จาก ‘มาบตาพุด’ ถึง ‘ท่าเรือทวาย' ทุนนิยมอุตสาหกรรม...ใครได้ประโยชน์? (24 ต.ค. 55)

แนวหน้าออนไลน์ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555
จาก ‘มาบตาพุด’ ถึง ‘ท่าเรือทวาย' ทุนนิยมอุตสาหกรรม...ใครได้ประโยชน์?

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมมนุษย์เราได้เข้าสู่ยุค “โลกไร้พรมแดน” เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งด้านขนส่งและสื่อสาร ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่างๆ ทั้งวัตถุดิบ แรงงานและทุนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หรือที่เรียกว่า “ทุนข้ามชาติ” ดังจะเห็นได้ว่า ในประเทศต่างๆ มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม พร้อมๆ กับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อนักลงทุน ด้วยความเชื่อว่ายิ่งมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามามาก ประชากรในประเทศก็จะมีงานทำ และเกิดการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้นไปด้วย

ทว่าความรุ่งโรจน์ของยุคทุนนิยมกว่าร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้ผลาญทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างมหาศาล พร้อมๆ กับการก่อมลพิษอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ระบบทุนนิยมยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเป็นไปด้วยความเย็นชา กล่าวคือ ระบบทุนนิยมจะไม่มองมนุษย์เป็นมนุษย์ แต่มองว่า เป็นเพียง “ปัจจัยการผลิต” ไม่ต่างจากเครื่องจักรชิ้นหนึ่งเท่านั้น ทำให้ระยะหลังๆ มักเกิดกระแสต่อต้านลัทธิทุนนิยมในจุดต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอันเป็นเป้าหมายหลักของนายทุน เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไม่เข้มแข็งทำให้สามารถเอารัดเอาเปรียบประชาชนในพื้นที่ได้ง่าย วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปฟังมุมมองของปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง ที่มองว่าสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ทุกวันนี้เรามาถูกทางหรือไม่?

‘มาบตาพุดเขตมลพิษมากที่สุดในประเทศ

เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ ชื่อของ “โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย” เป็นชื่อแรกที่หลายคนมักจะนึกถึงเสมอ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการลงทุนมหาศาลกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะมีทั้งท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมหนักโดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนเส้นทางคมนาคม จะมีการสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อจากท่าเรือแห่งนี้ เข้ามายังประเทศไทยทาง จ.กาญจนบุรี และเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ทว่าบางฝ่ายกลับมองว่าหากโครงการดังกล่าวทำสำเร็จ เมืองทวาย ที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จะซ้ำรอยกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่วันนี้กลายเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในประเทศไทย

“Eastern SeaBoard เป็นโครงการพัฒนาในระดับภูมิภาคแห่งแรกของไทย เริ่มต้นในปี พ.ศ.2525 ด้วยความเชื่อว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือ NICS ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลง แต่วันนี้ผ่านมา 30 ปี กลับกลายเป็นว่ายิ่งพัฒนา หนี้สาธารณะกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เป็นเสียงจาก เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ให้เห็นว่าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้อาจไม่ถูกต้องนัก

โดยในช่วงที่รัฐบาลไทยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว ทางสภาพัฒน์ได้ว่าจ้างบริษัทของประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ทำการศึกษาระหว่างปี พ.ศ.2525-2526 ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ให้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยไม่เหมาะกับอุตสาหกรรมหนักเนื่องจากภูมิประเทศเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น อุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ควรเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1.อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 2.อุตสาหกรรมประมง 3.สิ่งทอ และ 4.การท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกับคนในพื้นที่ หากแต่สภาพัฒน์ และรัฐบาลไทยในขณะนั้นยังยืนยันจะดำเนินโครงการต่อให้ได้ ผลที่สุดคือปัจจุบันมาบตาพุดกลายเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในประเทศไทย และท่าเรือทวายกำลังจะเป็นเป้าหมายต่อไปหลังจากมาบตาพุดถูกระงับการขยายโครงการเนื่องจากมีการต่อต้านจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ขณะที่ในพม่ายังไม่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งแบบบ้านเรา

การพัฒนาที่ตอบสนองแค่ “นายทุน”

“ผมหมดหวังกับชนชั้นปกครองไทย หมดหวังกับรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน มันก็พวกเดียวกันหมด รัฐบาลประเทศเรามองไปที่มหาอำนาจ ทั้งอเมริกา ทั้งจีน และพวกบรรษัทข้ามชาติ เขาไม่ได้มองที่รากหญ้า ไม่ได้มองที่ประชาชนพลเมือง ใครจะเดือดร้อนก็เดือดร้อนไป”

