กรอ. เผยขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบ 'มือถือ-แผงวงจร-คอมพิวเตอร์' นำเข้าปริมาณสูงสุด (31 พ.ค. 61)

สำนักข่าวอิศรา 31 พฤษภาคม 2561
กรอ. เผยขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบ 'มือถือ-แผงวงจร-คอมพิวเตอร์' นำเข้าปริมาณสูงสุด

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้ปัจจุบันมีโรงงานนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 7 โรงงาน จากทั้งหมด 148 แห่งที่มีการรีไซเคิล  ขณะที่ปริมาณนำเข้า  53,000 ตัน  ส่วนใหญ่ประกอบด้วย  โทรศัพท์มือถือ   แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์  

วันที่ 31 พฤษภาคม นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E – Waste  ประมาณ 53,000 ตัน (ปี 2560)  โดยนำเข้ามาบำบัดและแปรรูปในโรงงานที่ได้รับการอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น  7 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมด 148 โรงงานที่มีการไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่เป็นทั้งโรงงานกำจัด  โรงงานคัดแยก และโรงงานสกัดโลหะมีค่านำมากลับไปใช้ใหม่ และส่วนใหญ่ขยะดังกล่าวกว่า 98% ประกอบด้วย 3 ชนิด ได้แก่ 1. โทรศัพท์มือถือ 2. แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. คอมพิวเตอร์  โดยในปีที่ผ่านมาพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามารีไซเคิลมีการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศฮ่องกง และประเทศสิงคโปร์  

นายมงคล กล่าวถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์  สามารถแยกองค์ประกอบตามประเภทของวัสดุ ได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้  วัสดุโลหะ (เหล็ก อลูมิเนียม และโลหะอื่นๆ) ประมาณร้อยละ 58  วัสดุประเภทพลาสติก  ประมาณร้อยละ 40  ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะถูกนำมาอัดเป็นก้อน เพื่อเตรียมพร้อมส่งจำหน่ายต่อไปยังโรงงานที่มีศักยภาพ เช่น  โรงหลอมโลหะ หรือโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก โดยราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับราคาการซื้อขายเศษวัสดุในท้องตลาด และอีกประมาณร้อยละ 2 เป็นวัสดุชิ้นส่วนและแผงวงจรไฟฟ้า (PCBA) มีทั้งเป็นชิ้นส่วนชนิด High grade ได้แก่ แผงวงจรจากอุปกรณ์ไอทีขนาดเล็ก โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก  และชิ้นส่วนชนิด Low grade ได้แก่ แผงวงจรจากอุปกรณ์อื่นๆ จำพวก Power supply ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อนหรือเครื่องซักผ้า

"หลังจากการดำเนินการถอดแยกตามเกรดแล้ว จะส่งเข้าสู่กระบวนการบดย่อยเพื่อลดขนาดและเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการหลอมและสกัดโลหะมีค่า อาทิ ทองคำ ทองแดง เพื่อนำสู่กระบวนการผลิตเดิมในโรงงาน"

นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานฯ ได้มุ่งส่งเสริมการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดมาตรการและขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตโรงงานเพื่อประกอบกิจการกำจัดและบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 4 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการพิจารณาอนุญาตโรงงานเพื่อประกอบกิจการกำจัดและบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด  รวมถึงยังมีการพิจารณา ทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมโรงงาน ความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของอาคาร การใช้เครื่องจักร รายละเอียดวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์และขั้นตอนการผลิต ปริมาณและจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำเสีย อากาศเสีย และมลพิษอื่นๆ รวมถึงวิธีการป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญ ความปลอดภัยในการประกอบกิจการ และการควบคุมการปล่อยของเสีย

2.มาตรการออกใบอนุญาตเพื่อการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์  การนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถกระทำได้ แต่จะต้องอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าของเสียเคมีวัตถุภายใต้อนุสัญญาบาเซล ที่มีกระบวนการตั้งแต่การพิจารณาคำขอ คำยินยอมจากรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐจากประเทศต้นทาง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความพร้อมในด้านที่จัดเก็บ แผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กระบวนการผลิต ฯลฯ ของโรงงานผู้นำเข้า ตามด้วยการยืนยันตอบรับหรือปฏิเสธไปยังประเทศต้นทาง และหากได้รับการยินยอมแล้ว จะพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียน โดยขั้นตอนสุดท้ายผู้นำเข้าจะต้องแจ้งยอดการนำเข้าให้กับทางหน่วยงานที่ดูแลกำกับได้รับทราบทุกครั้ง สำหรับในการออกใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะออกให้เฉพาะโรงงานที่ประสงค์นำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายต่อให้ผู้อื่นหรือโรงงานอื่นได้ และปริมาณที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงาน  

3.มาตรการยกระดับความปลอดภัย  กรอ. ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดทั้งปัญหาการลักลอบทิ้งขยะและงบประมาณในการกำจัด ตลอดจนเพิ่มมูลค่าด้วยการหมุนเวียนในกระบวนการผลิตใหม่และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า โดยมีโรงงานเข้าร่วมแล้ว 20 โรง

4.มาตรการรับมือด้านสิ่งแวดล้อม   มุ่งเน้นในเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมผ่านการใช้กลไก และเครื่องมือต่างๆ ในการขับเคลื่อน ได้แก่ เกณฑ์มาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ที่จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพการปล่อยของเสียออกจากโรงงานทุกเดือน พร้อมกับติดตั้งตัวมอนิเตอร์วัดค่ามลพิษ น้ำ อากาศ แบบเรียลไทม์ พร้อมส่งสัญญาณหากโรงงานปล่อยมลพิษเกินค่าที่กำหนดไว้

ด้านนายโนริโยชิ โทซึคะ กรรมการผู้จัดการบริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานรับกำจัดบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ และได้นำนวัตกรรมรถโมบายล์ที่ใช้ในการบดย่อยและกำจัดมลพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศ   กล่าวว่า ส่วนใหญ่ชิ้นส่วนซากอิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทนำมาคัดแยกและบดย่อยประกอบด้วย โลหะ แผงวงจร และแผงวงจรที่มีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดอยู่ระหว่างกระบวนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ ยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการกำจัด-บำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 1000 ตันต่อเดือน และยังมีนวัตกรรมในการบดย่อยด้วยรถโมบายล์ที่นำมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยได้ออกแบบให้ผนังภายในเป็นผนังกันเสียง มีการติดตั้งเครื่องบดย่อยที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ภายในรถยังมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เป็นแหล่งพลังงาน เครื่องเก็บฝุ่นที่เกิดจากการบดย่อยและสามารถบดย่อยได้ตั้งแต่ต้นทางการรับซากอิเล็กทรอนิกส์จากผู้กำเนิด การหลอมโลหะด้วยการเตาเผาที่สามารถบำบัดจากควันให้เป็นไอน้ำในขั้นตอนเดียว ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ

นายโทซึคะ กล่าวด้วยว่า   ปัจจุบันบริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมกับกรมโรงงานฯ ในการพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน หรือ สก.2 แบบอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Auto E-License) ที่จะอำนวยสะดวก รวดเร็วจะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมบางรายกรณีที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการจัดเก็บกากอุตสาหกรรมและรองรับภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัว และส่งเสริมให้กากอุตสาหกรรมเข้าระบบมากขึ้น นอกจากนี้ จากความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ยังเป็นผลให้โรงงานไม่เคยถูกร้องเรียนจากประชาชนหรือชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควบคู่กับการทำธุรกิจที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมาย และหลักเกณฑ์อื่นๆอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม