กฟผ.ลุยสำรวจโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น - ตอนที่ 1: โมเดลถ่านหินแบบเปิด "มัตสุอุระ" (17 ส.ค. 55)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 17 สิงหาคม 2555
กฟผ.ลุยสำรวจโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น (1) โมเดลถ่านหินแบบเปิด "มัตสุอุระ"

ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายใน "ประเทศไทย" จะต้องหาทางออกให้กับ "การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่" ด้วยข้อตกลงที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันโดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะถ้ายังต่อต้านการสร้างอย่างไร้ข้อยุติทางแก้ สวนกระแสแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 (PDP 2010 R3) ตั้งเป้า
 
จากนี้ต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2573 ประเทศควรจะผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ที่ 16.2% ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ ซึ่งต้องมีกำลังการผลิตราว 52,256 เมกะวัตต์ สูงกว่า
 
ปัจจุบันปี 2555 มีอยู่ 34,265 เมกะวัตต์ มาจากผู้ผลิตหลัก คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 44% เอกชนในประเทศ 49% ต่างประเทศ 7%
 
ภารกิจสำรองกำลังการผลิตและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของ "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" หรือ กฟผ. (EGAT) แต่คำถามคือ "ประเทศไทย" ควรจะเลือกผลิตไฟฟ้าด้วยอะไร...? และระหว่างความ "ถูกใจ" กับ "ความเหมาะสม" ตามความจำเป็นของประเทศ จะตัดสินอย่างไร
 
"พงษ์ดิษฐ พจนา" ผู้ช่วยผู้ว่าการ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น "รองผู้ว่าการ กิจการสังคม กฟผ." มีผล 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป อาสานำคณะผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ 
 
คือ นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมนิวเคลียร์ นางสายลดา สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ นายอนิรุจน์ เอี่ยมกิจการ กองสื่อสารภายใน นางสาวอุดมพร อติเวทิน หัวหน้ากองสื่อสารภายนอกนางตติยา สาครพันธ์ หัวหน้าแผนกโฆษณาประชาสัมพันธ์ นางสุภัทรา พจนา นักบัญชีระดับ 9 และสื่อมวลชน เดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ตรงภาคปฏิบัติจริงของโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตญี่ปุ่น TEPCO : Tokyo Electronic Company 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิด "มัตสุอุระ" เมืองนางาซากิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "คาชิวาซากิ" (BWR) เมืองนิอิกาตะ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบปิด "อิโซโกะ" เมืองโยโกฮามา
 
เนื่องจากทุกวันนี้ทางเลือกของไทยอยู่ในภาวะตรึงเครียดกับการต้องเผชิญหน้าเรื่องถูกแรงต้านการจะสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ถูกปฏิเสธ จาก 7 ทางเลือก ได้แก่ กลุ่ม 1 ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก 1.ถ่านหิน 2.ก๊าซปิโตรเลียมเหลวธรรมชาติ หรือ LNG 3.รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำ สปป.ลาว ไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ พม่า กลุ่ม 2 พึ่งพาภายในประเทศจาก 4.พลังงานหมุนเวียน แสงแดด ลม ชีวมวล ชีวภาพ 5.รับซื้อไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP จากโคเจนเนอเรชั่น ชีวมวล 6.ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างประสิทธิภาพ (DSM) และกลุ่ม 3 นวัตกรรมที่โลกกำลังคิดหนักจาก 7.พลังงานผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
"มิสเตอร์โคบายาชิ" หัวหน้าวิศวกรฝ่ายเทคนิค โรงไฟฟ้า "มัตสุอุระ" หรือ Matsuura Thermal Power Station กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ติดชายฝั่งทะเลเกาะ Kyushu ภายใต้การดูแลของบริษัท Kyushu Electric Power จำกัด ในเครือ EPDC : Electric Power Development Co.Ltd ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและก่อสร้างแบบเปิด เริ่มพัฒนาการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2524 รวมกว่า 30 ปี มีเงินทุนหมุนเวียนรวม 152,449.6 ล้านเยน กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ออกแบบโครงสร้างพื้นที่ผลิตได้มาตรฐานสากล ชุมชนที่อาศัยสามารถทำการเกษตร นาข้าว ประมง อย่างปลอดภัย 
 