เป็นคำกล่าวของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิด นักเขียนชื่อดังของไทยเจ้าของนามปากกา “ส.ศิวรักษ์” ซึ่งได้ร่วมกับภาคประชาชนต่อต้านโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่คุณเพ็ญโฉมชี้ให้เห็นว่า โครงการทวายในพม่า และมาบตาพุดใน จ.ระยอง นั้นมีความเหมือนกัน ตรงที่เป็นโครงการที่สร้างมาเพื่ออุตสาหกรรมหนัก หรือ Sunset Industry เช่น เหล็กต้นน้ำ ปิโตรเคมี (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูง ต้องใช้บุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ ซึ่งแทบไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นแต่อย่างใดเลยเพราะคนพื้นที่ไม่ได้รับการจ้างงาน ดังจะเห็นได้จากช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนใน จ.ระยอง เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่ายิ่งขยายการลงทุนลักษณะนี้เพิ่มขึ้น จะมีเพียงนักลงทุนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ขณะที่ประชาชนแทบไม่ได้อะไรเลย

ต้องไปให้พ้นมายาภาพ “ก้าวหน้า-ล้าหลัง”

อ.สุลักษณ์กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ภาครัฐยังคงเอาใจแต่นักลงทุน ภาคประชาชนได้มีการตื่นตัวกันไปทั่วทั้งประเทศเช่นเดียวกัน เมื่อนักลงทุนเริ่มจะย้ายฐานไปยังพม่าโดยเริ่มปักหมุดที่เมืองทวายเป็นที่แรก ชาวทวายตลอดจนชาวพม่ากลุ่มต่างๆ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ได้ออกมาต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

“มีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ที่เมืองของชาวคะฉิ่น รัฐบาลจีนจะไปสร้างเขื่อน ไปบอกพวกคะฉิ่นว่าเราจะมาช่วยพวกคุณ ไม่เห็นความดีเราบ้างหรือ แต่ชาวคะฉิ่นทำในสิ่งที่ท้าทายมาก โดยตอบกลับไปว่าเอาเขื่อนกลับไป เราไม่ต้องการ คือถ้าจะมาสร้างเขื่อนที่นี่ ก็ต้องปรึกษาพวกเราก่อน ซึ่งชาวทวายและพื้นที่อื่นๆ เองก็ตื่นตัวเช่นกัน”

ขณะที่ข้อซักถามกรณีความเชื่อที่ว่า “อุตสาหกรรมเท่านั้นคือข้อบ่งชี้ความเจริญของชาติ ขณะที่การเกษตรเป็นเรื่องของความล้าหลัง” คุณเพ็ญโฉมมีความเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงมายาภาพ เนื่องจากอุตสาหกรรมที่กล่าวมานี้ในประเทศกำลังพัฒนาถูกควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนกลุ่มทุนทั้งหลายจึงต้องเบนเข็มมายังประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายแทน โดยยกค่านิยมเรื่องความก้าวหน้ามาอ้าง

“อุตสาหกรรมประเภท Sunset Industry ที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาควบคุมการขยายตัวเพราะ 1.ใช้พลังงานสูงซึ่งเป็นที่มาของปัญหาโลกร้อน 2.ก่อมลพิษสูง ทำให้เกิดโรคกับประชาชน ทั้งมะเร็ง ทั้งความพิการในเด็ก แน่นอนว่าการลงทุนเพื่อควบคุมมลพิษก็ต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงพอสมควร ญี่ปุ่นก็ดีอเมริกาก็ดี จึงย้ายฐานการลงทุนมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั้งหมดนี้เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่เราต้องการการพัฒนาที่เหมาะกับท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งตอนปี พ.ศ.2540 เมื่อภาคอุตสาหกรรมล่มสลาย ภาคเกษตรกลับเป็นผู้รองรับ ซึ่งในยุคสมัยใหม่ เราพบว่าคนกลับมามองด้านการเกษตรมากขึ้น ที่สำคัญเป็นเกษตรอินทรีย์เสียด้วย” คุณเพ็ญโฉมกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย รัฐบาลไทยได้ลงนามร่วมกับรัฐบาลพม่าที่จะพัฒนาร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 โดย บ.อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้รับสัมปทานในโครงการดังกล่าว ซึ่งจากเม็ดเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท หากโครงการแล้วเสร็จ บ.ดังกล่าวจะได้รับส่วนแบ่งจากโครงการราว 1.6 แสนล้านบาท โดยปัจจุบัน บ.อิตาเลียน-ไทย กำลังหาพันธมิตรทางการเงินมาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ให้ความสนใจมากคือรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุน โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง (ผ่านกองทุนวายุภักษ์) และธนาคารออมสิน พร้อมกับเร่งออกกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางหลวงพิเศษ บางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งด้านหนึ่งจะเชื่อมต่อไปที่ท่าเรือทวาย ส่วนอีกด้านจะไปบรรจบที่มอเตอร์เวย์สายตะวันออก มุ่งหน้าไปท่าเรือแหลมฉบัง

ท่ามกลางข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่าการพัฒนาอย่างเร่งด่วนนี้....ทำเพื่อใครกันแน่?