“มหาดไทย” เร่งปิดจ็อบ “โปรเจกต์ขยะแสนล้าน” รับสัญญาณ “บางคน” อาจไม่ได้ไปต่อ ต้องยืมมือ-ยืมปาก “บิ๊กตู่” ไล่บี้พวกเกียร์ว่าง (28 ก.ค. 61)

MGR Online 28 กรกฎาคม 2561
“มหาดไทย” เร่งปิดจ็อบ “โปรเจกต์ขยะแสนล้าน” รับสัญญาณ “บางคน” อาจไม่ได้ไปต่อ ต้องยืมมือ-ยืมปาก “บิ๊กตู่” ไล่บี้พวกเกียร์ว่าง 


อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาไทย (ซ้าย) ศิริ จิระพงษ์พันธุ์ รมว.พลังงาน  (ขวา)

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่มีมูล หมาไม่ขี้ ไม่จี้ใจดำ ก็คงไม่ชี้แจง

ท้วงติง สะกิดเตือนมาหลายยก กับ “ความไม่ชอบมาพากล” ของ “วาระแห่งชาติ” ว่าด้วย “การบริหารจัดการขยะ” ที่ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ “เป็นพิเศษ” มาตั้งแต่สมัยเข้าสู่อำนาจใหม่ๆ โดยได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การกำกับของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รองแห่งขุนทหาร คสช.เป็น “เจ้าภาพหลัก” 

ความไม่ชอบมาพากลที่ว่าก็มาจากอาหารลุกลี้ลุกลนของรัฐบาล คสช.เอง ที่งัด “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ทะลุทะลวงอุปสรรค อย่าไม่ยี่หระว่าจะเหยียบย่ำกฎเกณฑ์ ต้องฉีกกฎหมายไปกี่ฉบับ

โดยรัฐบาล คสช.มีประกาศ-คำสั่งหลายครั้ง ที่ดูจะ “เอื้อ” กับ “ภารกิจขยะ” ของ “มหาดไทย” มาตลอด และหลายครั้งต้องใช้อำนาจ “มาตรา 44” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นใบเบิกทางมาเรื่อย

ตั้งแต่การสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศยกเว้นให้ “โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย” ไม่ต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) อีกไม่กี่เดือนถัดมาก็ออกคำสั่ง “มาตรา 44” งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมืองเพื่อเปิดทางให้ประกอบกิจการบางประเภท เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือ หลุมฝังกลบขยะ 

อ้างว่าเป็นมาตรการเร่ง “แผนแม่บทระดับชาติจัดการปัญหาขยะมูลฝอย (พ.ศ.2559-2564)” ตลอดจนแผนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ที่ถูกยกเป็นเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ให้สำเร็จโดยเร็ว

หากแต่ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่าที่ผ่านมาทั้งแผนแม่บท รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังขยะ กลับไม่สามารถเดินหน้าได้เท่าที่ควร ฟ้องประจาน “ความไม่ชอบมาพากล” ที่ทำให้กระบวนการติดขัดทุกขั้นตอน ทั้งที่มี “มาตรา 44” เป็นใบเบิกทางให้แล้วก็ตาม

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เหมือนผ่านหูซ้ายทะลุหูขวา ที่ร้องทักไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง “บิ๊กรัฐบาล” ก็เมินเฉย มีเพียงการพูด แบบ “แผ่นเสียงตกร่อง” ว่าการบริหารจัดการปัญหาขยะมูลฝอยมีความสำคัญ

แล้วดันมีมีเหตุให้ “เรื่องแดง” ขึ้นมา จากกรณีการโยกย้าย “ผู้ว่าฯหนึ่ง” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร จากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไปเป็นผู้ว่าฯพะเยา ก่อนที่จะดังเป็นพลุแตกกับภารกิจช่วยทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง จนถูกขุดคุ้ยปมที่ทำให้ผู้ว่าฯขวัญใจมหาชนต้องพ้นจากจังหวัดใหญ่อย่างเชียงรายไปอยู่จังหวัดที่เล็กกว่า ที่เสมือนเป็นการลงโทษของฝ่ายปกครอง

เล่าลือกันเพราะดันไปขวางโครงการจัดการขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เชียงราย ทำให้ “บิ๊กมหาดไทย” ฉุนกึ๊ก ชงเรื่องย้ายออกจากพื้นที่แทบไม่ทัน

แม้จะขัดขวางการโยกย้ายไม่สำเร็จ แต่ก็มีอานิสงส์ทำให้ “กลิ่นตุๆ” ของ “วาระขยะ” โชยขึ้นมาแบบหยุดไม่อยู่ ร้อนถึง “พี่รอง” ที่สงวนวาจามาตลอดยังต้องออกมาตัดพ้อโอดโอยผ่านสื่อถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทรวงมหาดไทย รวบอำนาจในการสั่งจัดการปัญหาขยะ 

“ความเป็นจริงแล้ว เป็นแค่นโยบาย และให้ระดับพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่รู้กันเลยหรือว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการมาตลอด เพียงแต่เราได้แนะนำไปว่า ควรจัดเป็นกลุ่มๆ เนื่องจากในบางพื้นที่ บางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ปริมาณขยะในแต่ละวันอาจจะมีไม่มาก จึงให้ไปรวมกับอบต.ใกล้เคียง เพราะการกำจัดขยะในแต่ละวันที่จะต้องเข้าระบบมีวันละไม่ต่ำกว่า 300 ตัน ซึ่งในบางอบต.ปริมาณขยะมีจำนวนไม่มาก จึงไม่ควรจะเก็บไว้ควรร่วมกับอบต.ใกล้เคียงในการนำไปกำจัดร่วมกัน เพื่อไม่ให้ต้องมีการเคลื่อนย้ายขยะไปไกล” คือคำชี้แจงล่าสุดของ “บิ๊กป๊อก” 

ตามมาด้วยคิวของ “นายกฯ น้องตู่” ที่กางปีกปกป้องพี่ชายไว้ว่า “เรื่องขยะถือมีความสำคัญที่สุด เดิมมีกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ทุกคนไม่ต้องการขยะในพื้นที่ตัวเอง เราไปบังคับไม่ได้ เขาก็อ้างว่า ไม่มีกฎหมายที่จะทำให้สามารถจัดการขยะได้ จึงต้องมีมาตรา 44 เรื่องผังเมือง ซึ่งไม่ใช่ปลดล็อกเพื่อให้ใครหรือเจ้าใดเจ้าหนึ่งมาทำ ก็ต้องไปหาคนมาทำ ไม่เช่นนั้นก็ดำเนินการไม่ได้ เพราะพื้นที่นั้นห้ามมีของเสีย แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องตอบคำถามเรื่องการแก้ปัญหาสังคมและขยะได้ หน้าที่นี้เป็นของท้องถิ่น ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล

กระทรวงมหาดไทยก็สั่งไม่ได้ เพียงแต่กำกับดูแลให้ท้องถิ่นทำตามนั้น โดยที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายขยะที่เรี่ยราดอยู่ในวันนี้ โดยขยะในบ้างพื้นที่ เช่นที่ ระยองขยะบางส่วนต้องขนไปทิ้งที่สระบุรี นั่นคือ เหตุผลที่ออกมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกเรื่องผังเมือง ให้สามารถทำโรงงานขยะได้ แต่การจะเอาขยะไปฝังกลบหรือเอาไปทำเป็นปุ๋ยหรือพลังงานก็มีกฎหมายของกระทรวงพลังงานอยู่ว่า ท้องถิ่นสามารถทำเองได้หรือไม่ หรือจะร่วมกับใครได้หรือไม่ ขอให้ดูให้ลึกซึ้งหน่อยก็แล้วกัน ถ้าเราวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์กันแบบเดิม มันก็กลับไปที่เก่า กลายเป็นว่า เอาประโยชน์ไปเอื้อใคร

มหาดไทยเขาจะได้ประโยชน์ตรงไหน ในเมื่อเขาเพียงกำกับดูแล ไม่ได้เป็นคนอนุญาตสร้างโรงงานอะไรต่างๆ เป็นเรื่องของท้องถิ่น” 

จับอาการได้ว่าร้อนรนจน “ยืมปาก” ของ “บิ๊กตู่” ปกป้องมหาเมกะโปรเจ็กต์ ที่ฟังผิวเผินเหมือนจะดูดี ด้วยทุกคนรู้ว่าการบริหารจัดการขยะมีความสำคัญ และต้องเร่งแก้ไข หากแต่หลายอย่างกลับทำ “ย้อนแย้ง” กับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะจะการดำเนินนโยบายที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่และสุขอนามัยของประชาชน แต่กลับตัดตอน “รายงาน EIA” ออกไป เพียงยัดเยียด “ขยะ” ไว้ในพื้นที่ของประชาชน นำมาซึ่ง “แรงต่อต้าน” จนหลายโปรเจ็กต์ต้องล้มคว่ำอย่างไม่เป็นท่า

และยังร้อนรนจนต้อง “ยืมมือ” ของ “นายกฯตู่” ในการออกข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่รวบรัดชัดเจนว่า “ให้เร่งจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรในทุกกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,852 แห่ง ที่มีการรวมกลุ่มเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย (Cluster) ทั่วประเทศ (จำนวน 324 กลุ่ม) ภูเขาขยะ 324 ลูก ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน”

เหตุเพราะข้าราชการและท้องถิ่นหลายจังหวัดเป้าหมายเกิดอาการ “เกียร์ว่าง” ไม่เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากเจอทั้งแรงต่อต้านจากประชาชน และยังต้องพะวงกับความเสี่ยงในการขัดข้อกฎหมาย ที่อาจนำมาซึ่ง “ความซวย” มาเสิร์ฟถึงบันไดบ้าน

ส่วนที่ “นายกฯตู่” ถามย้อนศรว่า “มหาดไทยได้ประโยชน์ตรงไหน” ก็ขอตอบเพื่อเป็นข้อมูลว่า นโยบายเร่งด่วนที่ว่าถูกยกให้เป็น “เมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน” ด้วยมีการกำหนดวงเงินงบประมาณไว้ในแผนแม่บท ในช่วง 6 ปีไว้ทั้งสิ้น 1.78 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของรัฐ 9.46 หมื่นล้านบาท และที่เอกชนลงทุนอีก 8.4 แสนล้านบาท 

มีการกำหนดไว้ด้วยว่า แผนระยะสั้นในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 6.4 หมื่นล้านบาท และระยะยาว ปี 2560-64 รวมทั้งสิ้น 1.13 แสนล้านบาทเศษ ประกอบด้วย งบประมาณของรัฐ 6.2 หมื่นล้านบาท งบประมาณของภาคเอกชน 5.16 หมื่นล้านบาท

ที่น่าสนใจคือในส่วนของงบประมาณของภาครัฐอย่างเดียว ที่ปาเข้าไป 9.46 หมื่นล้านบาท หรือเฉียดแสนล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของงบประมาณองค์กรบริหารส่วนถิ่น (อปท.) และงบประมาณจังหวัด ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งคู่

ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจถ้าจะมีการตั้งข้อสงสัยถึงการรั่วไหลของงบประมาณที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้หากการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งหากคำนวณตาม “เปอร์เซ็นต์ท้องตลาด” ก็อาจสูงถึงหลักพันหลักหมื่นล้านกันเลยทีเดียว

ไม่ต้องไปไกลเอาแค่ ยกตัวอย่างโรงคัดแยกขยะครบวงจรของ จ.เชียงราย ที่ “ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์” เคยระบุว่า เป็นหนึ่งในปัญหาที่สั่งการให้มีการตรวจสอบในช่วงที่เป็นพ่อเมืองอยู่นั้น สนนราคางบประมาณอยู่ที่ 300 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าใช้การไม่ได้ สาเหตุก็หนีไม่พ้นการ “กินเปอร์เซ็นต์” จนทำให้โครงการไม่ได้คุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น

หากใช้โมเดลนี้คิดคำนวณงบประมาณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ที่กำหนดทั้งหมด 54 กลุ่มพื้นที่ ใน 44 จังหวัด ก็อาจทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ได้มากถึงหลายพันล้านบาท หรือหากใช้งานได้ แต่มีการเรียกรับผลประโยชน์ “กินเปอร์เซ็นต์” ตามเรตมาตรฐาน ก็กินกันแบบหวานเจี๊ยบไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทเลยทีเดียว

แล้วทั้งโปรเจ็กต์ที่วางงบรัฐไว้ถึง “แสนล้านบาท” จะตกหล่นไปขนาดไหน ในขณะที่การเรียกรับผลประโยชน์จากฝั่งเอกชน ก็มีกระแสข่าวไม่สู้ดีมาโดยตลอดสำหรับการขอ “ตั๋ว” ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน เรียกว่า ทำเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “หัวกะไดไม่แห้ง” เลยก็ว่าได้

นี่คือสิ่งที่ประชาชนมี “สิทธิ” ที่จะตั้งข้อสงสัยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

แน่นอน แต่ละขั้นตอนมี “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว แต่จุดชี้ขาดว่าจะได้โรงไฟฟ้าอยู่ที่ “ใบรับซื้อไฟ” จากหน่วยงานภาครัฐต่างหาก “เมกละโล” หรือ “แบงก์พัน ปึกละพันใบ” ที่หนัก 1 กิโลกรัมพอดี คือราคาค่างวดสำหรับ “ตั๋ว” ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับว่า “จ่ายให้ใคร”

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ที่ผ่านมา “ทายาทบิ๊ก คสช.รายหนึ่ง” ทำตัวเป็น “นายด่าน” ตั้งโต๊ะเก็บ “ค่าต๋ง” อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตามเทคนิคที่ “นายทุนโรงไฟฟ้า” จะใช้เหมือนๆ กัน ในการกำหนดกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เพื่อเลี่ยงการทำ EIA ตามคำสั่ง คสช. ที่แทบทุกแห่งจะขอจับจองกันที่ “กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์” ถ้าเอาราคาเต็ม ก็ต้องจ่ายกันที่ 10 กก. 

