การสถาปนา 12 เขตสุขภาพเพื่อกระชับอำนาจของ สธ. และการยึดองค์การเภสัชกรรมด้วยการปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (15 พ.ค. 56)

ใบแถลงข่าว ชมรมแพทย์ชนบท 15 พฤษภาคม 2556
เรื่องการสถาปนา 12 เขตสุขภาพเพื่อกระชับอำนาจของ สธ.
และการยึดองค์การเภสัชกรรมด้วยการปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

โดย นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
และนพ.สุภัทร ฮาสุวรรรกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา

กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดแบ่งระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็น 12 เขตสุขภาพ โดยมีผู้ตรวจราชการเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในเขตนั้นๆ เป็นหนึ่งในการกอบกู้ศักดิ์ศรีของกระทรวงสาธารณสุขให้กลับคืนมาของปลัดกระทรวง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ โดยทำให้มีผู้ตรวจราชการเป็นกลไกประดุจปลัดระดับเขต หวังลดการกระจุกตัวของอำนาจในส่วนกลาง  ให้เขตสามารถบริหารจัดการระบบบริการได้เอง ปรับเกลี่ยทรัพยากรได้เอง

นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคามกล่าวว่า "ความยากของเขตสุขภาพอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขที่นนทบุรีจะกระจายอำนาจมากน้อยแค่ไหน หากกระจายอำนาจมากๆแล้วผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่มี 12 คนและสาธารณสุขนิเทศอีก 12 คน จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ผู้บริหารระดับ 10 ในระดับผู้ตรวจราชการและสาธารณสุขนิเทศนั้น มีตั้งแต่ฟิตจัดชัดเจนนั้นมีไม่กี่คน บางส่วนถึงกับปวกเปียกไม่มีภาวะผู้นำแต่ที่ขึ้นมาได้เพราะการเมืองและพวกพ้องค้ำยัน"

นพ.สมชายโชติ กล่าวว่า “สิ่งที่แย่ที่สุดคือการออกแบบให้ผู้ตรวจราชการเป็นใหญ่ที่สุดในเขต และควบทั้งในฐานะ provider และ purchaser ซึ่งผิดหลักการสำคัญที่ต้องแยกผู้ซื้อริการออกจากผู้ให้บริการ กระทรวงกำหนดให้งบจาก สปสช.จากเดิมที่เคยโอนตรงลงสู่โรงพยาบาลต้องมาให้เขตเป็นคนกำหนดปรับเกลี่ยก่อนแล้วจึงโอนให้โรงพยาบาล ฟังดูเหมือนดี แต่บทเรียนตลอดเวลาอันยาวนานคือ ปรากฏการณ์ไอติม ที่งบก้อนหนึ่งจากกระทรวงกว่าจะถึงโรงพยาบาลถูกเลียกัดเทะในระดับกระทรวง กรม กอง เขต จังหวัด กว่าจะถึงโรงพยาบาลแทบจะเหลือแต่ไม้ไอติม แต่เมื่อเกิด สปสช.ขึ้นมา คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงษ์ แพทย์ชนบทผู้ก่อตั้ง สปสช.ได้กำหนดกฎเกณฑ์วางระบบให้งบโอนตรงลงสู่โรงพยาบาลโดยไม่ผ่านกระทรวง โรงพยาบาลได้งบเต็มเม็ดเติมหน่วยมาตลอด 12 ปีของนโยบายหลักประกันสุขภาพ”

นพ.สมชายโชติ กล่าวเสริมว่า “ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม โดน รมต.นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.จะเสนอให้ สปสช.ต้องยอมรับความเป็นใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขเหนือ สปสช. สปสช.จะกลายเป็นเพียงคนถือเงินที่มีหน้าที่โอนเงินตามที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งการ เช่นนี้งบหลักประกันสุขภาพร่วมสองแสนล้านจะเสี่ยงต่อการใช้เงินผิดประเภทและหย่อนประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และที่สำคัญเอื้อต่อการทุจริตได้โดยง่ายด้วย นับเป็นจุดหักเหสู่การถอยหลังลงคลองที่สำคัญที่สุดของระบบหลักประกันสุขภาพไทย จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือประดิษฐจะมีเป้าหมายเพื่อทำลายระบหลักประกันและความสามารถในการดูแลประชาชนของโรงพยาบาลของรัฐเพื่อเปิดทางให้กับการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน  หากเป็นเช่นนั้นจริง หายนะกำลังจะเกิดกับสุขภาพของคนไทย”

สำหรับประเด็นที่มีกระแสข่าวการจะปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ในการประชุมบอร์ดองค์การเภสัชกรรมในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม นี้ 
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า “องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่กำลังโดนแทรกแซง เพราะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคือคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว มือดีที่สุดคนหนึ่งของการบริหารภาครัฐ เป็นคนที่ตรงไม่สยบยอมต่อคนคด ปฏิบัติการยึดองค์การเภสัชกรรมจึงเริ่มด้วยการที่รัฐมนตรีประดิษฐ สินธวณรงค์ส่งสัญญาณให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข แจ้งความส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนข้อมูลโรงงานวัคซีนสร้างล่าช้าและวัตถุดิบยาพาราเซตามอล เพื่อดิสเครดิตคุณหมอวิทิต และหาเหตุปลดให้ได้ 

นพ.สุภัทรกล่าวต่อว่า “ความจริงองค์การเภสัชกรรมในยุคคุณหมอวิทิตนี้มีความผิดมหันต์ที่ฝ่ายทุนสามนย์รับไม่ได้ เพราะคุณหมอวิทิตบริหารจัดการจนยอดขายยาและเวชภัณฑ์ขององค์การเภสัชเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2550 ที่คุณหมอวิทิต เข้ามาเป็นผู้อำนวยการนั้นมียอดขายปีละ 5,449 ล้านบาท และเพิ่มปีละนับพันล้านจนปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,455 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี นับเป็นสุดยอดการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจภาครัฐเลยทีเดียว จนยอดขายในไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับบรรษัทข้ามชาติตกฮวบเพราะองค์การเภสัชกรรม จึงมีการลงขันเพื่อเขี่ยให้ออกจากองค์การเภสัชกรรมให้ได้ ซึ่งเข้าทางการคิดจะปฏิรวบกระทรวงสาธารณสุขของรัฐมนตรีประดิษฐพอดี”

นพ.สุภัทรกล่าวว่า "องค์การเภสัชกรรมนั้นสามารถพยุงราคายาให้โรงพยาบาลของรัฐจัดซื้อยาได้ในราคายุติธรรมมากขึ้น ทำให้บริษัทยาโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ เสียผลประโยชน์อย่างมาก ทั้งยอดขายตก เสียส่วนแบ่งการตลาด โก่งราคายาแบบเดิมที่เคยผูกขาดไม่ได้ การไปฟ้อง DSI ก็เพื่อหวังอาศัยจังหวะหาเหตุสั่งปลดหมอวิทิตนั่นเอง ปัจจุบันประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ก็เป็นอดีตข้าราชการที่ไม่ได้มีความกล้าหาญในการทัดทานกับฝ่ายการเมือง วันศุกร์ที่ 17 นี้จึงมีสัญญาณจากฝ่ายการเมืองสั่งให้ประธานบอร์ดปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมอย่างแน่นอน เพื่อจะฝ่ายทุนการแพทย์พาณิชย์จะสามารถดีดลูกคิดทำกำไรได้สะดวกโยธิน นี่คือส่วนหนึ่งของการปฏิรวบ เพื่อเอื้อต่อการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจยาข้ามชาติ"