ระวัง! ไตวายเฉียบพลัน เพราะใช้เครื่องสำอางปนเปื้อนสารไดเอทิลีน ไกลคอล (5 ต.ค. 55)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 ตุลาคม 2555
ระวัง! ไตวายเฉียบพลัน เพราะใช้เครื่องสำอางปนเปื้อนสารไดเอทิลีน ไกลคอล

สธ.พบการปนเปื้อนของสารไดเอทิลีน ไกลคอล ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้กลีเซอรีน พอลิเอทิลีน ไกลคอล และ โพรไพลีน ไกลคอล เป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตา เนื้อเยื่ออ่อน หากเข้าสู่กระแสเลือดเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และระบบสืบพันธุ์

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่เคยมีข่าวการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตของผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งได้รับสารไดเอทิลีน ไกลคอล (diethylene glycol) หรือ DEG ที่ปนเปื้อน หรือลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยา อาหาร และเครื่องสำอาง นั้น สาร DEG มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ละลายได้ดีในน้ำ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) และ อะซิโตน (acetone) สำหรับความเป็นพิษของสาร DEG สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนัง การหายใจ และการกิน โดยจะก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง ตา และเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เมื่อสารดังกล่าวถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะส่งผลต่อการทำงานของตับ ไต และระบบประสาทส่วนกลาง ก่อให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้สาร DEG ยังมีคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพที่ใกล้เคียงกับสารกลีเซอรีน (glycerin) สารพอลิเอทิลีน ไกลคอล (polyethylene glycol) และสารโพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) ซึ่งสารทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในเครื่องสำอางและเป็นส่วนประกอบหลักในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประมาณร้อยละ 3-10 โดยน้ำหนัก ทำให้อาจมีการปนเปื้อนของสาร DEG ได้

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสาร DEG ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในประเทศ โดย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจวิเคราะห์เอกลักษณ์ของสาร DEG ปนเปื้อนในกลีเซอรีน พอลิเอทิลีน ไกลคอล และ โพรไพลีน ไกลคอลที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ โดยวิธี GC-FID จำนวน 42 ตัวอย่าง ตรวจพบการปนเปื้อนของสาร DEG จำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 7 ในจำนวนนี้พบการปนเปื้อนของสาร DEG ในปริมาณร้อยละ 0.04 0.05 และ 0.08 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ทั้งนี้ กฎระเบียบของสหภาพยุโรปด้านเครื่องสำอาง (EU Directives 76/768/EEC) และกฎหมายอาเซียนด้านเครื่องสำอาง (ASEAN Cosmetics Directives หรือ ACD) กำหนดให้สาร DEG เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง แต่อาจมีสาร DEG ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ในอัตราส่วนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก สำหรับประเทศไทย กำหนดให้สาร DEG เป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ลำดับที่ 1242

นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการตรวจพบสาร DEG ปนเปื้อนในกลีเซอรีน พอลิเอทิลีน ไกลคอล และ โพรไพลีน ไกลคอล ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางในครั้งนี้ แม้ปริมาณที่ตรวจพบการปนเปื้อนจะต่ำกว่า เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จะยังคงดำเนินการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัย ของผู้บริโภค นอกจากนี้ประชาชนควรมีความรู้ในการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ และที่ตั้งของผู้ผลิต มีวันเดือนปีที่ผลิต สถานที่ผลิต หรือผู้นำเข้าอย่างชัดเจน เพื่อช่วยประกอบการพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์นั้นยังคงคุณภาพดีอยู่หรือไม่ ควรซื้อเครื่องสำอางที่มีขนาดปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้ได้หมดภายในเวลาสมควร และก่อนใช้เครื่องสำอางควรอ่านฉลาก ปฏิบัติตามวิธีใช้ คำเตือน รวมทั้งทดสอบการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง