ทีมนักวิจัยหาเหตุปลายตายหลายหมื่นตัว คาดมีการปล่อยสารพิษปริมาณมากลงน้ำ (15 ก.ค. 55)

มติชนออนไลน์ 15 กรกฎาคม 2555
ทีมนักวิจัยเก็บตัวอย่างหาค่าอ๊อกซิเจนใน"ลำตะคอง" หาเหตุปลายตายหลายหมื่นตัว พ่อเมืองโคราชเต้นสอบต้นตอ

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครราชสีมา รายงานความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า ล่าสุด ดร.ฉัตรเพชร ยศพล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้นำทีมวิจัยลงพื้นที่วัดปริมาณออกซิเจนในน้ำ ที่บริเวณซอยสำโรงจันทร์ หลังจากมีการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว เพื่อช่วยผลักดันน้ำเสียออกไป
 
ดร.ฉัตรเพชร เปิดเผยว่า ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำจากบริเวณที่เกิดปัญหา 5 จุด ได้แก่ เขื่อนคนชุม, หลังเดอะมอลล์โคราช, ซอยสำโรงจันทร์, วัดท่าตะโก และหมู่บ้านวีไอพี ซึ่งล่าสุดก็ยังพบว่าทุกจุดมีค่าออกซิเจนน้อยกว่าปกติมาก โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านวีไอพีมีค่าออกซิเจนประมาณ 1 มิลิกรัมต่อลิตร ส่วนบริเวณอื่นๆ เฉลี่ยประมาณ 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ปกติปลาทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องมีค่าออกซิเจนมากกว่า 7 มิลลิกรัมต่อลิตร หากต่ำกว่านั้นจะมีเพียงปลาช่อนและปลาดุกเท่านั้นที่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากทนต่อสภาพออกซิเจนน้อย สำหรับน้ำลำตะคองนั้นมีสภาพเสื่อมโทรมานานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่หลังเดอะมอลล์โคราช ซึ่งเป็นชุมชนเมืองมีการปล่อยน้ำเสียลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีค่าออกซิเจนต่ำมาโดยตลอด
 

"แต่ช่วง 3 วันที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะมีการปล่อยสารพิษบางอย่างลงมาในน้ำปริมาณมาก จึงทำให้ค่าออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปลาบางชนิด อาทิ ปลาตะเพียน ปลาเกล็ดขาว และปลาเนื้ออ่อน ตายเป็นจำนวนมาก ส่วนสาเหตุที่แท้จริงนั้น ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังเก็บตัวอย่างน้ำและซากปลาตายไปพิสูจน์ในห้องแล็บอยู่ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3 วันจึงจะทราบว่ามีสารพิษชนิดใดเจือปนจนทำให้ปลาตายได้ขนาดนี้" ดร.ฉัตรเพชร กล่าว
 

ด้านสำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมาพร้อมด้วยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมาได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบระบบบำบัดน้ำ และท่อน้ำทิ้งภายในโรงงานต่างๆ ที่อยู่ริมฝั่งลำตะคองในเขตเทศบาลนครราชสีมา โดยเฉพาะโรงงานผลิตน้ำแข็ง 2 แห่งที่อยู่ติดกับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำจากท่อน้ำทิ้งเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ว่าจะเกี่ยวข้องกับการทำให้ปลาตายจำนวนมากครั้งนี้หรือไม่โดยจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้าเช่นกัน
 
นอกจากนี้ นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบไปด้วย เทศบาลนครนครราชสีมา, สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 11 นครราชสีมา, สำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดนครราชสีมา, อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อสรุปหาสาเหตุ และหาทางแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ต่อไป