สัมภาษณ์ "วีรพงษ์ ไชยเพิ่ม" โหมโรงดึงเอกชนตั้งนิคมฯใหม่ (7 พ.ค. 56)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 7 พฤษภาคม 2556 
วีรพงษ์ ไชยเพิ่ม โหมโรงดึงเอกชนตั้งนิคมฯใหม่

เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ภารกิจหลักของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คือการพัฒนานิคมใหม่ขึ้นมารองรับ ทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม การต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ และผังเมืองใหม่ที่ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียว

นับเป็นข้อจำกัดที่ท้าทาย "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กับแผนการพัฒนานิคมใหม่

- การขยายพื้นที่นิคมใหม่

เมื่อเร็ว ๆ นี้บอร์ดของ กนอ.ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนานิคมใหม่ 3 กลุ่ม คือ 1) นิคมรองรับการค้าชายแดน ที่ขณะนี้มองใน 2 พื้นที่ คือนิคมเชียงของ จ.เชียงราย และนิคมพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ซึ่งในส่วนของนิคมเชียงของ กนอ.จะเชิญเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุน 2) นิคมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะนำร่องในพื้นที่อีสาน 8 จังหวัด เช่น อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี ซึ่งวางเป้าหมายให้เอกชนเข้ามาลงทุน

3) นิคมรองรับเอสเอ็มอี เพื่อเสริมความเป็นคลัสเตอร์ ให้อุตสาหกรรมเป้าหมายเข้มแข็งขึ้น คืออุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ อุตฯไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเอสเอ็มอีในแต่ละอุตฯเหล่านี้จะสามารถต่อยอดขั้นปลายน้ำของคลัสเตอร์ได้ แต่ไม่ได้ตั้งขึ้นเป็นกลุ่มอุตฯใหม่ แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของนิคมที่มีอยู่แล้ว วางเป้าหมายไว้ในพื้นที่ภาคกลาง อีสาน ตะวันออก เหนือ พัฒนาในรูปแบบ "Complex SMEs" เน้นให้เอกชนเข้ามาลงทุนเช่นกัน ทั้ง 3 กลุ่มนี้จะรวมพื้นที่พัฒนาใหม่ 23,000 ไร่ ทั้งหมดคือกลยุทธ์ของ กนอ.ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วง 10 ปีจากนี้

- สอดคล้องนโยบาย BOI

ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะปรับยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ มีการหารือเพื่อให้นโยบายการพัฒนาสอดคล้องกัน เดิมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเน้นในเชิงพื้นที่ และได้ปรับใหม่มาเป็นพัฒนาตามประเภทอุตสาหกรรม เน้นเทคโนโลยีสะอาด เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หากรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ยิ่งได้สิทธิประโยชน์ ในส่วน กนอ.ที่เอื้อต่อการลงทุนของเอกชนที่ได้เตรียมไว้สำหรับการพัฒนานิคมใหม่ในรอบนี้ คือยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 ปี, สร้างสำนักงาน One Stop Service, ช่วยประชาสัมพันธ์ และ 4) กนอ.จะเข้าร่วมลงทุนในกรณีบางโครงการที่มีศักยภาพ แต่อาจจะติดขัดในเรื่องการลงทุน ซึ่งขณะนี้ กนอ.ได้เปิดให้เอกชนเสนอการตั้งนิคมใหม่มาภายในวันที่ 30 พ.ค.นี้

- ในกรณีใดที่ กนอ.ร่วมลงทุน

การร่วมลงทุนเป็นทางออกสุดท้าย เพราะ กนอ.ต้องการให้เอกชนทำมากกว่า เพราะเมื่อ กนอ.เข้าไปร่วม อาจทำไม่คล่องตัวมากนัก แต่อาจจะเป็นผลดีทางการตลาด จะต้องมาหารือกัน เพราะ กนอ.ไม่ได้ปิดกั้น ซึ่งต้องมองในแง่ที่นอกเหนือจากความคุ้มค่าของตัวโครงการเองแล้ว ในแง่ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทั้งประเทศมันดีขึ้นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่าผลตอบรับของภาคเอกชนว่ามีความสนใจครบทุกจังหวัด

