ทางสองแพร่งที่ "อ่าวประดู่" สารพัดสารพิษปนเปื้อน "หอยแมลงภู่" (28 ส.ค. 55)

แนวหน้าออนไลน์ 28 สิงหาคม 2555
ทางสองแพร่งที่ "อ่าวประดู่" สารพัดสารพิษปนเปื้อน "หอยแมลงภู่"

อธิพงศ์ ลอยชื่น
และผู้อบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น(กสต.) รุ่นที่ 3 กลุ่มที่ 2
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

พื้นที่บริเวณอ่าวประดู่ เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ถือเป็นแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ ที่สำคัญของพื้นที่ภาคตะวันออก โดยกลุ่มประมงเรือเล็กชุมชนตากวน-อ่าวประดู่ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มาจากต่างถิ่น กว่า 78 ครอบครัวถือเป็นอาชีพหลักเลี้ยงชีพและครอบครัว มีพื้นที่เลี้ยงหอยแมลงภู่กว่า 800 ไร่ มีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน ที่สำคัญ อ่าวประดู่ อยู่ติดกับโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี พาวเวอร์ คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) และคลังน้ำมันดิบ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย!!!

อ่าวประดู่ แห่งนี้ยังอยู่ติดกับคลองชากหมาก ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำที่ผ่านการบำบัดจากนิคมฯมาบตาพุดลงสู่ทะเล นอกจากนั้น ตะกอนสีดำที่จมอยู่ใต้น้ำทะเลจนทำให้น้ำทะเลในบริเวณนั้นเป็นสีดำเข้มส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคหอยแมลงภู่ของคนในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำถามที่สำคัญก็คือ สัตว์น้ำ โดยเฉพาะหอยแมลงภู่บริเวณดังกล่าวมีการปนเปื้อนของมลพิษจากนิคมฯมาบตาพุดหรือไม่ ซึ่งคำถามดังกล่าว เป็นที่ถกเถียงกันอย่างสุดขั้ว ทั้งมุมมองของผู้เลี้ยงหอย(ชาวประมง) ในพื้นที่ และผู้บริโภค

นายน้อย ใจตั้ง สมาชิกกลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ตนจะไม่บริโภคหอยแมลงภู่ หรืออาหารทะเลทุกชนิดของที่นี่ (บริเวณอ่าวประดู่) เด็ดขาด เนื่องจากคิดว่า มีสารพิษอย่างแน่นอน และให้ข้อสังเกตด้วยว่าถ้าแหล่งที่เลี้ยงหอยของที่นี้ดีจริง ทำไมถึงต้องไปซื้อลูกหอยจากอ่างศิลา จ.ชลบุรี ทำไมบริเวณนี้จึงไม่สามารถเพาะเลี้ยงเองได้


คลองชากหมาก : คลองส่งน้ำที่ผ่านการบำบัดจากนิคมฯมาบตาพุดลงสู่ทะเล 

นายสมชาย ย่านทรายงาม เจ้าของร้านอาหารลอกอ หาดน้ำริน ตำบลบ้านฉาง ยืนยันว่า ทางร้านจะไม่ซื้อหอยแมลงภู่จากพื้นที่ทะเลมาบตาพุดเด็ดขาด เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย แม้จะมีการเก็บตัวอย่างสัตว์ที่เป็นอาหารทะเลจากมาบตาพุดไปทดสอบแล้วก็ตาม โดยเลือกที่จะสั่งอาหารทะเลประเภทหอยจากจันทบุรี สั่งปู และปลาหมึกจากช่องแสมสาร จ.ชลบุรี เป็นหลัก

ด้าน นางจีระนุช เป็นกลาง ผู้จัดการร้านแหลมเจริญซีฟู้ด ร้านอาหารชื่อดังประจำจังหวัดระยอง ยอมรับว่าไม่แน่ใจถึงแหล่งที่มาของหอยแมลงภู่ที่จำหน่ายในร้าน โดยปกติทางร้านจะซื้อหอยแมลงภู่จากตลาดแม่แดง โดยซื้อในปริมาณไม่มากนักที่ปริมาณเพียง 3 – 6 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมบริโภคของลูกค้า รวมทั้งทางร้านไม่สามารถซื้อหอยแมลงภู่จากผู้ค้าโดยตรง เนื่องจากมีผู้ค้าคนกลางเป็นผู้รับหอยไปส่งยังตลาดต่างๆ


แพเลี้ยงหอยแมลงภู่อยู่ติดกับโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี พาวเวอร์ คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) 

ด้านคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้เปิดเผยรายงานการติดตามความคืบหน้า กรณีการแก้ไขปัญหามลพิษในคลองชากหมากบริเวณนิคมฯมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้นำเสนอข้อมูลของสำนักจัดการคุณภาพน้ำจากการตรวจสอบ พบว่า บริเวณปากคลองชากหมากมีการสะสมตัวของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (Total Petroleum Hydrocarbon: TPH) โดยมีปริมาณตะกอนเบื้องต้นประมาณ 340,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 9 แสนตารางเมตร และในคลองชากหมากจะมีสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนปรอท สารหนู สังกะสี และสารแคลเมียมจำนวนมากกว่าที่พบในคลองตากวน

นางภารดี จงสุขธนามณี สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย และประธานคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า สารพิษที่ปล่อยลงในทะเลมีปริมาณที่มาก ซึ่งหากดูจากภาพถ่าย GPS จะเห็นว่ามีปริมาณที่เข้มข้นมาก ปริมาณสารพิษมีความหนากว่า 1.5 เมตรเลยทีเดียว ซึ่ง ส.ว.ภารดี ได้ย้ำว่า ทั้งหมดมาจากโรงงานอุตสาหกรรมล้วนๆ



ความเข้มข้นของสีน้ำ บริเวณอ่าวประดู่


“คนในท้องถิ่น จะไม่กินหอยแมลงภู่เด็ดขาด แต่จะขายไปยังต่างถิ่นเท่านั้น ทั้งนี้ เราจำเป็นต้องมีเจ้าภาพ เพื่อที่จะแตกประเด็นนี้ให้สังคมรับรู้ เพราะหวังจากปากชาวบ้านนั้น ยากถึงมากที่สุด เพราะโรงงานและชาวบ้านต่างได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน” ส.ว.ภารดี กล่าว





ด้านนายประทีป เอ่งฉ้วน ผู้อำนายการสำนักงานนิคมฯมาบตาพุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ กำจัดตะกอนสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ในพื้นที่อ่าวประดู่ ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 6/2553 วันที่ 2 ธันวาคม 2553 ซึ่งมอบหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการ ว่า กนอ. กำลังอยู่ในระหว่างคัดเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการกำจัดตะกอนดังกล่าว โดยในขณะนี้มีนักวิชาการเสนอทางเลือกมา 3 วิธีได้แก่...

1.การขุดหรือดูดตะกอนออกจากพื้นที่ขึ้นมากำจัด 2.ใช้วิธีการปิดคลุมตะกอนที่จมอยู่โดยใช้วัสดุประเภทจีโอเท็กซ์ไทล์ (Geotextiles) หรือสิ่งทอโยธาที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรงสูงน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนานไม่ผุกร่อนง่ายมาคลุมตะกอนที่จมอยู่ใต้น้ำ และ 3.การปล่อยให้ตะกอนเหล่านี้สลายไปเองตามธรรมชาติ โดยพยายามควบคุมไม่ให้มีสารเหล่านี้ ปนเปื้อนในทะเลบริเวณดังกล่าวเพิ่มเติม



หอยแมลงภู่สดๆจากทะเล

“วิธีการปล่อยให้ตะกอนย่อยสลายไปตามธรรมชาติจะกระทบต่อประชาชนในบริเวณดังกล่าวน้อยที่สุด เนื่องจากหากมีการดำเนินการขุดตะกอน อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่เลี้ยงหอยแมลงภู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการไม่ต่ำกว่า 1 ปี” นายประทีปกล่าว

นายประทีปกล่าวด้วยว่า ในปลายเดือนส.ค.นี้ กนอ.จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลในชุมชนเพื่อประชาชนในพื้นที่มีความรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจรวมทั้งรับทราบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชนและการประกอบอาชีพเลี้ยงหอยแมลงภู่หากจะต้องมีการดูดและขุดตะกอนสารปิโตรเลียมฯในบริเวณดังกล่าว


ด้านนายถนอม มิ่งแม้น ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กตากวน-อ่าวประดู่ เปิดเผยว่ากลุ่มผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหาก กนอ.จะดำเนินการขุดหรือดูดตะกอนสีดำในบริเวณดังกล่าว เพราะจะกระทบต่อการเลี้ยงหอย เพราะหากมีการขุดตะกอนบริเวณดังกล่าวจริงชาวบ้านต้องรื้อแพเลี้ยงหอยทั้งหมดขึ้นมาซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้เป็นระยะเวลานาน

นายถนอมกล่าวว่า ตนมั่นใจว่าหอยแมลงภู่ที่เลี้ยงในบริเวณนี้มีความปลอดภัย เนื่องจากมีการตรวจสารปนเปื้อนทุกๆ 6 เดือนโดยมีทีมนักวิชาการจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีพาวเวอร์ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง มาตรวจสอบคุณภาพ พร้อมทั้งออกใบยืนยันความปลอดภัยให้ และในกลุ่มสามารถนำใบนี้ไปยืนยันความปลอดภัยในการขายหอยแมลงภู่กับผู้ที่มารับซื้อได้

การบริโภคหอยแมลงภู่ ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมเล็กๆ อย่างจังหวัดระยองกันต่อไป ตราบใดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไร้ข้อสรุปถึงสารพิษของแหล่งเพาะเลี้ยง ประชาชนตาใส ก็ยังกินหอยแมลงภู่ตามความเชื่อว่า ปลอดภัย ? ต่อไปนั่นเอง