว์น้ำในพื้นที่ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำเซเปียนไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากความสูญเสียด้านอาชีพเหล่านี้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์เซเปียนซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเซเปียน ก็ได้รับผลกระทบด้านลบจากโครงการนี้เช่นกัน 

ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ให้ทุนสนับสนุน และนักลงทุน ต้องถูกกดดันให้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย สอดคล้องกับกฎหมายของลาวและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีสุด 

โครงการแห่งนี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยบริษัท SK Engineering and Construction (เกาหลีใต้) บริษัท Korea Western Power บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ Lao Holding State Enterprise  ตามกำหนดเดิม เขื่อนแห่งนี้จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 2562 โดย 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งออกไปประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ซื้อรายเดียว ส่วนธนาคารขนาดใหญ่จากไทยหลายแห่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา  

ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ในการดำเนินงานให้บริษัทและธนาคารเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ เพราะระบบยุติธรรมในลาวยังต้องมีการปฏิรูปอีกมาก ทั้งยังมีอุปสรรคสำคัญในการกดดันให้นักลงทุนต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้น เนื่องจากมีความอ่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศ มีความกลัวที่จะถูกตอบโต้ ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงกลไกเพื่อขอรับการเยียวยาจากบรรษัทได้ 

แผนการสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งทั่วลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงและความมั่นคงด้านอาหาร อาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยสะท้อนรูปแบบทั่วไปของการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในลาวและที่อื่น ๆ ในภูมิภาค กล่าวคือเป็นการตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้ โดยไม่มีการปรึกษาหารืออย่างเพียงพอกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และไม่คำนึงถึงข้อกังวลเกี่ยวกับต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์และผลกำไรส่วนใหญ่ของโครงการนี้จะตกอยู่ในมือของผู้พัฒนาโครงการและนักลงทุน ปล่อยให้ชุมชนในท้องถิ่นต้องแบกรับผลกระทบและความเสี่ยง ในขณะที่ยังมีทางเลือกเพื่อการผลิตพลังงานและการพัฒนาอย่างอื่นที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ จึงต้องมีการประเมินทางเลือกเหล่านี้อย่างรอบด้าน และต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประกอบการตัดสินใจและการวางแผนพัฒนา 

หลังเกิดเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ พันธมิตรกลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงมีข้อเรียกร้องดังนี้ 

•    ผู้พัฒนาโครงการและธนาคารผู้ให้ทุนต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายและอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำในกัมพูชา

•    เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดในความตกลงสัมปทานของโครงการ ในส่วนที่เป็นข้อกำหนดความรับผิดชอบของบริษัท 

•    ต้องมีการจัดทำระบบที่เป็นอิสระและรอบด้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รอดชีวิตสามารถแสดงความคาดหวังที่ตนมีต่อการเยียวยาครั้งนี้

•    ผู้พัฒนาโครงการต้องให้ข้อมูลว่า จะดำเนินการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของชาวบ้านอย่างรอบด้านได้อย่างไร และจะมีการดำเนินงานตามแผนบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูในระยะยาวอย่างไร การฟื้นฟูต้องเริ่มต้นในทันทีโดยไม่ชักช้า

•    รัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องชะลอแผนก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างออกไป จนกว่าจะมีการทบทวนอย่างรอบด้าน เป็นอิสระ และโปร่งใส เพื่อพิจารณาแผนที่มีอยู่และทางเลือกอื่น ๆ ในการวางแผนด้านพลังงานและการหารายได้จากการพัฒนา