มีรูปแบบการก่อสร้างอย่างเป็นระบบรวมถึงการเทคโนโลยีควบคุมการฟุ้งกระจายของเถ้าฝุ่นถ่านหินได้เป็นอย่างดี ทั้งโรงไฟฟ้ายูนิต 1 และยูนิต 2 กำลังการผลิตยูนิตละ 1,000 เมกะวัตต์ ได้ใช้สารเคมีดักจับซัลเฟอร์ออกไซด์ SOX และอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาการลงทุนสร้างระบบการป้องกันความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวเพิ่มเป็นพิเศษ 
 
จุดเด่นสำคัญของโรงไฟฟ้ามัตสุอุระมุ่งเน้นการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและรอบบริเวณทุกตารางนิ้ว ในเรื่องระบบป้องกันการฟุ้งกระจายของ "เถ้าถ่านหิน" ซึ่งแปรสภาพเป็นแบบเปียก การดูแล "น้ำ" ซึ่งมีระบบรีทรีตสมบูรณ์แบบ เทคโนโลยี "กำจัดน้ำเสีย" ซึ่งผ่านเครื่องจักรแปรสภาพเป็นไอน้ำแล้วให้พลังงานไฟฟ้าความร้อนร่วมออกมาด้วย แม้แต่การควบคุม "เสียง" 
 
ด้วยความเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชุมชนมาก หัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนาธุรกิจจึงมุ่งเน้นการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตาม "ข้อตกลงร่วม" 3 ฝ่าย คือ โรงไฟฟ้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ต้องเห็นพ้องต้องกัน และกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ในวันเริ่มต้นนั้นต้องใช้เวลากว่า 10 ปี คุยกับชาวบ้านจนได้ความคิดตกผลึกจากเสียงส่วนใหญ่ให้เริ่มทยอยก่อสร้างยูนิตแรกเฟส 1 ได้เมื่อปี 2529 กว่าจะได้ขายไฟในเชิงพาณิชย์ในปี 2533 ในพื้นที่ 1.49 ล้านตารางเมตร กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหิน 4.8 แสนตัน/ปี ได้พลังงานความร้อนร่วมในระบบอีก 3,170 ตัน/ชั่วโมง 
 
จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา ช่วง 2536 เริ่มหารือกันถึงโรงไฟฟ้ายูนิตที่ 2 เสร็จและขายในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกปี 2540 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ได้พลังงานความร้อนร่วม 2,950 ตัน/ชั่วโมง 
 
ตลอด 3 ทศวรรษ นับจากจุดเริ่มของโรงไฟฟ้ามัตสุอุระในปี 2524 เรื่อยมาจนถึงปี 2555 ต้องเผชิญกับคำถามจากสาธารณะและชุมชนถึงมาตรฐานความปลอดภัย เหตุการณ์ฉุกเฉินเรื่องแผ่นดินไหวที่จะก่อให้เกิดผลกระทบมากมายตามมา แต่ผลสุดท้ายมัตสุอุระก็ผ่านเหตุการณ์ยากลำบากทั้งหมดมาได้ แถมยังเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดอยู่ในเกณฑ์ "อินเตอร์เนชั่นแนล พอร์ต" ติดอันดับ 116 ของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเป้าจะพัฒนาเป็นฐานการค้าของเอเชีย
 
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท EPDC มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 67 แห่ง 16.992 จิกะวัตต์ มีโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด 26 แห่ง แบ่งเป็น ไฟฟ้าพลังงานลม 18 แห่ง 325,860 จิกะวัตต์ และ พลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) 8 แห่ง 877,300 จิกะวัตต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรทั้งจากของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป