ปั้นทวายโปรเจ็กต์อุ้ม"ไอทีดี" ดึง"การนิคม-ท่าเรือ"เอี่ยวหุ้น (27 ส.ค. 55)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  27 สิงหาคม 2555
ปั้นทวายโปรเจ็กต์อุ้ม"ไอทีดี" ดึง"การนิคม-ท่าเรือ"เอี่ยวหุ้น

ที่ปรึกษาการเงินโครงการทวาย "ไทยพาณิชย์" เดินแผนเหนือชั้น ดึงรัฐวิสาหกิจไทย 2 แห่งร่วมทุนโครงการแสนล้าน กระทรวงคลังเตรียมชง ครม.ขออนุมัติเปิดทาง "การนิคมฯ-การท่าเรือฯ" เข้าถือหุ้น เมกะโปรเจ็กต์ในพม่า สศค.ชี้กลยุทธ์ต้องดึงพันธมิตรนักลงทุน "ไทย-ญี่ปุ่น-พม่า" ร่วมสังฆกรรม

แหล่งข่าวจากคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความคืบหน้าในเรื่องนี้ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 ครั้ง โดยทางบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้รับสัมปทานโครงการทวายในสหภาพเมียนมาร์ได้เข้ามาชี้แจงความคืบหน้าโครงการด้วย
 
ดึง 2 รัฐวิสาหกิจไทยถือหุ้น 
 
แหล่งข่าวที่เข้าร่วมประชุมในคณะทำงานกล่าวว่า ทาง สศค.ได้เชิญตัวแทนธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและ ITD เข้าร่วมประชุมเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดย ธ.ไทยพาณิชย์ให้ความเห็นว่า ควรเปิดให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุน เช่น ธสน. เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สนใจลงทุน
 
โดยวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานชุดนี้ได้เสนอกรอบเบื้องต้น 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ธุรกิจที่รัฐบาลควรเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน 2.โครงสร้างเงินลงทุน 3.ที่มาของแหล่งเงินทุน ซึ่งจะเสนอขอความเห็นจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดใหญ่ หากได้รับความเห็นชอบ จะมีการจัดทำแผนรายละเอียดต่อไป โดยข้อเสนอคือให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เข้าถือหุ้น
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในที่ประชุม ทาง ITD ยินดีจะลดสัดส่วนถือหุ้นของตัวเองลง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารแหล่งเงินกู้ อย่างธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 
 
"การจะให้การนิคมฯ หรือการท่าเรือฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเอกชนที่ลงทุนในต่างประเทศน่าจะทำได้ เพราะปัจจุบันก็มีรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว"
 
ชี้ ญี่ปุ่น รับอานิสงส์เต็ม ๆ
 
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลเข้าไปสนับสนุน เพราะจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมาก โดยทาง สศช.รายงานว่าจะเป็นประโยชน์กับญี่ปุ่นมาก เพราะโครงการทวายจะเชื่อมโยงกับอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย และนักลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ด 80% ก็เป็นญี่ปุ่น
 
ประเด็นให้ธ.กรุงไทย และธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ปล่อยกู้นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า คงเป็นการสนับสนุนโครงการย่อยหรือธุรกิจต่อเนื่องมากกว่า เพราะคงไม่สามารถปล่อยกู้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายได้ เนื่องจากติดเกณฑ์การให้กู้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด (Single Lending Limit)
 
สศค.แบแผนหนุน 1 แสนล้าน
 
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เบื้องต้น ตั้งเป้าแนวทางสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการทวายไว้ที่ 1 แสนล้านบาท ล่าสุด สศค.เร่งรัดที่ปรึกษาทางการเงิน ศึกษาผลกระทบและผลประโยชน์ที่จะได้รับภายใต้ความร่วมมือ 3 ประเทศ คาดว่าจะนำเสนอให้ครม.พิจารณาได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ 
 
"แนวทางมีหลายรูปแบบ เราก็ต้องดูว่าแบบไหนเหมาะสมที่สุด การลงขันเป้าหมายของเราคือ 1 แสนล้านบาท ซึ่งต้องอาศัยพันธมิตรที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับไทย เช่น ดึงญี่ปุ่น พม่าเข้ามาร่วม" นายสมชัยกล่าว
 
ITD แจงเฟสแรกลงทุน 3 แสน ล.
 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องของโครงการทวายเราไม่ได้นึกถึงบริษัทอิตาเลียนไทยฯเท่านั้น แต่เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าซึ่งจะเข้าไปช่วยดูในภาพรวมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงข่ายถนนที่เข้าไปต่อเชื่อม ทั้งมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 98 กม. อนาคตจะต่อขยายไปถึงชายแดนไทย-พม่าที่บ้านพุน้ำร้อนอีก 70 กม. เป็นต้น
 
"ในส่วนของการท่าเรือฯที่จะเข้ามาช่วย น่าจะเป็นเรื่องของการนำประสบการณ์ในการก่อสร้างท่าเรือมาช่วยภาคเอกชนมากกว่าที่จะลงทุนก่อสร้างเอง" นายชัชชาติกล่าว
 
นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (DCD) ผู้บริหารโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย บริษัทลูกของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเจรจาหาผู้ร่วมลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเพราะในเฟสแรกที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จในปี 2559 ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท มีบางรายได้มีการเจรจาถึงขั้นตกลงกันแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามร่วมกันจึงบอกไม่ได้ว่ามีใครบ้าง
 
ส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายให้ทางการนิคมฯและการท่าเรือฯมาร่วมลงทุนถือว่าเป็นการดี เพราะจะช่วยเร่งให้โครงการเกิดได้เร็วขึ้น