เผยอิตาเลี่ยนไทยเล็งดึงชินคอร์ปร่วมทุน ดันท่าเรือทวายหลังล่าช้า-พม่าไม่พอใจ (28 ส.ค. 55)

สำนักข่าวอิศรา 28 สิงหาคม 2555
เผยอิตาเลี่ยนไทยเล็งดึงชินคอร์ปร่วมทุน ดันท่าเรือทวายหลังล่าช้า-พม่าไม่พอใจ

เขียนโดย เสกสรร โรจนเมธากุล

ดร.นฤมล เปิดผลวิจัยการปรับตัวของทุนไทย สู่ทุนข้ามชาติ ยกกรณีท่าเรือทวาย ชี้หลายปัญหาหนักอกอิตาเลี่ยนไทย หลังมีปัญหาด้านการเงิน ย้ายคนออกจากพื้นที่ กลุ่มทุนพม่าถอนตัว  แต่เชื่อจะมีการดึงกลุ่มชินคอร์ปเข้าร่วม

ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการศึกษาและวิจัยในเชิงแนวทางการพัฒนาประชาธิปัตย์และความมั่นคง เรื่อง "การพัฒนา, ประชาธิปไตย และความมั่นคงมนุษย์ในพม่า ศึกษากรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย" ในงานสัมมนาประจำปี 2555 เรื่อง "การปรับตัวของทุนไทย : จากทุนท้องถิ่นสู่ทุนข้ามชาติ" จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า จากผลการศึกษาพบว่า ขณะนี้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในเมืองทวาย ประเทศพม่านั้น ประสบกับความยากลำบากเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะบริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานต้องเผชิญ คือ ปัญหาด้านการเงิน และการต้องรับผิดชอบเจรจากับประชาชนให้ย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม

ปัญหาที่สำคัญประการแรกของ บมจ.อิตาเลี่ยนไทย จำกัด อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาด้านการขาดแคลนเงินลงทุน จากแต่เดิมที่เตรียมเงินลงทุนไว้ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) ได้จ่ายเป็นค่าสัมปทาน 1,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อลงทุนในพื้นที่กว่า 250 ตารางกิโลเมตรในระยะเวลา 60 ปี ขยายเพิ่มได้อีก 15 ปี และทุนก่อสร้างและเวนคืนที่ดินอีก 1,000 ล้านเหรียญฯ

"ตามกฎหมายของพม่า บริษัทที่จะมาลงทุนต้องเป็นผู้จ่ายค่าเวนคืนที่ดิน รัฐบาลไม่จ่าย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่กำหนดไม่ได้ต่อบริษัท เพราะค่าเวนคืนอาจจะบานปลาย แต่ในทางปฏิบัติค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ขยายเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องเจราจาต่อรองกับประชาชนแต่ละรายไม่เท่ากัน โดยจากการประเมินก่อนเริ่มโครงการคาดว่าจะจ่ายชดเชยให้ไร่ละ 5 แสนจ๊าด แต่ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเกิน 2 ล้านจ๊าดต่อไร่แล้ว"


รัฐบาลพม่า "ไม่ง้อ"

ดร.นฤมล กล่าวว่า นอกจากนี้ การที่บริษัทกลุ่ม Max Myanmar ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศถอนตัวออกจากบริษัททวาย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายออกไป โดย Max Myanmar ถือหุ้นอยู่ประมาณ 25% ส่วนอิตาเลี่ยนไทยถือหุ้นใหญ่ 75% ซึ่งตามกฎหมายของประเทศพม่าการเข้าไปลงทุนจะต้องมีผู้ถือหุ้นจากนักลงทุนในประเทศด้วย

ส่วนปัญหาด้านการเจรจาให้ประชาชนย้ายออกจากพื้นที่นั้น ดร.นฤมล กล่าวว่า ในโครงการนี้ บมจ.อิตาเลี่ยนไทย  ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเอง เนื่องจากพม่าพยายามประกาศตัวเองว่า มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐบาลพม่าจึงเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามาต่อรองโดยตรง จึงมีการเคลื่อนไหวในทวายมากมาย และอิตาเลี่ยนไทยก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ส่วนรัฐบาลพม่าก็ "ไม่ง้อ" เพราะรู้ว่าประเทศอื่นก็อยากมาลงทุน

"ที่ผ่านมาธุรกิจไทยอาจจะให้รัฐไทยเป็นคนจัดการ แต่ครั้งนี้รัฐพม่าให้ธุรกิจจัดการเองก็เลยมีปัญหา นอกจากนี้พื้นที่ในรัฐตะนาวศรีเป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย จึงต้องมีวิธีจัดการกับรัฐบาลท้องถิ่นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่อิตาเลี่ยนไทยไม่เคยประสบมาก่อน"

อย่างไรก็ตาม ดร.นฤมล เชื่อว่าอิตาเลี่ยนไทยจะยังรักษาโครงการนี้ไว้แน่นอน โดยไปหาผู้ร่วมทุนรายอื่นมาช่วยถือหุ้นเพิ่ม ลดจำนวนถือหุ้นที่มีอยู่ 75% ลงไป โดยมีกระแสข่าวว่ามีการเจรจาที่จะดึงกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาร่วมด้วย  นอกจากนี้ก็ดำเนินการลดต้นทุนไปบางด้านควบคู่กันไป โดยลดขนาดพื้นที่โครงการลงจาก 250 ตร.กม. เหลือ 204 ตร.กม. แต่ยังคงมีขนาดขนาดพื้นที่ใช้สอยเท่าเดิม โดยลดในส่วนพื้นที่ท่าเรือน้ำลึก พื้นที่อุตสาหกรรมเบา และตัดพื้นที่สนามกอล์ฟออกไป

สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายนั้นแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก (พื้นที่นิคม) และถนนระยะทาง 132 กิโลเมตร ที่เชื่อมจากทวายถึง ต.พุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี และส่วนที่เชื่อมจากกาญจนบุรีถึงกรุงเทพฯ โดยในส่วนของถนน ดร.นฤมล กล่าวว่า  รัฐบาลพม่าอยากให้เป็นโครงการแบบรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลพม่า (G to G) เพราะจะสามารถกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) มาลงทุนได้


แนะให้อิตาเลี่ยนไทยเปลี่ยนกรอบคิด

นอกจากนี้ ดร.นฤมล ยังได้แนะให้อิตาเลี่ยนไทยเปลี่ยนกรอบคิดจากการมองโครงการนี้เป็นการค้าแบบชายแดน มาเป็นการค้าในระบบเช่นเดียวกับที่รัฐบาลพม่ามอง โดยชี้ว่าอิตาเลียนไทยลืมมองในเรื่องนี้เนื่องจากเคยชินกับการลงทุนโดยมีรัฐบาลคุ้มครอง เช่นในประเทศลาว และที่สำคัญควรคิดว่า การทำนิคมอุตสาหกรรม ต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าเขาได้อะไรด้วย

"โครงการนี้จะเกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญแค่ไหน เพราะว่า เป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจไทยที่ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์บริษัทไทย แต่จะเป็นคล้ายกับทางรอดให้กับธุรกิจไทย ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถขยายตัวนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัญหาความเป็นไปได้ของการย้ายฐานการผลิต ปัญหาน้ำท่วม"

สำหรับกระบวนการรวมกันเป็นภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังเกิดขึ้น ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า  โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้อาเซียนรวมเป็นหนึ่งเดียว อย่างน้อยก็ในทางกายภาพ และพม่าเองก็อาจจะพอใจ เพราะการที่พม่าเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เพราะอยากกลับคืนเข้าสู่ประชาคมโลก และอาศัยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา GDP ของประเทศได้ด้วยแต่จุดหนึ่งที่รัฐบาลพม่าเริ่มหมดความอดทนกับโครงการนี้ก็คือ รัฐบาลพม่าต้องการให้โครงการนี้เสร็จก่อนปี 2015 ให้ได้ เพราะต้องการที่จะใช้โครงการนี้เป็นสปริงบอร์ดสำหรับการตอบต่อประชาคมในฐานะประธานอาเซียน

"ถ้ามองในมุมของประชาธิปไตย การลงทุนทางเศรษฐกิจนี้จะช่วยสร้างประชาธิปไตยในพม่าได้หรือไม่ เพราะฐานของประชาธิปไตย มีเรื่องของของเสรีภาพและความเสมอภาคด้วย ฐานเรื่องความเสมอภาคก็อาจจะไม่เกิด เพราะว่าการลงทุนนี้อาจเป็นการผลิตซ้ำความไม่เสมอภาคด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม" ดร.นฤมล กล่าว