ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนจัดตั้งนิคมฯ บ้านค่าย (31 ส.ค. 55)

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 31 สิงหาคม 2555
ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนจัดตั้งนิคมฯ (บ้านค่าย) 

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านค่าย เมืองระยองเฮลั่น ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) พร้อมเตรียมจัดเลี้ยงฉลองใหญ่
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (31 ส.ค.) นายชาญเชี่ยว สุขช่วย ตุลาการศาลปกครองระยอง เจ้าของสำนวนได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส.8/2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลปกครองระยอง ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว และตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ในพื้นที่รวมกว่า 2,194 ไร่ โดยมีผู้ฟ้องคดีคือ นายเศรษฐา ปิตุเตชะ และพวกรวม 386 คน ซึ่งได้มอบอำนาจให้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นทนายร่างคำฟ้อง
       
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย ผู้ถูกฟ้องที่ 1 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
       
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีทั้ง 386 คนได้ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
การประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้ก่อ และ/หรืออาจทำให้เกิดความเดือดร้อน และเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีกับพวก รวมทั้งชาวบ้านอำเภอบ้านค่าย ซึ่งมีแหล่งที่อยู่อาศัย และอาจเกิดการแย่งน้ำเพื่อการเกษตร เกิดมลพิษ ขณะที่กระบวนการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ การดำเนินการมีความไม่โปร่งใสในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (HIA)
       
บริเวณพื้นที่ประกาศตั้งอยู่ในพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ ชนบทและเกษตรกรรม ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง จึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษามีคำสั่งเพิกถอนการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) และให้ผู้ถูกฟ้องคดี 1 ดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11 ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือการประเมินผลในเชิงกลยุทธ์ (SEA)
       
ศาลปกครองระยอง องค์คณะที่ 1 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีลักษณะเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาในขั้นขออนุมัติโครงการ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท และขนาดของโครงการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ ระเบียบการปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552
       
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ยังมีผลบังคับใช้ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2553 วันที่ 24 มิถุนายน 2553 เห็นชอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ร่วมดำเนินการกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
       
พิพากษาเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2554 เรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ในพื้นที่ตำบลหนองบัว และ ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
       
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้าน 386 คน ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้กล่าวว่า ในวันนี้ ศาลปกครองระยองได้พิพากษาคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลได้พิพากษาเพิกถอนการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ซึ่งศาลปกครองระยองได้พิพากษาตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดแย้งกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งในวันนี้ ศาลปกครองระยอง มีคำพิพากษาที่ชัดเจน และจะเป็นบรรทัดฐานในเบื้องต้นที่จะทำให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ กนอ.ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และต้องดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อย ก่อนที่จะประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 
       

"การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง ที่ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ฟ้องเพิกถอนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปอีกคดีหนึ่ง คาดว่าจะมีลักษณะเหมือนกัน เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซ์โคล แอนด์โค้ก จำกัด หรือโรงงานถ่านหินโค้ก ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายบายพาส 36 เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ก็เข้าข่ายลักษณะเดียวกัน คือ เป็นการดำเนินการก่อสร้างก่อนที่จะได้รับอนุญาต ซึ่งทาง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พูดชัดเจนว่าโรงงานใดที่ก่อสร้างไปก่อนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะไม่ยินยอมให้ดำเนินการได้"

ขณะที่นายเศรษฐา ปิตุเตชะ แกนนำคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด ที่ได้ร่วมกับชาวบ้านค่าย 386 คนฟ้องเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) กล่าวว่า รู้สึกดีใจ และมีความสุขหลังมีคำพิพากษาเพิกถอนนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนชาวบ้านค่ายจะอยู่อย่างมีความสุข ขณะนี้ ชาวบ้านค่ายที่ทราบข่าวคำพิพากษาต่างรู้สึกดีใจ และเตรียมจัดงานเลี้ยงฉลองใหญ่ต่อไป