จับตา '10บริษัท' ขยะพิษ ส่อทุจริตออกใบอนุญาต (3 มิ.ย. 61)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 3 มิถุนายน 2561
จับตา '10บริษัท' ขยะพิษ ส่อทุจริตออกใบอนุญาต

กรมโรงงานฯเตรียมชงข้อมูลขยะนำเข้าให้ ตร.ตรวจต้นทาง-ปลายทาง จับตา 10 บริษัทเข้าข่ายลักลอบนำเข้าขยะอุตสาหกรรม เผยส่อทุจริตออก 15 ใบอนุญาตให้โรงงานเดียวเพิ่มโควตานำเข้า

ศุลกากรเตรียมตรวจทุกรายการแทนสุ่ม จ่อหารือเพิ่มโทษสำแดงเท็จ เผยปี 57 ขยะนำเข้าเพิ่มสูง ตร.ขยายผล 4 ตู้คอนเทนเนอร์ บุกตรวจโรงงานในสมุทรสาครพบสำแดงเท็จ

เจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าตรวจสอบโรงงานนำเข้าขยะจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังพบว่ามีบริษัทนำเข้าสำแดงเท็จในการนำเข้าขยะอันตรายจากต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก

ล่าสุดวานนี้( 2 มิ.ย.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมโรงงาน กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำหมายศาลจังหวัดสมุทรสาครเข้าตรวจค้นที่บริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่เศษ ด้านหน้าโรงงานไม่มีเลขที่และไม่มีชื่อบริษัท

พล.ต.อ.วิระชัย เปิดเผยว่า หลังจากเจ้าหน้าที่พบขยะพลาสติกที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย 4 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง แต่เมื่อมาตรวจสอบโรงงานที่รองรับขยะพลาสติกจากทั้ง 4 ตู้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการ กลับไม่พบขยะพลาสติกแบบเดียวกันและไม่พบเครื่องจักรสำหรับทำความสะอาด บดอัดและแยกชิ้นพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

จึงเชื่อได้ว่า ขยะพลาสติกที่พบในตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้ถูกนำมาแปรรูปที่โรงงานแห่งนี้ แต่ถูกส่งไปยังโรงงานอื่นที่ไม่ได้สำแดง โดยอ้างกำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้เพื่อนำเข้า ถือว่ามีความผิดสำแดงเท็จตาม พ.ร.บ.ศุลกากรและประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังพบว่าโรงงานแห่งนี้ มีการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน ลักษณะเป็นการสูบน้ำออกนอกโรงงานโดยตรงไม่ผ่านการบำบัดให้สะอาดก่อน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างน้ำเสียและฝุ่นละอองโดยรอบโรงงานไปตรวจสอบ

แกะรอยต้นทาง-ปลายทางขยะพิษ

รองผบ.ตร.ระบุอีกว่า จะต้องตรวจสอบต่อไปว่าขยะใน 4 ตู้คอนเทนเนอร์กำลังถูกส่งไปที่ไหน และก่อนหน้านี้มีการนำเข้าขยะแบบนี้แล้วจำนวนเท่าไหร่ แล้วถูกส่งไปยังที่ใดแล้วบ้าง จะต้องสืบหาปลายทางที่รับขยะเหล่านี้ไป เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพราะถือเป็นขยะอันตรายที่สร้างมลภาวะให้กับประเทศไทยอย่างมาก หากผู้ใดที่ขออนุญาตนำเข้ามาแล้ว ก็จะต้องส่งไปยังสถานที่ที่ระบุในเอกสารเท่านั้น จะไม่สามารถส่งไปยังที่อื่นได้

ส่วนของเสียที่เหลือจากอุตสาหกรรม หากนำออกไปจากโรงงานแล้วไม่ส่งไปทำลายยังสถานที่ที่ได้รับอนุญาตก็จะต้องมีโทษความผิดตามกฎหมายด้วย จะต้องตรวจสอบถึงแหล่งทำลายที่พบในโรงงานแห่งนี้เพิ่มเติมด้วย

จับตา 10 บริษัทเข้าข่ายทำผิด

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง โดยได้กำหนดขั้นตอนและเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตโรงงานกำจัดและบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้อย่างละเอียด

นอกจากนี้ การออกใบอนุญาตเพื่อการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้ แต่จะต้องได้รับอนุญาตนำเข้าของเสียเคมีวัตถุภายใต้อนุสัญญาบาเซล ซึ่งการพิจารณาคำขอจะต้องมีคำยินยอมจากหน่วยงานรัฐจากประเทศต้นทาง และเสนอแผนการจัดการมาให้กรมโรงงานฯ พิจารณา รวมทั้งมีหนังสือตอบรับหรือปฏิเสธกลับไปที่ประเทศต้นทาง และถ้าได้รับการพิจารณาก็จะออกใบอนุญาตนำเข้าให้

เตรียมส่งข้อมูลขยะนำเข้าให้ตร.              

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอยู่ระหว่างจับตาบริษัทกำจัดกากอุตสาหกรรมกว่า 10 ราย ที่มีหลักฐานน่าจะกระทำผิดลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกเข้ามารีไซเคิลผิดกฎหมาย รวมทั้งจะเร่งตรวจสอบบริษัทผู้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิลทั้ง 26 ราย รวมทั้งจะต้องเร่งขอข้อมูลปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของทุกโรงงาน เพื่อนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง 

ตั้งแต่เกิดเหตุ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังไม่เคยนำเอกสารสำคัญเหล่านี้มาชี้แจงกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย หากยังไม่มอบข้อมูลในส่วนนี้ ทางตำรวจก็จะออกหมายเรียกให้กรมโรงงานส่งมอบข้อมูลต่อไป

“การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ เป็นการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ตามขั้นตอนการขออนุญาตภายใต้อนุสัญญาบาเซลซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นไปได้อย่างไรที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติกหลายแสนตันจะเข้าเข้าออกท่าเรือไปโรงงานต่างๆ โดยไม่มีใครรู้เห็น จะต้องมีกระบวนการต่างๆ ที่ไม่โปร่งใส่ ส่อในทางทุจริต จึงจะต้องเร่งสอบสวนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้”

พิรุธออกใบอนุญาตเพิ่มโควตา

นอกจากนี้ การที่บางโรงงานมีการออกใบอนุญาตกว่า 15 ใบอนุญาต ภายในโรงงานเดียว เพื่อที่จะได้โควตาในการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น เพราะหากดำเนินงานอย่างถูกต้อง 1 โรงงาน 1 ใบอนุญาต ก็จะได้โควตานำเข้าตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเพียงใบเดียว โดยโรงงานที่เข้าไปจับกุมมีการซอยเลขที่ตั้งโรงงานเป็นสิบหมายเลข ภายใต้เขตรั้วโรงงานเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ไม่มีหน่วยราชการใดสามารถออกให้ได้ จะต้องมีการทุจริต จึงสามารถที่จะกระทำผิดขนาดนี้ได้

กรมศุลคุมเข้มสั่งตรวจทุกรายการ

นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผอ.สำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อยสินค้านำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะที่สร้างมลพิษ โดยจะตรวจสอบทุกรายการนำเข้าจากเดิมจะใช้วิธีการสุ่มตรวจ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีการนำเข้าจำนวนมาก นับจากปี 2557 โดยจะร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ออกใบอนุญาต กรณีพบผู้กระทำผิดนั้น กรมฯจะไม่ใช้วิธีระงับคดีในชั้นศุลกากรแต่จะส่งดำเนินคดีทันที

“เดิมเราใช้วิธีการสุ่มตรวจ เราก็จะเปลี่ยนเป็นตรวจทุกรายการ และเดิมสามารถระงับคดีได้ อันใหม่ทางกรมฯจะร่วมกับกรมโรงงานฯ เพิ่มบทลงโทษหนัก โดยต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งและการตรวจปล่อยทุกครั้งจะเชิญเจ้าภาพมาดูด้วย อย่างกรณีเราจับได้ 6-7 ตู้คอนเทนเนอร์เราได้เชิญกรมโรงงานมาดูและถามว่ากรณีไม่มีอนุสัญญาจะทำอย่างไร เขาก็แนะนำให้ผลักกลับ เราก็ผลักกลับ เป็นต้น”

แจงตรวจปล่อยตามใบอนุญาต

รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวอีก หลักของการตรวจปล่อยสินค้านำเข้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะที่สร้างมลพิษนั้น ทางกรมฯจะพิจารณาตามใบอนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงาน กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ออกใบอนุญาต หากสำแดงไม่ตรงเราก็จะใช้วิธีระงับคดีและส่งกลับไปยังประเทศส่งออก กรณีขยะพลาสติกที่ตรวจพบนั้น ไม่ถือว่าเล็ดลอดการตรวจสอบของกรมฯ แต่เราจะตรวจปล่อยตามใบอนุญาตของกรมโรงงานฯ

ทั้งนี้ ในหลักปฏิบัติของการส่งสินค้าขยะพลาสติกมายังประเทศต่างๆ นั้น แต่ละประเทศจะมีอนุสัญญาบาเซล คอนเวนชั่นที่ประเทศต่างๆ มาคุยกันว่า ไม่สามารถเอาขยะมาทิ้งยังประเทศอื่นๆ ได้โดยพลการแต่มีกรณีที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ก็เซ็นสัญญากัน กรณีของไทยนั้นกรมโรงงาน กรมควบคุมมลพิษ เป็นเจ้าภาพที่รับผิดชอบ ซึ่งต่อมาทางหน่วยงานเหล่านี้จะกำหนดว่าสินค้าประเภทใดที่นำเข้ามาได้หรือไม่ได้

จากแหลมฉบังกระจายจังหวัดตอ. 

ขณะที่ข้อมูลจากนิธิบูรณะนิเวศ ระบุถึงการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย เพิ่มมากขึ้นในปี 2559-60 เนื่องจากก่อนหน้านี้ขยะจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะถูกส่งไปยังประเทศจีน แต่ปี 60 จีนได้ห้ามนำเข้า จึงทำให้ขยะจำนวนมากถูกส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 รวมถึงไทย โดยขยะเหล่านี้มีต้นทุนประมาณตันละ 3 หมื่นบาท

สำหรับเส้นทางการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และกากอุตสาหกรรมที่เข้ามาในไทย เข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และผ่านด่านศุลกากร และขนส่งใส่รถบรรทุก เข้ามายังโรงงานในแถบจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง

ลอบทิ้งขยะอันตราย11 จว.

ทั้งนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สรุปแผนที่ลักลอบทิ้งของเสียในปี 2558 พบว่ามี 14 ครั้งใน 11 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระนอง นครศรีธรรมราช จันทบุรี ตรัง สุโขทัย ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี และขอนแก่น ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในชุมชน ลักลอบเผาขยะอุตสาหกรรมในกองขยะชุมชนและทิ้งน้ำเสียอันตราย

นอกจากนี้ ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของขยะอันตรายในแต่ละปี ยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุถึงปริมาณขยะกากอุตสาหกรรมย้อนหลัง 5 ปี พบว่าปี 2555 มีปริมาณ 4,387,769 ตัน ปี 2556 มีปริมาณ 10,150,937 ตัน ปี 2557 ปริมาณ 12,322,492 ตัน ปี 2558 ปริมาณ 11,159,866 ตัน และปี 2559 ปริมาณ 16,340,000 ตัน