หรือไม่ และอุตสาหกรรมเป้าหมายตรงกับที่วางแผนหรือไม่ ถ้าตรงกัน ก็ง่าย แต่ถ้าไม่ตรง ก็ต้องมาหารือกัน เพราะ กนอ.อาจมองไม่ครอบคลุมในบางจุดที่อาจจะมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มีจังหวัดอุดรธานีที่มีการยื่นขอจัดตั้งนิคม โดยเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มแปรรูปยาง ซึ่งมีจุดแข็ง โดยมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงผ่านนิคมไปจนถึงประเทศลาวและเมืองคุนหมิง นอกจากนี้ก็มีจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา เชียงราย โดยมีนายทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาร่วมทุนในการทำนิคมด้านการค้าบริการในการทำโกดังสินค้า และด้านโลจิสติกส์ทั้งขาเข้าและขาออก

- ผังเมืองใหม่-ค่าแรงกระทบหรือไม่

เข้าใจว่าในการประชุม ครม.สัญจรที่ผ่านมามีการให้ความเห็นร่างผังเมือง ทั้งนี้ต้องรอแต่ละจังหวัดให้ความเห็นมาก่อน กนอ.ประสานกับทุกจังหวัดอยู่แล้ว ในส่วนของข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น ค่าแรงที่ปรับขึ้น 300 บาท หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์แล้ว บางอุตสาหกรรมยังมีจุดแข็ง และขยายตัวลงทุนต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ชิ้นส่วน แปรรูปเกษตร ที่ค่อนข้างมีศักยภาพ

ส่วนเรื่องแรงงานขาดแคลนนั้น มองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังจะยกระดับจากการใช้เทคโนโลยีต่ำไปหาเทคโนโลยีขั้นสูง มี Productivity มากขึ้น พวกอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงาน

มาก ๆ จะย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับรอบนี้ กนอ.มีสิทธิประโยชน์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามา จึงมองว่ารอบนี้เอื้อการลงทุนมากสุด นักลงทุนยังคงสนใจ นอกจากนี้ กนอ.ยังจะเป็นคนกลางเชื่อมกับสถาบันการเงินให้ด้วย เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.ด้วย

- นิคมขยับใกล้ชุมชน

นิคมใหม่จากนี้จะเป็นรูปแบบ "อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ครบถ้วนใน 5 มิติ คือ 1) ด้านการออกแบบที่ต้องมีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่กันชน 2) ด้านเศรษฐกิจ 3) ด้านสังคม 4) ด้านสิ่งแวดล้อม และ 5) ด้านบริหารจัดการที่ต้องมีธรรมาภิบาล แผนทั้งหมดนี้ กนอ.จะดำเนินในนิคมที่มีอยู่ทั้งหมด 15 แห่ง ซึ่งหากไปดูต้นตอของปัญหาจริง ๆ จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากส่วนต่าง ๆ กันไป จะตีความโดยภาพรวมว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากนิคมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ อย่างปัญหาเรื่องกากอุตฯ อาจจะเกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิด คนที่รับขนหรือเกิดขึ้นจากแหล่งกำจัดขั้นสุดท้าย โดยจะมีการกำกับดูแลในแต่ละปัญหา ซึ่งต้องแก้ให้ตรงจุด โดยทางการนิคมมีแผนแม่บทชัดเจนในการตรวจสอบโรงงาน

- แนวคิดตั้งนิคมกำจัดกาก

มีแนวคิดการให้บริการกำจัดกากของเสียแบบครบวงจร 2 แนวคิด คือ 1) การตั้งนิคมบริการขึ้นมาใหม่ และจะมีโรงงานที่มีกระบวนการกำจัดของเสียมารวมกลุ่มกัน เพื่อให้บริการโดยเฉพาะ 2) การตั้งโรงงานกำจัดของเสียในนิคมที่มีอยู่แล้วทั้ง 46 นิคม ซึ่งจะต้องดูตามความเหมาะสมว่านิคมไหนมีจำนวนกากของเสียประเภทไหนมาก ควรไปตั้งในจุดนั้น เช่น ในตอนนี้นิคมบางปูมีเตาเผาขยะ นิคมลาดกระบังมีศูนย์ขนถ่ายคัดแยก นิคมที่ชลบุรีมีหลุมฝังกลบ เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาว่าจะต้องเพิ่มการกำจัดประเภทไหนเข้าไปอีก เพื่อรองรับการกำจัดของเสียให้ครบถ้วน