ช่วงหลังๆ ถึงขนาดมี “โปรไฟไหม้” จ่ายกันตายตัวอยู่ที่ “8 กก.” ต่อโรง

ก็อย่าได้แปลกใจเลยว่า ทำไมเป้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เคยมีมติรับซื้อ แค่ 36 เมกะวัตต์ แต่ตอนกลับมาให้ ครม.ลงมติ ถึงถูกตีโป่งขึ้นมาถึง 300 เมกะวัตต์ไปได้ 

อันนำมาซึ่ง “คนละเรื่องเดียวกัน” อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมีความพยายามจากกระทรวงมหาดไทยในการเสนอให้ “เรกูเลเตอร์” คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพิ่มโควตาซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ขึ้นมาอีก 400 เมกะวัตต์ แต่ กกพ.ชุดปัจจุบันตีตกแบบไม่ต้องคิด ด้วยปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศมีมากเกินพอ อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นต้องให้ภาครัฐไปแบกรับ “ค่า ADDER” ให้กับพลังงานทางเลือกโดยไม่จำเป็นอีก

แล้วเมื่อย้อนไปก่อนหน้านี้ จู่ๆ ศิริ จิระพงษ์พันธุ์ รมว.พลังงาน ก็ประกาศนโยบายหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อย่างน้อยๆ อีก 5 ปี ทำเอา “ธุรกิจพลังงานทดแทน” เกิดอาการ “ตกหลุมอากาศ” กันเป็นแถว แต่ในวงเล็บมีหมายเหตุตัวเบ้อเริ่ม ว่า “ยกเว้น” ไฟฟ้าจากขยะชุมชน 

เมื่อระดับรัฐบาลเปิดหลุมรอรับไฟฟ้าพลังงานขยะขนาดนี้แล้ว แต่ กกพ.กลับ “ดื้อแพ่ง” ไม่รับลูก ไม่ยอมให้ “โควต้าบวม” ก็เป็นเหตุให้ มีการไปกดดันให้บอร์ดบางคนลาออก โดยยกข้ออ้างตามวาระใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ที่เมื่อครบวาระ 3 ปี “บอร์ดเรกูเลเตอร์” ที่จริงๆมี 7 คน แต่ตอนนี้เหลือกันอยู่ 6 คน ต้องจับสลากออกกึ่งหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้บุคคลอื่นเข้ามาทำ หน้าที่ป้องกันการผูกขาด 

แต่พอทาง กกพ.เจอเบื้องต้นว่ากรรมการ 3 คนที่สมัครใจลาออกเป็นใครบ้าง ก็มีข่าวออกมาจากทางรัฐบาลอีกว่า ไม่ค่อยตรงใจ ไม่ใช่เป้าหมาย “ล้างไพ่” ของ “บิ๊กรัฐบาล” เท่าไร จนมีข่าวว่าอาจชงให้มีการลาออกกันยกคณะให้สิ้นเรื่องไปเลย 

ความพยายาม “ล้างไพ่” บอร์ด กกพ. ที่แม้เป็นไปตาม “วาระ” ที่กฎหมายกำหนด แต่ก็บังเอิญว่ามีประเด็นขัดใจ “ขาใหญ่ คสช.” มาก่อน จนตีความได้ว่า น่าจะมี “ใบสั่งผู้มีอำนาจ” เขี่ยทิ้งให้พ้นทาง เปิดทางให้คนมาใหม่ที่พร้อมสนองนโยบายเข้ามาทำหน้าที่แทน

กลายเป็นว่า ทุกความเคลื่อนไหวของรัฐบาล คสช.ในช่วงนี้เหมือนจะเกี่ยวเนื่องกับ “มหาเมกะโปรเจ็กต์ โรงไฟฟ้าแสนล้าน” แทบทั้งหมด ทั้งๆ ที่โอกาสในการสืบทอดอำนาจ ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้งแทบจะแบเบอร์ ไม่มีความจำเป็นต้องมาทุ่มสรรพกำลัง หรือให้ “นายกฯ ตู่” ต้องเปลืองตัวกับโครงการที่มีเครื่องหมายคำถามเช่นนี้แต่อย่างใด

หรืออาจเป็นเพราะ ใครบางคนแถวๆ คลองหลอด จับสัญญาณได้ว่า ตัวเองอาจไม่ได้ไปต่อกับชาวคณะด้วย ก็เลยต้องเร่งปิดจ็อบให้จบ ก่อนที่จะมีใครมาคาบไปรับประทานกระมัง.