กรมทางหลวงชงงบ 3 หมื่นล้าน ตัดถนนเชื่อมนิคม-ท่าเรือ-อู่ตะเภา รับ EEC (16 เม.ย. 60)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 เมษายน 2560
กรมทางหลวงชงงบ 3 หมื่นล้าน ตัดถนนเชื่อมนิคม-ท่าเรือ-อู่ตะเภา รับ EEC

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมทางหลวงเตรียมพัฒนาโครงการรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยยื่นคำของบประมาณดำเนินการ 13 โครงการ ระยะทางรวม 184 กม. วงเงิน 21,390 ล้านบาท เป็นโครงการผูกพัน 3 ปี (2561-2563) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากสำนักงบประมาณ

ทล.เติมสารพัดโครงข่าย
ประกอบด้วย 1.โครงการขยาย 6 ช่องจราจรถนน 36 ช่วงกระทิงลาย-ระยอง ตอนต่างระดับเขาไม้แก้ว-แยกมาบข่า 16 กม. วงเงิน 1,550 ล้านบาท 2.ขยาย 6 ช่องจราจรถนน 344 อ.บ้านบึง-บรรจบถนน 331 แยกหนองปรือ 12 กม. 1,200 ล้านบาท 3.ขยาย 4 ช่องจราจรถนน 315 อ.พนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา 1,260 ล้านบาท 

4.ขยาย 6 ช่องจราจร ถนน 36 กระทิงลาย-ระยอง (รวมสะพานข้ามแยกหมวดฯระยอง 3 แยกทับมา และแยกบ้านดอน) ตอน แยกมาบข่า-แยกเชิงเนิน 2,400 ล้านบาท 5.ขยาย 6 ช่องจราจรถนน 304 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ตอน นครเนื่องเขต-ฉะเชิงเทรา รวมสะพานข้ามแยก 1,700 ล้านบาท 6.ขยาย 4 ช่องจราจร ทล.349 หนองชาก-อ.พนัสนิคม 680 ล้านบาท

7.ขยาย 8 ช่องจราจรถนน 331 สะพานลอยข้ามแยกนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน/อีสเทิรน์ซีบอร์ด/อมตะซิตี้ และแยกปากร่วม 4,200 ล้านบาท 8.ขยาย 4 ช่องจราจรถนน 3126 ทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา-ท่าเรือจุกเสม็ด 650 ล้านบาท 9.ขยาย 4 ช่องจราจรถนน 363 ศูนย์ราชการระยอง-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมทางลอดแยกเนินสำลี (ลอดถนนสุขุมวิท) 500 ล้านบาท 

10.ขยาย 8 ช่องจราจรถนน 304 ฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ตอนฉะเชิงเทรา-บางคล้า 600 ล้านบาท 11.บูรณะทางเดิมถนน 344 อ.บ้านบึง-อ.แกลง ตอน บ.หนองเสือช้าง-อ.แกลง 1,400 ล้านบาท 12. ขยาย 6 ช่องจราจร ถนน 36 กระทิงลาย-ระยอง ตอนแยกกระทิงลาย-แยกต่างระดับโป่ง 500 ล้านบาท 13.ขยาย 4 ช่องจราจรถนน 3 บางปู-อ.บางปะกง 4,750 ล้านบาท

ผุดถนนรองเข้าแหลมฉบัง-อมตะ
ขณะที่นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า จะจัดทำโครงการสนับสนุน EEC 5 โครงการ 8,399 ล้านบาท กำลังก่อสร้าง 2 โครงการ

1.ขยาย 4 ช่องจราจรแยกสาย 7-ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 10.5 กม. 2,500 ล้านบาท จะแล้วเสร็จกลางปี 2560 2.ขยาย 4 ช่องจราจร สาย 3001 แยกสาย 314-ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา-จ.สมุทรปราการ เริ่มจากแยก ทล.314 ไปบรรจบถนนลาดกระบัง ขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 20 กม. 3,800 ล้านบาท จะแล้วเสร็จกลางปี 2562

สำหรับโครงการจะขอรับงบฯปี 2561 มี 2 โครงการ ได้แก่ ขยายสาย 3013 แยกสาย 3138-สาย 3191 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เป็นขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 950 ล้านบาท และสาย 4058 แยกสาย 3138-สาย 344 อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ขยาย 2 ช่องจราจรให้กว้างขึ้น 233 ล้านบาท ขอรับงบประมาณในปี 2562 จำนวน 1 โครงการ คือ สาย 2015 แยกสาย 36-สาย 331 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เป็นเส้นทางพาดผ่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และเชื่อมต่อระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ออกสู่สาย 331 ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 916 ล้านบาท

จ้าง 100 ล.ควบ 2 รถไฟฟ้า
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ EEC วันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา อนุมัติกรอบวงเงิน 100 ล้านบาทให้ ร.ฟ.ท.จ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง 193 กม. เงินลงทุน 152,528 ล้านบาท กับแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง 20.7 กม เงินลงทุน 31,149 ล้านบาท ให้เชื่อมสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อในเวลา 1 ชั่วโมง โดยผู้เดินรถรายเดียว 

พร้อมศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีมักกะสัน 497 ไร่ ให้เป็นชุมทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงรูปแบบ PPP จะให้เอกชนลงทุนโครงการ จะได้บริษัทที่ปรึกษาใน 1 เดือน จากนั้นศึกษาอีก 9 เดือน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่สถานี คาดว่าใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท