ปัญหาสิ่งแวดล้อม อนาคตที่มืดมนแหลมฉบังเฟส 3 (คมชัดลึก - ไม่ระบุวัน)

คมชัดลึก (ไม่ระบุวัน)
ปัญหาสิ่งแวดล้อม อนาคตที่มืดมนแหลมฉบังเฟส 3

ศุภกร อรรคนันท์ รายงาน

พิจารณาจากแผนการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ระหว่างปี 2557-2563 แยกส่วนไปที่ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่ง ที่มีต้นทุนต่ำ 25 โครงการ วงเงิน 354,560.73 ล้านบาท แยกย่อยไปที่การขนส่งทางน้ำ ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือจังหวัดชุมพร, โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2, การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงาน จังหวัดอ่างทอง, โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล (ระยะที่ 1) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก

ขณะที่ในสาขายุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการ เดินทาง และการขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อน บ้าน 15 โครงการ วงเงิน 1,042,376.74 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการบรรจุให้อยู่ในแผนงาน โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมต่อด้านการค้า การลงทุน และการขนส่งด้วย โครงการสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือแหลมฉบัง

นี่จึงเป็นความชัดเจนในการให้ความสำคัญต่อการกิจกรรมทางด้านพาณิชยนาวี ผ่านแนวทางยกระดับการขนส่งทางน้ำให้เติบโตจาก 15% เป็น 19% ผลักดันให้การขนส่งสินค้าขยายตัวที่ 29.9 ล้านตันต่อปี ขณะที่ปัจจัยเสริมด้านอื่นที่จะได้รับ คือ สามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเชื้อเพลิงที่ 4,202 ล้านบาทต่อปี ลดค่าใช้จ่ายทางด้านสิ่งแวดล้อมปีละ 75,647 ล้านบาท ความน่าสนใจในการลงทุนภายใต้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แน่นอนว่า นั่นคือการจัดสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่กระจายอยู่ที่ภาคใต้และภาคกลาง ขณะที่โครงการลงทุนเดิม ซึ่งรัฐบาลเคยให้น้ำหนักของความสำคัญ ด้วยการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง เข้ากับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในพม่า คือโครงการขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังในเฟสที่ 3 ไม่ได้มีการบรรจุให้อยู่ในแผนการลงทุนหลัก คงมีเพียงแผนงานสนับสนุนด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมต่อการค้า การลงทุน และการขนส่งเพื่อสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น      

ทั้งนี้ สัดส่วนของสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ผ่านเข้า-ออกท่าเรือแหลมฉบัง ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต่อปี และคาดว่าจะสูงเกินขีดความสามารถที่จะรองรับในปี 2559 ทั้งตัวท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ได้กลายเป็นที่มาของแนวคิดพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 (เฟสที่ 3) เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 18 ล้านทีอียูต่อปี เมื่อเปิดให้บริการเต็มศักยภาพ โดยมีปัจจัยเสริมคือ โครงข่ายการเชื่อมโยงระบบขนส่งต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทำระบบราง เพื่อเอื้อต่อธุรกิจโลจิสติกส์ และจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมท่าเรือแหลมฉบังสู่ทุกภูมิภาคทั่ว ประเทศและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งตามแผนงานเดิมโครงการนี้จะต้องเปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างในปี 2556 และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2559 เปิดให้บริการในปี 2560 โดยมีมูลค่าการลงทุนในโครงการนี้รวม 35,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สะสมมาจากท่าเรือแหลมฉบังในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ก็ได้เป็นข้อบ่งชี้ถึงโครงการขยายท่าเรือในส่วนที่ 3 ว่าจะเป็นไปอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมจนทำให้ชุมชนออกมาต่อต้าน องค์ประกอบของท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 1 และเฟส 2 ที่มีความยาวเขื่อนกั้นคลื่นยื่นออกไปในทะเลเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านำมาซึ่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพราะการไหลเวียนของน้ำที่เปลี่ยนทิศทาง ทำให้เกิดการกัดเซาะและเกิดการสะสมของตะกอนเลนกินบริเวณกว้าง บางพื้นที่ริมชายฝั่งที่เคยเป็นหาดทรายถูกแทนที่ด้วยเลน ดังนั้น การถมทะเลออกไปกินพื้นที่ 1,600 ไร่ การก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นให้แก่ท่าเรือหลักยาว 1,000 เมตร เขื่อนกั้นคลื่นท่าเรือชายฝั่งยาว 1,700 เมตร ของโครงการแหลมฉบังในระยะที่ 3 จึงถูกต่อต้านอย่างรุนแรง

"เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีคมนาคมก็ติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด ทราบกระทั่งว่าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือฝ่ายการเมืองในพื้นที่ทั้ง ส.ส. และส.ว. ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เนื่องจากท่าเรือเฟส 1-2 ยังสร้างผลกระทบให้แก่ชุนชน ส่วนตัวผมเห็นว่า โครงการเฟส 3 นั้น ยังเป็นเรื่องที่ยาวไกล ที่จะสร้างในช่วงนี้" จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็น

รังสรรค์ สมบูรณ์ ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านแหลมฉบัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นผลกระทบจากการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1 และเฟส 2 คือ การกัดเซาะแนวชายฝั่ง ทำให้สิ่งปลูกสร้าง ถนนและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงถูกคลื่นซัดกินเนื้อที่กว่า 50 ไร่ "ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ทั้งยังเห็นว่าสิ่งที่เร่งด่วนมากกว่าก็คือ การแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1 และเฟส 2 การเยียวยาให้แก่ชุมชนชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง" ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน กล่าว

"ขณะนี้โอกาสที่เราจะเข้าไปทำความเข้าใจในโครงการต่างๆเป็นไปด้วยความยาก ลำบาก เราอยากเข้าไปพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่อุปสรรคจากท่าทีซึ่งเป็นลบ องค์ประกอบสำคัญต่อการเกิดขึ้นของท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ถึงที่สุดแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงการเติบโตของสินค้าคอนเทนเนอร์ว่า  เพิ่มปริมาณจนกลายเป็นข้อจำกัดกับการให้บริการของตัวท่าเรือเดิมหรือไม่ รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าอยู่ในระดับที่รุนแรงเพียงใด สามารถหาทางลดผลกระทบได้หรือไม่" ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

สำหรับทางเลือกของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ต่อโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ด้วยการเสนอโครงการทดแทน ประกอบด้วยการใช้ท่าเรือจุกเสม็ด หรือท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ หรือการไปใช้พื้นที่เกาะสีชัง เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองแห่งในจังหวัดชลบุรี มีความลึกของระดับน้ำทะเลมากกว่า 20 เมตร เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก โดยในส่วนท่าเรือจุกเสม็ด ยังมีความสะดวกในการเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังทั้งทางชายฝั่ง และการเชื่อมระบบขนส่งทางรางเข้ามายังท่าเรือก็น่าจะเป็นข้อบ่งชี้ได้เป็น อย่างดีว่า ถึงขณะนี้แล้วมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดสำหรับท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3